Lifestyle

ต้องอ่านใครเป็นใครใน"ม.กรุงเทพธนบุรี"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“วิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี”ก่อตั้งขึ้น 28 มกราคม 2545เปลี่ยนประเภทเป็น “มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี(มกธ.) 11 มิถุนายน 2552 สมัยจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นรมว.ศธ.

    “มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี” เป็น 1 ใน 10 สถาบันการศึกษาที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เคยออกมาเปิดเผยข้อมูลว่ามีการรับนักศึกษาเกินกว่าที่ได้รับอนุมัติ อาจจะทำให้มีปัญหาเรื่องคุณภาพ ขอให้ปรับปรุงการดำเนินการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามมาตรฐาน

       ล่าสุดเมื่อวันที่9 ก.ค.60 ได้มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาบริหารการศึกษา หลักสูตรปีการศึกษา 1/2557 (รหัส 57) มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีกว่า 800 คน รวมตัวกันเพื่อส่งเอกสารและเซ็นหนังสือมอบอำนาจให้ตัวแทนไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้มหาวิทยาลัย จ่ายค่าเรียนในหลักสูตรดังกล่าวคืน จำนวน 147,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามก็หมาย 7.5% ต่อปี ที่เรียนจบแล้วไม่สามารถขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา จากคุรุสภาได้ อีกทั้ง คุรุสภามีมติไม่รับรองหลักสูตร และมหาวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษาเกินกว่าจำนวนที่ขออนุญาต

   หลายคนสงสัยสถาบันแห่งนี้จัดการเรียนการสอนอย่างไร และมีใครเป็นผู้บริหาร เมื่อสืบค้นข้อมูลไปที่หน้าเวปไซต์มหาวิทยาลัย พบว่ามีชื่อ“ดร.ชาญชัย ชัยรุ่งเรือง" เป็นประธานมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และ “ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล” เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

   ว่ากันว่า “ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล” อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เป็นคู่ชีวิต“ชาญชัย  ชัยรุ่งเรือง" อดีตรมต.กระทรวงอุตสาหกรรมหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน (พผ.)  ตั้งแต่ปี 2549 

ต้องอ่านใครเป็นใครใน\"ม.กรุงเทพธนบุรี\"

   ซึ่งก่อนหน้านี้ “ชาญชัย” เคยถูกนักวิชาการอิสระยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่ง ชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นไว้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2551 เนื่องจากสงสัยว่ามีการซุก “มหาวิทยาลัย” ไว้ในชื่อ “ภริยานอกสมรส” สมัยนั้น“ดร.บังอร" เคยชี้แจงว่าเป็นทั้งผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการ และเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ส่วน อดีต รมว. อุตสาหกรรมเป็นเพียงอดีตกุนซือเท่านั้น เพราะสมัยยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส

    เดิมสถาบันการศึกษาแห่งนี้ ชื่อว่า “วิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี” ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2545 แต่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการอุดมศึกษาและผ่านการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สมัยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  ให้เปลี่ยนประเภทสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเป็น “มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี(มกธ.) หรือ Bangkokthonburi University (BTU)” ในวันที่ 11 มิถุนายน 2552

ต้องอ่านใครเป็นใครใน\"ม.กรุงเทพธนบุรี\"

         กล่าวสำหรับ "ชาญชัย" เขาเคยเป็นเลขาธิการพรรคเพื่อแผ่นดินในช่วงปลายปี พ.ศ. 2551 ซึ่งมีพลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก เป็นหัวหน้าพรรค ต่อมาได้มีการยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประชุมว่าผิดข้อบังคับ โดย กกต. ได้มีมติเห็นว่าการประชุมดังกล่าวผิดข้อบังคับ

    หลังจากนั้นได้มีการลงมติเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ปรากฏว่าเขาได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดินแทน จนกระทั่งในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 ชาญชัย พร้อมด้วยสมาชิกพรรคเพื่อแผ่นดิน ได้ตัดสินใจย้ายไปร่วมงานการเมืองกับพรรครวมชาติพัฒนา และเปลี่ยนชื่อพรรคใหม่เป็น พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน

     เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2495 เป็นบุตรของนายสดใส นางทองใบ ชัยรุ่งเรือง ที่อำเภอบรบือจังหวัดมหาสารคาม สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษา จากโรงเรียนบรบือและ สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา จากโรงเรียนสารคามพิทยาคมจังหวัดมหาสารคาม ระดับอาชีวศึกษา จากวิทยาลัยช่างก่อสร้างอุเทนถวายในระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามและหลักสูตรการปกครองราชอาณาจักร เอกชนและการเมือง (วปม.รุ่นที่ 1) ในระดับปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

     เริ่มเข้าสู่การเมืองโดยการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคามในปี พ.ศ. 2526 พ.ศ. 2529 พ.ศ. 2535/1 พ.ศ. 2538 พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2548 เคยดำรงตำแหน่งในการเมืองตำแหน่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในช่วงปลายปี พ.ศ. 2550 และถูกปรับออกจากตำแหน่งในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2553 หลังการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2553

      อย่างไรก็ตามหลังจากมีข่าว“มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี”เผยแพร่ออกไปผู้สื่อข่าวรายงานได้พยายามโทรศัพท์ติดต่อไปยังมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เพื่อขอสัมภาษณ์ผู้บริหารถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้

  ทั้งนี้ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 39/2559 เรื่องการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ตามข้อ 4 ให้คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.)รายงานต่อรมว.ศึกษาการ

     เมื่อปรากฏว่าสภาสถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันอุดมศึกษาแห่งใดมีกรณีต่างๆ นั้น ที่ประชุมกกอ.ได้มีการนำเสนอรายชื่อมหาวิทยาลัยที่มีปัญหา ทั้งหมด 12 แห่ง แบ่งเป็น ม.รัฐ 2 แห่ง มีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล และม.เอกชน 10 แห่ง มีปัญหาเรื่องการจัดการศึกษาไม่เป็นไปมาตรฐานการศึกษาอุดมศึกษาหรือมาตรฐานหลักสูตร

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ