
ค่าน้ำถูกๆ จะจ่ายแพงไปทำไม..!?
กปน. ชวนดูแลระบบประปาในบ้าน ป้องกันค่าน้ำแพงเพราะท่อรั่วภายใน
จากสถิติการร้องเรียนค่าน้ำแพงของผู้ใช้บริการของการประปานครหลวง (กปน.) พบว่า ค่าน้ำประปาที่สูงขึ้นมักเกิดจากท่อแตกรั่วภายในบ้าน โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากอุปกรณ์ที่ชำรุด หรือมีอายุการใช้งานที่นานเกินไป ซึ่งในแต่ละเดือน กปน. มีการรับคำร้องค่าน้ำประปาที่สูงขึ้นสาขาละหลายสิบราย หรือเทียบเท่าอัตราน้ำรั่วไหลกว่า 10,000 ลบ.ม. ในพื้นที่บริการทั้ง 3 จังหวัดของ กปน. ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ แสดงว่าในแต่ละเดือนจะมีค่าใช้จ่ายสูงถึงกว่า 3 ล้านบาทต่อเดือนเลยทีเดียว
น้ำรั่วภายในหรือไม่ สังเกตได้ง่ายๆ จากตัวเลขในมาตรวัดน้ำ หรือมิเตอร์ ที่มีปริมาณการใช้น้ำเพิ่มขึ้นจากปกติหรืออาจเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งนั่นก็หมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ดังตัวอย่างการใช้น้ำที่เกิดขึ้นจริงของผู้ใช้น้ำเปรียบเทียบระหว่างการใช้น้ำปกติ และการใช้น้ำเมื่อเกิดเหตุท่อแรกรั่ว หรืออุปกรณ์ชำรุด ดังนี้
จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ทั้งมาตรวัดน้ำขนาดบ้านพักอาศัย ½ - ¾ นิ้ว และมาตรวัดน้ำขนาดใหญ่ 1 นิ้วขึ้นไป การใช้น้ำจะสูงขึ้นเกือบ 10 เท่า โดยเฉพาะมาตรวัดน้ำขนาดใหญ่ 1 นิ้วขึ้นไป อัตราการรั่วไหลของน้ำจะเร็ว และแรงกว่ามาตรทั่วไป เมื่อเกิดเหตุท่อแตกรั่ว เป็นเหตุให้ต้องจ่ายค่าน้ำแพงไปอย่างน่าเสียดาย
ดังนั้น เราควรหมั่นตรวจสอบบำรุงรักษาอุปกรณ์ และระบบประปาภายในบ้าน อาทิ ท่อประปา ลูกลอยชักโครก ลูกลอยถังพักน้ำ ก๊อกน้ำ หรืออุปกรณ์สุขภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีอายุการใช้งานเฉลี่ยแตกต่างกันออกไป ทั้ง 5, 10 หรือ 20 ปี เป็นต้น ให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ โดยมีเทคนิคง่ายๆ ดังต่อไปนี้
1.ปิดก๊อกน้ำให้สนิท โดยหลังการใช้น้ำทุกครั้งก่อนจะเดินจากไป ลองหันมามองอีกครั้งว่า ปิดก๊อกน้ำสนิทแล้วหรือยัง บางคนลืมปิดก๊อกน้ำกว่าจะกลับเข้าบ้านมาเห็น ก็เสียค่าน้ำที่ไหลไปแล้วอย่างน่าเสียดาย
2.หมั่นจดสถิติการใช้น้ำ ทุกเช้าก่อนออกจากบ้าน ให้ปิดก๊อกน้ำทุกตัว และจดตัวเลขในมาตรวัดน้ำไว้ เมื่อกลับมาถึงบ้านให้จดเลขอีกครั้ง หากไม่มีใครอยู่ตัวเลขจะต้องเท่ากับตอนเช้าที่จด แต่หากตัวเลขมีการเปลี่ยนแปลงให้ตรวจสอบว่ามีการใช้น้ำหรือไม่ หากไม่มี ให้สันนิษฐานว่ามีน้ำรั่วไหลภายในบ้าน นอกจากนี้ เมื่อไม่อยู่บ้านเป็นเวลาหลายวัน ควรปิดวาล์ว หรือประตูน้ำ ก่อนออกจากบ้านเพื่อป้องกันการรั่วไหลภายในของระบบประปาในบ้านที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างที่เราไม่อยู่บ้าน
3.หมั่นตรวจสอบและซ่อมแซม ช่วยกันดูแลอุปกรณ์และระบบท่อประปาภายในบ้านให้อยู่ในสภาพดีเสมอ หากพบการรั่วซึม ให้รีบเปลี่ยนหรือซ่อมแซมทันที เช่น น้ำหยดจากก๊อก น้ำไหลไม่หยุด ลูกลอยชักโครกค้าง ปั๊มน้ำทำงานตลอดเวลา
4.เปลี่ยนเป็นอุปกรณ์ประหยัดน้ำ เพื่อช่วยลดปริมาณน้ำที่ใช้ในแต่ละกิจกรรม เช่น สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ การใช้บัวรดน้ำแทนสายยาง การใช้เครื่องซักผ้าประหยัดน้ำแทนรุ่นปกติ
5.พบเหตุรีบแจ้ง กปน. เมื่อผู้ใช้น้ำลองตรวจสอบการรั่วไหลภายในบ้าน โดยการปิดก๊อกน้ำทุกตัว แล้วพบว่ามิเตอร์น้ำยังหมุน นั่นแสดงว่ามีท่อรั่ว ให้เดินสำรวจหาจุดรั่วภายในบ้าน ให้สังเกตุบริเวณที่มีเส้นท่อเปียกชื้น หรือมีน้ำนองตลอดเวลา หากไม่พบสามารถโทรแจ้ง กปน. เพื่อสำรวจเบื้องต้นได้ที่สำนักงานประปาสาขาในพื้นที่ หรือ ศูนย์บริการประชาชน (Call Center)โทร 1125 ตลอด 24 ชั่วโมง
ปัจจุบัน แม้ปัญหาท่อแตกรั่ว และค่าน้ำที่สูงขึ้นจะเป็นเรื่องร้องเรียนอันดับต้นๆ ของ กปน. แต่ปัญหาดังกล่าวสามารถลดลงได้หากทุกคนร่วมมือกัน หมั่นสังเกต บำรุงรักษาอุปกรณ์ และระบบท่อประปาภายในบ้าน หรือรีบแจ้งเมื่อเกิดเหตุ ซึ่งปัญหาท่อแตกรั่วมิเพียงทำให้ผู้ใช้น้ำต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นแล้ว แต่นั่นหมายถึงน้ำสูญเสียที่ถูกปล่อยทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์อีกด้วย