ไลฟ์สไตล์

 พฤติกรรม‘กินมูล’เพื่อความอยู่รอดของสัตว์

 พฤติกรรม‘กินมูล’เพื่อความอยู่รอดของสัตว์

19 ก.ค. 2560

 พฤติกรรม‘กินมูล’เพื่อความอยู่รอดของสัตว์

 

          บางคนอาจไม่เข้าใจและรู้สึกรังเกียจ เมื่อเห็นสัตว์บางชนิดขับถ่ายออกมา แล้วหันไปกินมูลของตัวเอง

     ไบรอัน อามารัล นักบริบาลสัตว์อาวุโส จากสวนสัตว์สมิธโซเนียนแห่งชาติสหรัฐ อธิบายว่า พฤติกรรมการกินมูลในสัตว์ หรือที่เรียกกันว่า คอปโรเฟเชีย เป็นเรื่องค่อนข้างปกติ ที่พบได้ในสัตว์หลายชนิด และช่วยให้สัตว์ได้รับสารอาหารที่ร่างกายย่อยไม่ได้ในตอนแรก

       ตัวอย่างสำหรับเรื่องนี้ รวมถึงข้อมูลจากวารสารเดอะ คอร์แนล เวเทอริแนเรียนที่ระบุว่า พฤติกรรมการกินมูลพบได้ในสัตว์ตระกูลกระต่าย สัตว์ฟันแทะ สุนัข บีเวอร์ภูเขา ลูกช้าง ลูกฮิปโปโปเตมัส และสัตว์ตระกูลวานร ที่ไม่ใช่มนุษย์

       ขณะที่ ซินเธีย อัลบาราโด สัตวแพทย์ระดับคลินิก จากแจ็คสัน แลบอราทอรี ในเมืองบาร์ฮาเบอร์ รัฐเมน สหรัฐ ระบุว่า การกินมูลเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติ และมีความสำคัญต่อการกินอาหารของกระต่าย

       สัตว์ในตระกูลกระต่าย จะมีกระบวนการหมักอาหารในลำไส้ กล่าวคือ หลังจากที่อาหารผ่านกระเพาะอาหารและลำไส้แล้ว จะตรงเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ โดยมีแบคทีเรียเป็นตัวทำให้เกิดกระบวนการหมักขึ้นมา เพื่อสลายพืชผักที่ย่อยยาก

       ตามปกติแล้ว การดูดซึมสารอาหารจะเกิดขึ้นภายในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กของกระต่าย ก่อนที่จะเกิดกระบวนการย่อยขึ้นมา แต่กระต่ายค้นพบวิธีการข้ามผ่านกระบวนการเหล่านี้ได้โดยการถ่ายออกมาเป็น “มูลพวงองุ่น” ที่มีสารอาหารหลากชนิด เมื่อมันกินมูลเข้าไป มันจะย่อยสารอาหารเหล่านี้เป็นรอบที่ 2

       แต่ถ้ากระต่ายหยุดกินอาหารปกติ หรือไม่กินมูลตัวเอง ซึ่งมักจะถ่ายในเวลากลางคืน นี่เป็นตัวชี้ว่า สัตว์เริ่มไม่สบายและต้องไปพบสัตวแพทย์

      "สำหรับกระต่ายแล้ว สุขภาพโดยรวมของมันยึดโยงกับสุขภาพลำไส้อย่างมาก” อัลบาราโด กล่าว

     นอกจากกระต่าย ลูกสัตว์อีกจำนวนไม่น้อย รวมถึงช้างและฮิปโป กินมูลของแม่ หรือสมาชิกในฝูง ในช่วงที่เริ่มหย่านมแม่และหันมากินอาหารที่มีลักษณะแข็ง และในสัตว์กินพืชชนิดอื่น ๆ การกินมูลยังช่วยสร้างสารอาหารและแร่ธาตุจำนวนมากอีกด้วย

        อัลบาราโดบอกว่า การหาอาหารในป่านั้นหายาก การกินมูลจึงกลายมาเป็นกลไกที่ช่วยให้สัตว์ได้รับประโยชน์จากอาหารสูงสุด โดยการกินและผ่านทางเดินอาหารเป็นครั้งที่ 2 อีกทั้งสัตว์บางชนิดต้องพึ่งพาพฤติกรรมกินมูล เพื่อให้ได้สารอาหารบางชนิดที่จุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารผลิตขึ้น

        นอกจากนี้ สัตว์ที่กินมูลเป็นปกติมักไม่เจ็บป่วย หากมูลที่ย่อยแล้วไม่ได้ประกอบด้วยจุลชีพก่อโรค

      อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้สาเหตุชัดเจน ที่สุนัข ซึ่งเป็นสัตว์กินเนื้อ กินมูลของตัวเองในบ่งครั้ง แต่สันนิษฐานว่า อาจเป็นเหตุผลในด้านโภชนาการ จากความเบื่อหน่าย หรือแม้กระทั่งเป็นพฤติกรรมเลียนแบบแม่ เนื่องจากแม่สุนัขมักจะกินของเสียที่ลูกสุนัขขับถ่ายออกมา

                                                            ..................................................................................