ไลฟ์สไตล์

"วิทยาลัยชุมชน"สู่ปีที่9ก้าวสู่มาตรฐานคุณภาพการศึกษา

"วิทยาลัยชุมชน"สู่ปีที่9ก้าวสู่มาตรฐานคุณภาพการศึกษา

16 ก.ย. 2552

คลื่นมหาชนหลั่งไหลเข้าร่วมงาน "วิทยาลัยชุมชน : ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อปวงชน" ที่ดำเนินงานมาย่างเข้าสู่ปีที่ 9 มีวิทยาลัยชุมชน (วชช.) กระจายอยู่ทั่วประเทศ 9 แห่ง ภายใต้ความรับผิดชอบของ "น.ส.สุนันทา แสงทอง" ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน

โดยนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานระหว่างวันที่ 4-6 กันยายน 2552 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว งานนี้มีปรมาจารย์ชั้นเทพด้านการศึกษาช่วยกันสะท้อนภาพ วชช. เพื่อชุมชนต้องเน้นคุณภาพ กระจายโอกาส และการมีส่วนร่วม และก้าวสู่มาตรฐานคุณภาพการศึกษาภายใน 3 ปี
 
 "วิทยาลัยชุมชนเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งหลายคนไม่เข้าใจ จะพยายามเชื่อมโยงให้เป็นอาชีวศึกษา หรือ กศน.นั้น ไม่ใช่เลย ไม่เหมือนกัน ระบบวิทยาลัยชุมชนเป็นการศึกษาในระบบอย่างหนึ่ง ไม่ใช่การศึกษานอกระบบ ไม่ใช่การศึกษาตามอัธยาศัย แต่การจัดการศึกษาอาจมีความคล่องตัวมากกว่าที่จะให้ผู้เรียนเรียนในเวลา วิทยาลัยชุมชนเป็นการจัดการศึกษาในระบบการศึกษา เมื่อผู้เรียนได้เรียนแล้วสามารถนำไปประกอบอาชีพและสามารถเรียนต่อในระดับปริญญาตรีได้ นี่เป็นแนวคิดพื้นฐาน"

 ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี หรือ "บิดาแห่งวิทยาลัยชุมชน" ฉายภาพปรัญชาการจัดการศึกษาของ "วิทยาลัยชุมชน" อีกครั้ง ในฐานะผู้ให้กรอบแนวคิดการจัดตั้ง "วิทยาลัยชุมชน" เมื่อปี 2545

 องคมนตรี ยังชี้ว่า ในการเปิดหลักสูตรวิทยาลัยชุมชน มีหน้าที่ต้องหารือขอความเห็นจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ด้วย เพราะองค์กรส่วนท้องถิ่นอยู่ได้ด้วยประชาชน จึงมีความจำเป็นที่วิทยาลัยชุมชนจะต้องทำงานใกล้ชิดกับ อปท.จึงจะตอบสนองความต้องการพัฒนาของท้องถิ่นได้ โดยไม่ละเลยระบบการบริหารราชการของการปกครองส่วนภูมิภาค และในแผนพัฒนาจังหวัดที่จัดทำขึ้น ควรตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนในจังหวัด เพราะแต่ละจังหวัดจะไม่เหมือนกัน คำว่าตอบสนองความต้องการหมายถึง ตอบสนองความต้องการของจังหวัดที่มีวิทยาลัยชุมชนตั้งอยู่ มณฑลแต่ละจังหวัดจะมีความจำเพาะไม่เหมือนกัน

 "หลักสูตร วชช.ควรหลากหลาย เปิดตามความต้องการของชุมชน ใกล้ชุมชน เรียนจบแล้วได้ทักษะทางสังคม เพราะวิทยาลัยชุมชนนั้นเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต จุดเด่นของ วชช.คือ อาสาสมัครที่เข้ามาบริหารสภา อาจารย์ที่มาช่วยสอนหนังสือเขามาด้วยใจและความศรัทธาและเสียสละ ผมคิดว่าสถาบันอื่นไม่เคยได้การช่วยเหลือจากภาคประชาชนมากเท่านี้ นี่ถือว่าเป็นพลังที่สำคัญมาก และอีกอย่างคือ การรู้สึกเป็นเจ้าของในอำเภอแต่ละจังหวัดนั้นๆ ทั้งสามส่วนเป็นพลังสำคัญมาก ผมอยากให้ระบบวิทยาลัยชุมชนอยู่กับสังคมไทยตลอดไป" องคมนตรี กล่าว

 กระนั้น 8 ปีของ วชช.ในมุมมองของ "รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ" อดีต รมช.ศึกษาธิการ ที่เยี่ยมชมวิทยาลัยชุมชนครบทั้ง 19 แห่ง แล้วอุปมาเหมือนกับวิทยาลัยชุมชนเป็นปั๊มหลอด เพื่อเติมน้ำมันให้รถอีแต๋น รถอีแต๋นเป็นรถที่มีศักยภาพในตัวของมันเอง มีเอกลักษณ์ สะดวก ใกล้บ้าน และคล่องตัว สนองตอบชาวบ้านได้ ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมทางเลือกทางการศึกษาของประชาชน เพราะไม่มีที่ไหนในโลกที่สำเร็จระดับอนุปริญญา โดยเสียค่าเล่าเรียนไม่ถึง 1,000

 บทบาทหน้าที่ของ วชช. นอกจากสอน วิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมแล้ว ต้องเพิ่มบทบาทอีก 3 ประการ คือ 1.ตอบสนอง : ผลิตสาขาที่ตรงกับความต้องการของตลาด 2.ชี้นำ : เพราะบางหลักสูตรตลาดไม่ต้องการ แต่สังคมต้องการ เช่น ศาสนา โบราณคดี ดนตรี ดุริยางค์ศิลป์ กีฏวิทยา สังคมต้องการหลักสูตรเหล่านี้ เช่น ประวัติศาสตร์ ถ้าเราไม่รู้อดีตก็ไม่มีปัจจุบันและไม่สามารถวางอนาคตได้ 3.เตือนสติ : บางอย่างสังคมยังไม่รู้ สังคมเผลอไป เป็นบทบาทของมหาวิทยาลัยที่ต้องเตือนสติ เช่น เศรษฐกิจพอเพียง การมีหลักธรรมาภิบาล ภาวะโลกร้อน มหาวิทยาลัยต้องเป็นมันสมองของสังคมมากกว่าแขนขา

 "วิทยาลัยชุมชนต้องเติมเต็มในส่วนที่ขาด คล่องตัว เป็นไปตามธรรมชาติ ตั้งขึ้นมาเพื่อชุมชน พัฒนาชุมชน เป็นการเรียนรู้จากการฝึกอบรม โดยแบ่งเป็นเรียนทฤษฎี 80 ปฏิบัติ 20 ไม่ใช่องค์กรที่เน้นการสอน ดังนั้น วิทยาลัยชุมชนต้องเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เกิดจากกระบวนการที่อยู่ในห้องเรียนและนอกห้องเรียน เรียนรู้จากศักยภาพของเพื่อน ซึ่งในอนาคตต่อไปชุมชนต้องดูแลเอง ซึ่งในต่างประเทศมีงบประมาณสนับสนุนมาจากท้องถิ่น" รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าว

 ทว่า วชช.ภายใต้กรอบการพัฒนาอุดมศึกษาในรอบ 15 ปี ได้แบ่งประเภทของมหาวิทยาลัยเป็น 4 ประเภทใหญ่ คือ 1.กลุ่มมหาวิทยาลัย 4 ปี เป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยศิลปศาสตร์ 2.กลุ่มมหาวิทยาลัยเฉพาะทาง เป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 3.กลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัย หรือบัณฑิตศึกษา และ 4.กลุ่มวิทยาลัยท้องถิ่นหรือ กลุ่มวิทยาลัยชุมชนเพื่อท้องถิ่นโดยเฉพาะ

 ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการ กกอ. ชี้ว่า วิทยาลัยชุมชนต้องเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไประหว่างการศึกษากับชุมชน หรือประชาชนที่อยู่ตามชนบท และในอนาคตบทบาทของ วชช.ควรเน้น 3 เรื่อง คือ คุณภาพการศึกษา กระจายโอกาสทางการศึกษาด้วยการจัดตั้ง วชช.ในท้องถิ่นที่ไม่มีสถาบันอุดมศึกษาตั้งอยู่ และการมีส่วนร่วมตรงกับการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเป็นหลักของวิทยาลัยชุมชนอยู่แล้ว โดยยึดหลักการว่า วิทยาลัยชุมชนเป็นของชุมชน โดยชุมชนและเพื่อชุมชน

 "วิทยาลัยชุมชนอย่าได้หลุดจากกรอบ เพราะไม่เช่นนั้นกรอบการพัฒนาอุดมศึกษาคงจะไม่กำหนดการจัดการศึกษาอุดมศึกษาออกเป็น 4 ประเภท แล้วเลือกให้วิทยาลัยชุมชนเป็นหนึ่งในสี่ประเภทที่ใหญ่ๆ จึงขอเรียนว่า วชช.ต้องเป็นการศึกษาที่จะเติมเต็มทั้งในระบบและนอกระบบ ให้โอกาสทุกคน ทุกภาคส่วน ได้มีส่วนได้เรียนรู้ และมาร่วมกำหนดแนวทางการจัดการศึกษาให้แก่วิทยาลัยชุมชน" ดร.สุเมธ ย้ำบทบาทของ วชช.

 เหนืออื่นใด นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า วชช.ต้องมีกรอบมาตรฐานคุณภาพการศึกษาของวิทยาลัยชุมชนในแต่ละด้านแต่ละสาขาวิชาที่สอนภายใน 3 ปี เพราะในอนาคต 19 วชช.ก็รวมกันเป็นหนึ่งสถาบัน โดยมีผู้บริหารระดับอธิการบดี และมีสภาวิทยาลัยชุมชนเกิดขึ้นในระดับชาติ ส่วน วชช.ก็จะมีผู้อำนวยการ วชช.เป็นผู้บริหาร และมีสภาวิทยาลัยของแต่ละวิทยาลัยชุมชนเป็นผู้ทำหน้าที่เหมือนสภามหาวิทยาลัยในแต่ละวิทยาลัยชุมชน ภาพก็จะออกมาในลักษณะนี้ ที่ต้องมี พ.ร.บ.วิทยาลัยชุมชน คล้ายกับมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง เพื่อความเป็นอิสระทางวิชาการ เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการด้วย

0 ขวัญเรือน อภิมณฑ์ 0 รายงาน
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ