
มารู้จัก..คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ กันเถอะ
คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. คือหน่วยงานใด สำคัญอย่างไร ...มีคำตอบ
ในรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา ปัญหาใหญ่ที่สุดของประชาชนที่ยากจน คือการไม่มีที่ดินทำกินและที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยเป็นของตนเอง ต้องเช่าที่ดินจากนายทุน รัฐ หรือแม้กระทั่งการบุกรุกที่ดินของรัฐประเภทต่างๆเพื่ออยู่อาศัยและทำกินโดยไม่มีสิทธิถูกต้องตามกฎหมาย ประชากรส่วนหนึ่งเข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อบุกเบิกทำที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ปลูกพืชทางการเกษตร โดยเฉพาะเขตพื้นที่ป่าสงวนหรือพื้นที่ป่าไม้จะถูก บุกรุกมากกว่าที่ดินของรัฐประเภทอื่นๆ ส่งผลให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่าทำให้พื้นที่ป่าลดลงซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาหลายด้านตามมา ซึ่งการแก้ไขปัญหาขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลในแต่ละสมัยแตกต่างกันไป
ปัจจุบันประชากรไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 66 ล้านคน เมื่อมีประชากรมากขึ้นปัญหาที่ดินทำกินก็มากขึ้นตามไปด้วย และพบว่าปัญหาสำคัญที่พบในปัจจุบันกลับไม่ใช่การบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรุนแรงเช่นในอดีต แต่กลายเป็นปัญหาเรื่อง “การทับซ้อนของที่ดินป่าไม้และที่ทำกินของประชาชน” ซึ่งเกิดจากการบุกรุกพื้นที่ป่าในอดีต อันนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างราษฎรกับเจ้าหน้าที่รัฐ
จากปัญหาดังกล่าว รัฐบาลนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาไร้ที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ของประชาชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติและการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน จึงมีข้อสั่งการ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา เรื่องที่ดินทำกิน โดยให้มีผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ รวมทั้งให้มีผู้แทนจากภาคเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม ในคณะกรรมการด้วย
ซึ่งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. ขึ้นมา 3 คณะ เพื่อให้เกิดกลไกในการดำเนินงานจากกลไกระดับนโยบายไปถึงกลไกระดับการขับเคลื่อนซึ่งจะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์และเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดย คณะอนุกรรมการทั้ง 3 คณะ ประกอบด้วย
คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดิน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน มีหน้าที่ในการ สำรวจ ตรวจสอบ จัดทำข้อมูลที่ดินและแผนที่ขอบเขตที่ดินที่จะจัดให้แก่ผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ทำกินและที่อยู่อาศัย พร้อมด้วยรายชื่อผู้ครอบครองและส่งมอบให้กับคณะอนุกรรมการจัดที่ดินดำเนินการต่อไป
คณะอนุกรรมการจัดที่ดิน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย มีหน้าที่ในการสำรวจ ตรวจสอบ จัดทำข้อมูลและแผนปฏิบัติการจัดที่ดินทำกินให้แก่ผู้ยากไร้ไม่มีที่ทำกินและที่อยู่อาศัย กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดที่ดิน จัดที่ดินให้แก่ผู้ยากไร้ในรูปแบบชุมชนที่เหมาะสม เช่น สหกรณ์หรือรูปแบบอื่นๆ ที่เหมาะสม
คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมาย มีหน้าที่ ในการส่งเสริมพัฒนาอาชีพ และการตลาดในรูปแบบเศรษฐกิจชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้การใช้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสม การใช้ประโยชน์ที่ดินบนพื้นฐานข้อมูล Zoning การส่งเสริมการรวมกลุ่ม การสนับสนุนเข้าถึงแหล่งทุนและการส่งเสริมและจัดทำบัญชีครัวเรือน
ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องบริหารจัดการที่ดินทำกินตามนโยบายรัฐบาลให้เกิดประโยชน์สูงสุดและจัดให้มีการปลูกป่าเพิ่มเติมในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม รวมทั้งพิจารณาออกกฎหมายเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐอย่างสูงสุด แต่ประชาชนที่เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ไม่สามารถนำมาเรียกร้องให้รัฐออกเอกสารสิทธิ เช่น โฉนดที่ดิน ในภายหลังได้
ซึ่งการทำงานของอนุกรรมการทั้ง 3 คณะ ได้ยึดหลักจากนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการของ คสช. ประกอบด้วย
1.นโยบายในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาการไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกร และการรุกล้ำเขตป่าสงวน พร้อมทั้งการออกมาตรการการป้องกันการเปลี่ยนมือไปอยู่ในครอบครองของผู้ที่ไม่ใช่เกษตรกร
2.นโยบายการรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรและการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนเพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ โดยยึดแนวพระราชดำริที่ให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
2.1 ระยะเฉพาะหน้า เร่งปกป้องและฟื้นฟูพื้นที่อนุรักษ์ ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า โดยให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ จัดทำแนวเขตที่ดินของรัฐให้ชัดเจน เร่งรัดกระบวนการพิสูจน์สิทธิการถือครองที่ดินในเขตที่ดินของรัฐ ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยและสร้างบรรทัดฐานในการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าต้นน้ำและพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญเชิงนิเวศ
2.2 ระยะต่อไป พัฒนาระบบบริหารจัดการที่ดินและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ จัดทำฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ จัดทำทะเบียนผู้ถือครองที่ดินในที่ดินของรัฐ เร่งรัดการจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้ยากไร้ โดยไม่ต้องเป็นกรรมสิทธิ์ แต่รับรองสิทธิร่วมในการจัดการที่ดินของชุมชน