ไลฟ์สไตล์

สุรินทร์ พิศสุวรรณ  จะ Global หรือ Local ได้หมด! ถ้าสดชื่น..

สุรินทร์ พิศสุวรรณ จะ Global หรือ Local ได้หมด! ถ้าสดชื่น..

30 มิ.ย. 2560

ถึงพรรคประชาธิปัตย์ปฏิเสธดัน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. หน้า แต่เจ้าตัวใช่จะเป็นไม่ได้ เพราะอะไรถึงมั่นใจขนาดเน้!!??

          ไม่ถึงกับหน้าแตก กับการที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาปฏิเสธข่าวการเตรียมดัน ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เข้าชิงชัยในสนามเสาชิงช้า เป็นผู้ว่าฯ กทม.

          เพราะในทางลึกแล้ว เจ้าตัวมีการพูดคุยเรื่องนี้กับคนในพรรคสะตอมาพักใหญ่แล้ว พูดง่ายๆ ว่า ออกตัวแรงเลยว่าอยากนั่งเก้าอี้นี้!

          แม้จะมีบางคนพูดว่า ก็มีอยู่หลายคนที่ไม่ขี้เหร่พอจะส่งได้ แต่ถ้าเข้าตามคำกล่าวที่ว่า “หลายสิ่งมักจะมาหาผู้ที่ร้องขอ” ก็แปลว่า ดร.สุรินทร์ ก็ถือว่ายกมืออาสาคนแรกแล้วก็ว่าได้

       

         อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่กล้าเสนอตัวขนาดนี้ คงต้องรู้ตัวว่ามี “ดี” ขนาดไหน พลิกดูโปรไฟล์ของชายคนนี้ ก็พบเลย เป๊ะมาก!

          ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เกิดวันที่ 28 ตุลาคม 2492 ที่บ้านปอเนาะ ต.กำแพงเชา อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เดิมชื่อ อับดุลฮาลีม เปลี่ยนเป็น “สุรินทร์” โดยยายเป็นคนเปลี่ยนชื่อให้

          ดร.สุรินทร์ เป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้อง 11 คน ของ ฮัจยีอิสมาแอล (เสียชีวิต) ผู้เป็นบิดา และซาปิยะ พิศสุวรรณ ผู้เป็นมารดา เขามีภรรยาคือ อลิสา นามสกุลเดิม ฮัจยะห์อาอีซะฮ์ และมีบุตรชาย 3 คน คือ มุฮัมหมัด ฟูอาคี, ฮุสนี และ ฟลิกรี่

          นอกจากนี้ยังมีบันทึกเป็นพ็อกเกตบุ๊กชื่อ “ความสำเร็จไม่มีข้อยกเว้น” ระบุว่า ทวดของ ดร.สุรินทร์ เป็นผู้บุกเบิกชุมชนมุสลิมในนครศรีธรรมราช ในขณะที่ตาและพ่อก็เป็นโต๊ะครูคนสำคัญของท้องถิ่น มีความเชี่ยวชาญด้านศาสนาในระดับที่ไปร่ำเรียนถึงนครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ด้วยกันทั้งคู่

          ทั้งนี้ตาของสุรินทร์ยังเป็นผู้ตั้งโรงเรียนปอเนาะบ้านตาล ในช่วงปี 2484 และยังดำเนินกิจการมาถึงปัจจุบัน

          ครั้งหนึ่ง ช่วงปี 2548 เขาเคยดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถัดจากนั้นปีเดียวหลังรัฐประหาร 2549 สุรินทร์ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

          ที่สุดจังหวะดีมาก ถึงคิวตัวแทนจากประเทศไทยเป็น “เลขาธิการอาเซียน” เขาก็ได้รับการผลักดันจากรัฐบาล นายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ จนได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว โดยนั่งทำงานที่จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ตั้งแต่ 1 มกราคม 2551 จนครบ 5 ปี สิ้นสุดวาระเมื่อ 1 มกราคม 2556

          ถือเป็นความภาคภูมิใจสำหรับอดีตเด็กปอเนาะคนหนึ่ง ที่มีโอกาสเป็นคนไทยคนที่สองที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ โดยคนไทยคนแรกคือ อดีตเอกอัครราชทูต และอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ แผน วรรณเมธี (ปัจจุบันเป็นเลขาธิการสภากาชาดไทย) ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2532-2536

     

          วัยเด็ก ดร.สุรินทร์ จบประถมที่โรงเรียนวัดบ้านตาล มัธยมศึกษาที่โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช และโรงเรียนเบญจมราชูทิศ บ้านเกิด และด้วยความเป็นเด็กหัวดี เขาได้รับการส่งเสริมจากอาสาสมัครสันติภาพ (Peace Corps) ชาวอเมริกัน ที่มาทำงานสอนภาษาอังกฤษในไทย ผลักดันให้เขาเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS ไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา 1 ปี

          กลับมาไทยก็ดำเนินเส้นทางตามปกติจนจบมัธยมปลาย และไปเข้าเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเป็นศิษย์เอกของ อ.เสน่ห์ จามริก และยังเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

          แต่เขาเรียนอยู่ 2 ปี ก็โชคดีสอบชิงทุนได้ ไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา และจบด้วยคะแนนเกียรตินิยม ปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต (ปรัชญารัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยแคลร์มอนต์ เมื่อปี 2515

          ต่อมาช่วงปี 2517 เขาจบปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (ทุนมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์) และตามด้วยปริญญาเอก รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) ที่เดิม ในปี 2522 (ต่อมายังมาจบปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2552 อีกด้วย)

          เรียนจบเป็นดอกเตอร์หนุ่มกลับมาเมืองไทย ก็เริ่มอาชีพนักวิชาการ เป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2518 จนปี 2529 ก็ตัดสินใจเข้าสู่แวดวงการเมือง โดยการชักชวนของ สัมพันธ์ ทองสมัคร และคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์

          ที่สุดประสบความสำเร็จ ได้เป็น ส.ส.นครศรีฯ บ้านเกิด สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และนั่งเก้าอี้นี้ติดต่อกัน 7 สมัย

          นอกจากนี้เขายังเคยเป็นเลขานุการของ ชวน หลีกภัย ขณะดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร (2529-2531) ต่อมายังได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างปี 2535-2538 และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างปี 2540-2544     

          ถามว่าผลงานของเขามีอะไร เอาจริงๆ คงมีเยอะแยะ แต่ถ้าจะไฮไลท์ก็ต้องมองที่บทบาทเลขาธิการอาเซียนคนแรกนี่เอง เพราะเข้ามาปุ๊บก็เจอบรรยากาศที่ชาติสมาชิกต่างชักธงมุ่งหน้าสู่ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” บันไดขั้นแรกในการเป็น “ประชาคมอาเซียน” ในอนาคตเช่นเดียวกับ “สหภาพยุโรป”

          แต่หากบางคนจำได้ เขาเล่าว่า ตนนั้นเป็นผู้นำชาติมหาอำนาจไปช่วยพม่า หลังเกิดไซโคลนนาร์กีสที่นั่น แต่งานหินที่สุดในชีวิต เขาบอกว่า คือช่วงความขัดแย้งไทย-กัมพูชา

          “เลือกข้างไม่ได้ วางตัวลำบาก ไทยก็แรง กัมพูชาก็แรง ผมเข้าข้างไหนเละแน่นอน ทุกอย่างต้องทำหลังฉาก” (นิตยสารสารคดี เมษายน 2556)

          ส่วนในวันนี้ นอกจากเขามีตำแหน่งแห่งที่ เป็นกรรมการตามองค์กรธุรกิจชั้นนำหลากหลายแล้ว ยังมักได้รับเชิญไปแสดงปาฐกถาตามองค์กรและสถาบันที่สำคัญต่างๆ อยู่เสมอ ทั้งในและต่างประเทศ ประสาคนที่มีประสบการณ์ และวิสัยทัศน์ระดับเวทีโลก

          แต่ก็ไม่ได้แปลว่า งานโลคอลท้องถิ่น อย่างการดูแลเมืองกรุงเทพฯ จะทำไม่ได้ ตรงกันข้าม ก็เป็นงานที่ท้าทายคนนั่งเก้าอี้นี้เหมือนกัน ไม่เชื่อไปถามคนที่แล้วดูก็ได้