
๗ กัลยาณมิตรธรรม
ผู้มีกัลยาณมิตรธรรม คือ ผู้มีคุณธรรมของมิตรที่ดี ๗ ประการ (พระสูตรและอรรถกถาแปล ขุททกนิกาย อุทาน เล่มที่ ๔๔ มหามงกุฏราชวิทยาลัย, พ.ศ.๒๕๒๖, หน้า ๓๘๘-๓๘๙)
๑.เป็นผู้น่ารัก (ปิโย) คือ เป็นผู้มีจิตใจกอปรด้วยเมตตากรุณาพรหมวิหาร ไม่ผูกพยาบาท ไม่ผูกใจเจ็บ หรือเจ้าเคียด เจ้าแค้น ไม่เกรี้ยวกราด รู้จักให้อภัย เป็นที่สบายใจ แก่ผู้เข้าไปพบหา หรือผู้อยู่ในปกครอง
๒.เป็นผู้น่าเคารพบูชา (ครุ) คือ เป็นผู้ที่สามารถเอาเป็นที่พึ่งอาศัย เป็นที่พึ่งทางใจ อบอุ่นใจ แก่ผู้อยู่ในปกครอง และ/หรือศิษยานุศิษย์ จึงเป็นผู้น่าเทิดทูน และน่าเคารพบูชา
๓.เป็นผู้น่านับถือ น่าเจริญใจ (ภาวนีโย) ด้วยว่า เป็นผู้ได้ฝึกฝนอบรมตนมาดีแล้ว ควรแก่การยอมรับและยกย่องนับถือ เอาเป็นเยี่ยงอย่างได้ เป็นผู้อันใครๆ เอ่ยอ้างถึงได้อย่างสนิทใจ และภาคภูมิใจว่า ท่านผู้นี้ เป็นผู้บังคับบัญชา หรือเป็นครูอาจารย์ของเรา
๔.เป็นผู้รู้จักพูดจา โดยมีเหตุผล และหลักการ (วัตตา) รู้จักชี้แจงแนะนำให้ผู้อื่นเข้าใจดี แจ่มแจ้ง เป็นที่ปรึกษาที่ดี เป็นครู ผู้สอนที่ดี แก่ศิษยานุศิษย์ แก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือผู้ได้มาคบค้าสมาคมด้วย ตามฐานะ
๕.เป็นผู้อดทน ต่อถ้อยคำที่ล่วงเกิน วิพากษ์วิจารณ์ ซักถาม หรือขอปรึกษาหารือ ขอให้คำแนะนำต่างๆ ได้ (วจนักขโม)
๖.สามารถแถลงชี้แจง เรื่องที่ลึกซึ้ง หรือเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน ให้เข้าใจอย่างถูกต้อง และตรงประเด็นได้ สามารถแนะนำสั่งสอนพระธรรมวินัย ทั้งที่ตื้น และที่ลึกซึ้ง ให้เข้าใจและให้สามารถนำไปปฏิบัติให้เห็นผลดีจริงได้ (คัมภีรัญจะ กถัง กัตตา)
๗.ไม่ชักนำในอฐานะ (โน จัฏฐาเน นิโยชเย) คือไม่ชักจูงไปในทางเสื่อม หรือไปในทางที่เหลวไหล ไร้สาระ หรือที่เป็นโทษ เป็นความทุกข์ เดือดร้อน
"พระราชญาณวิสิฐ (หลวงป๋า)"