
ทปอ.ต้องให้ข้อมูลจริงเปิด-ปิดอาเซียน
CHES ชี้ทปอ.ไม่เผยวิจัยเปิด-ปิดตามอาเซียน ไม่จริงใจต่อปฏิรูปการศึกษา จี้ให้ข้อมูลจริง ย้ำเน้นคุณภาพทางการศึกษา มุ่งแก้ปัญหาเชิงระบบตลอดห่วงโซ่ทางการศึกษา
ผศ.ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค รองเลขาธิการศูนย์ประสานงานสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือ CHES กล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)ไม่เปิดเผยผลการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบในการจัดการศึกษาแบบอาเซียน ทั้งที่ดำเนินการนานมากแล้ว ว่า การทำเช่นนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า ทปอ.ไม่มีความจริงใจต่อการแก้ปัญหาในการปฎิรูปการศึกษา และยังจะยื้อเวลาในการแก้ปัญหาออกไปอีก
ส่วนที่มีการอ้างว่าการเปิดปิดภาคเรียนตามอาเซียนจะมีข้อดีที่จะได้รับนักศึกษาต่างชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนมาเรียนในสถาบันอุดมศึกษาไทย เนื่องจากแนวโน้มของนิสิต นักศึกษาไทยกำลังจะลดลงเรื่อย ๆ นั้น ทาง CHES อยากให้ ทปอ.กลับไปดูข้อมูลจริงๆ ว่าจำนวนนักศึกษาต่างชาติหรือในอาเซียนที่เข้ามาเรียนในสถาบันอุดมศึกษาไทยนั้น มีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งจำนวนก็ไม่ได้มากอย่างคิด เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปีการศึกษา 2559 มีนิสิตทั้งหมด จำนวน 35,619 คน เป็นนิสิตต่างชาติ เพียง 169 คน คิดเป็นร้อยละ 0.47 ของจำนวนนิสิตนักศึกษาทั้งหมด ซึ่งถือว่าน้อยมาก
ทั้งนี้ สิ่งที่ควรจะทำให้การปฎิรูปการศึกษา คือ การเน้นคุณภาพทางการศึกษา โดยมุ่งแก้ปัญหาเชิงระบบตลอดห่วงโซ่ทางการศึกษา โดยเฉพาะระบบการผลิตครูที่เป็นฐานของการพัฒนาการศึกษาไทย ซึ่งต้องอาศัยการฝึกประสบการณ์วิชาชีพในโรงเรียนทุกระดับและต้องเปิด-ปิดภาคเรียนตามแบบเดิม แต่พอมาเปิดปิดภาคเรียนตามอาเซียนทำให้เกิดปัญหาในการเรียนการสอนของนิสิตนักศึกษาครูทั้งประเทศ รวมถึงระบบการจัดการเรียนการสอนทางด้านการเกษตรซึ่งต้องอาศัยน้ำในการทำแปลงเพาะปลูก แต่ในช่วงที่จัดการเรียนการสอนเป็นช่วงที่ขาดแคลนน้ำ
“จากเหตุผลต่าง ๆที่คนอุดมศึกษาพยายามบอก ทปอ. มาตลอดว่าการเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียนนั้น ผลเสียมากกว่าผลดี แต่ ทปอ.ก็ไม่สนใจคงไม่รู้ระบบการศึกษาไทยจริง ๆ อยากให้ ทปอ.ศึกษาความต้องการของผู้เรียนในต่างประเทศว่าต้องการมาเรียนในสถาบันอุดมศึกษาไทยจำนวนเท่าไหร่ รวมถึงวิเคราะห์ว่ามหาวิทยาลัยในอาเซียนเปิด-ปิดอย่างไร เมื่อไหร่อีกครั้ง” รองเลขาธิการ CHES กล่าว