
ถามก่อนค่อยออกกม....เสียงจากต่างด้าว
แรงงานพม่า ระบุกฎหมาย กระทบต่อแรงงานต่างด้าวโดยตรง ทยอยกลับบ้าน กังวลความยุ่งยาก ใช้ชีวิตลำบาก
“พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ…. มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ข้อเสียได้สร้างผลกระทบต่อแรงงานต่างด้าวอย่างมาก โดยดูได้ตั้งแต่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว แรงงานต่างด้าว อย่าง พม่า ก็ทยอยเดินทางกลับบ้านไปแล้วจำนวนมาก เพราะพ.ร.ก.ไม่ได้เปิดช่องที่จะทำให้เขาสามารถอยู่ต่อได้” Saitunshwe หรือ เมือง อายุ 41 ปี แรงงานต่างด้าวจากประเทศพม่า สะท้อนสถานการณ์ของแรงงานต่างด้าว
“เมือง” เล่าว่า ตามพี่ชายมาเป็นแรงงานพม่าแถวชายแดนทางภาคเหนือ และได้ทำงานอยู่ในประเทศไทยมาตลอดเกือบ 20 ปี ปัจจุบันเป็นพนักงานของโรงงานบริษัทสิ่งทอ แถมพระประแดง จ.สมุทรปราการ และเป็นล่ามให้แก่กองการต่างประเทศ ซึ่งเขาถือเป็นแรงงานต่างด้าวที่ถูกต้องตามกฏหมาย
เมืองเล่าว่า พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว ถือเป็นกฎหมายที่ไม่ได้มีการสอบถามนายจ้าง หรือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะหากการร่างพ.ร.ก.ฉบับนี้มาจากภาคเอกชน นายจ้างย่อมเป็นนายจ้างที่ไม่ได้จ้างแรงงานต่างด้าวมากเท่ากับบริษัท โรงงานเล็กๆ ดังนั้น พ.ร.ก.ดังกล่าว จึงไม่กระทบต่อแรงงานต่างด้าว หรือนายจ้างในบริษัทใหญ่ชั้นนำของประเทศอยู่แล้ว แต่แรงงานต่างด้าวระดับล่างๆ อย่างทำงานในโรงงาน แพปลา ย่อมได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากกฎหมายนี้ นอกจากมีบทลงโทษที่รุนแรงมากกว่าการค้ามนุษย์แล้วนั้น การดำเนินการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน ก็ดูยุ่งยาก เวลา ลูกจ้าง แรงงานต่างด้าว จะขอทำเอกสารต่างๆ เพื่อเข้าทำงานนั้น ระบบไม่สามารถทำให้ได้ทันที ต้องรอกระบวนการต่างๆ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ แต่ พ.ร.ก.ฉบับนี้ นายจ้างจะรับแรงงานได้ต้องมีเอกสารครบและทันที เมื่อไม่มีนายจ้างก็ไม่จ้าง ทำให้ลูกจ้าง แรงงานต่างด้าว เสียโอกาส เพราะถ้าเป็นเมื่อก่อน อาจจะให้ทำงานไปก่อน และเมื่อมีเอกสารจากทางรัฐออกให้ก็ทำงานได้ต่อไป
“เงื่อนไขใน พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว ทำให้แรงงานต่างด้าวถอดใจ และขอกลับไปประเทศตนเองก่อน เพราะด้วยสถานะต่างๆ ก็ดูทำให้ชีวิตยุ่งยาก ลำบากมากขึ้น จะเช่าบ้าน ออกจากพื้นที่ที่ตนเองลงทะเบียนก็ดูยาก และเมื่อการขอเอกสาร ส่งเอกสารต่างๆ หลังจากนี้ นายจ้างคงหันกลับไปใช้แรงงานไทย ทั้งที่ ความเป็นจริง แรงงานไทยที่จะทำงานแบบเดียวกับแรงงานต่างด้าวนั้นมีน้อยมาก การจะออกกฎหมาย หรือจะดำเนินการใด อยากร้องขอให้างรัฐบาลไทย รับฟังความคิดเห็นของแรงงานต่างด้าว หรือนายจ้างที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าวจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราค่าปรับแก่่แรงงานต่างด้าวที่สูงเกินไป หรือบทลงโทษค่าปรับของนายจ้าง เพราะเมื่อนายจ้างได้รับผลกระทบ ลูกจ้างก็ต้องได้รับกระทบด้วยเช่นกัน” เมือง กล่าว
เมือง กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากนี้ แรงงานต่างด้าวคงเข้าในระบบของการลงนาม MOU ระหว่างประเทศมากขึ้น หรือในทางกลับกันอาจจะใช้ช่องทางลัดมากขึ้น เพราะการเข้าระบบ MOU ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ด้วยข้อบังคับต่างๆ มากมาย ไม่มีความอะลุ่มอล่วย ความเป็นมิตร พึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง อย่างไรก็ตาม กม.ดังกล่าว เป็นความหวังดีของรัฐบาลที่จะทำทุกอย่างให้ดีขึ้น และแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว แต่ถ้าทำแล้วกระทบต่อแรงงานต่างด้าว นายจ้างก็อยากให้ทบทวนอีกครั้ง