
คมเลนส์ส่องพระ 22 ก.ค. 2560
คมเลนส์ส่องพระ โดยแล่ม จันท์พิศาโล วันเสาร์ที่ 22 ก.ค. 2560
** องค์ที่ ๒ พระพุทธชินราช เนื้อดินเผา หลวงปู่เฟื่อง วัดคงคาเลียบ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พระเครื่องรุ่นนี้สมัยที่ผู้เขียนเป็น บก.บห.นิตยสารพระเครื่อง ลานโพธิ์ ยุคแรกๆ ได้นำประวัติของ หลวงปู่เฟื่อง มาลงหลายตอนจบ (นับเป็นฉบับที่ ๒ ที่ลงเรื่อง หลวงปู่เฟื่อง ฉบับแรกที่ลง คือ นิตยสาร “ปริทรรศพระเครื่อง” ตอนเดียวจบ) ทำให้ พระพุทธชินราช หลวงปู่เฟื่อง เป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น แต่เดิมรู้จักกันเฉพาะชาวหาดใหญ่เท่านั้น พระพุทธชินราช เป็นพระเนื้อดินเผา สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ จำนวนสร้าง ๒๕,๐๐๐ องค์ พิมพ์ทรงห้าเหลี่ยม ด้านหลังมีตัว "ฟ" (หมายถึง “เฟื่อง”) จารลงบนเนื้อพระขณะหมาดๆ มี ๒ ลายมือ คือ “ฟ” ลึก จารด้วยตะปู “ฟ” ตื้น จารด้วยก้านไม้ขีดไฟ ทั้ง ๒ พิมพ์นี้ถือเป็น พระรุ่นแรก ที่หายากขึ้นในทุกวันนี้ (ข้อมูลนี้ได้จากคนที่จารตัว “ฟ” โดยตรง) พระพุทธชินราช หลวงปู่เฟื่อง ในภาพนี้เป็นพิมพ์ “ฟ” ลึก สภาพเดิมๆ เป็นพระเก็บเก่าของลูกหลานคนหาดใหญ่ที่คุณพ่อไปรับมาจากมือ หลวงปู่เฟื่อง โดยตรง คือ ทิวากร วงศ์หล่อ ปัจจุบันทำธุรกิจที่ จ.ภูเก็ต
** ต่อไปเป็น เหรียญพระครูพินิตยติการ (หนู) รุ่นแรก เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง วัดเขาต่อ จ.กระบี่ พ.ศ.๒๔๗๖ จัดเป็นเหรียญดังยอดนิยมของภาคใต้อีกเหรียญหนึ่ง จะหารายละเอียดมาเสนอในโอกาสหน้า
** เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง จ.ภูเก็ต พิมพ์ยันต์วรรค เนื้อทองแดงรมดำ พ.ศ.๒๔๘๖ เป็นเหรียญยอดนิยมสูงสุดของ จ.ภูเก็ต เหรียญสวยๆ เช่าหากันถึงหลักล้าน...เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง ทุกรุ่นล้วนสร้างขึ้นหลังจากท่านมรณภาพแล้ว ปลุกเสกโดย หลวงพ่อช่วง ศิษย์เอกของ หลวงพ่อแช่ม รุ่นนี้มีหลายพิมพ์ ที่นิยมสูงสด คือพิมพ์ยันต์วรรค (ยันต์เว้นวรรค) ที่เห็นในภาพนี้...หลวงพ่อแช่ม เป็นชาว อ.ทับปุด จ.พังงา เกิดเมื่อปี ๒๓๗๐ ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ มรณภาพปี ๒๔๕๑ ชื่อเสียงของท่านปรากฏชัดเจนในคราวที่กลุ่มโจรอั้งยี่ได้ก่อเหตุวุ่นวาย ถึงขนาดจะเข้ายึดการปกครองของจังหวัดเมื่อปี ๒๔๑๙ หลวงพ่อจึงได้ทำ ผ้าประเจียด ให้ชาวบ้านโพกศีรษะ ต่อสู้กับอั้งยี่จนได้รับชัยชนะ คณะกรรมการเมืองภูเก็ตได้ทำรายงานกราบทูลไปยัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์ หลวงพ่อแช่ม เข้าเฝ้าที่กรุงเทพฯ และได้พระราชทานสมณศักดิ์ให้ หลวงพ่อแช่ม เป็น พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญานมุนี มีตำแหน่งเป็นสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต อันเป็นตำแหน่งสูงสุดที่ฝ่ายบรรพชิตจักพึงมีในสมัยนั้น
** หลังจาก หลวงพ่อช่วง มรณภาพแล้ว หลวงพ่อเกลื้อม ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสแทน ท่านได้สร้างวัตถุมงคลขึ้นมาในปี ๒๔๙๗ ประกอบด้วย พระบูชาหลวงพ่อแช่ม, เหรียญรูปไข่ (เนื้อเงินลงยาสีเขียว สีแดง และเนื้อทองแดง), เหรียญพิมพ์สี่เหลี่ยม, แหวนรูปเหมือน และเหรียญเม็ดแตง ที่นิยมสุดในรุ่นนี้คือ เหรียญหลวงพ่อแช่ม หลังหลวงพ่อช่วง วัดฉลอง เนื้อเงินลงยา ปี ๒๔๙๗ พิมพ์ “ช” ชิด
** พระเกจิอาจารย์ชื่อดังในอดีตของ จ.ตรัง มีมากมาย อาทิ พ่อท่านเอียด ธัมมปาโล (พระครูวุฒิโสภณ) วัดหนองช้างแล่น อ.ห้วยยอด เหรียญรุ่นแรก สร้างปี ๒๔๙๑ ในงานทำบุญอายุครบ ๘๐ ปี จำนวนสร้าง ๑,๐๐๐ เหรียญ โด่งดังด้านคงกระพันชาตรีและมหาอุด ในเหรียญไม่ได้ลงชื่อวัดและปีที่ออก แต่คนในท้องถิ่นจำได้แม่นว่า ท่านเกิดเมื่อปี ๒๔๑๒ บวชเรียนมาตั้งแต่เป็นสามเณร หลังจากอุปสมบทแล้วได้ไปศึกษาวิชาอาคมที่สำนักไสยศาสตร์ วัดเขาอ้อ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง กับ พระอาจารย์ทองเฒ่า นานถึง ๑๖ พรรษา ท่านมรณภาพในปี ๒๕๐๒ เหรียญพ่อท่านเอียด สวยๆ แดงๆ สนนราคา ๒ แสนขึ้น
** ส่งท้ายวันนี้ด้วย เหรียญเสมาพิมพ์วัดหนัง หลวงพ่อยิด วัดหนองจอก อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปี ๒๕๓๕ สร้างถวายโดยอาจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ เป็นเหรียญทรงเสมา ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อนั่งสมาธิเต็มองค์ ด้านหลังประทับด้วยยันต์ครู เหรียญนี้ออกแบบได้งดงามมาก เป็นเหรียญหลักรุ่นหนึ่งของสายนี้ ในภาพนี้เป็น เนื้อทองคำ สร้างประมาณ ๑๐๐ เหรียญ ของ เล็ก หลักสี่ อู่แท็กซี่รายใหญ่ ผู้เก็บสะสมพระเครื่องหลากหลายประเภท
** พบกับ คมเลนส์ส่องพระ ได้ใหม่ในวันพรุ่งนี้ ขอขอบพระคุณ ทุกท่านที่ได้ติดตามอ่านคอลัมน์นี้มาตลอด...นะมัสเต ***