
มหาวิทยาลัยไทยทุกแห่งมีการเมือง!!!
ชี้ใช้อำนาจม.44 แก้ปัญหาอุดมศึกษา เผย0t แนะวางเป้าหมายชัดเจน สนุกแก้ปัญหา อย่าให้ไวรัสการเมืองเติบโต พร้อมใช้ระบบเซ็ตซีโร
มหาวิทยาลัยไทยทุกแห่งมีเรื่องการเมือง สจล.ก็มี ซึ่งการเมืองเหมือนไวรัสที่พร้อมเกิดขึ้นตลอดเวลา ถ้าผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีความกระบวนการความคิดที่เข้มแข็ง ไวรัสก็ไม่สามารถเติบโตได้ ที่สำคัญต้องวางเป้าหมายว่าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร ต้องชัดเจน อย่าดูถูกตัวเอง ต้องมีธรรมภิบาล และสนุกกับการแก้ไขปัญหา
คำถามหลายๆ ประเด็นที่ยังไม่มีคำตอบชัดแจ้งเกี่ยวกับ “ปัญหาอุดมศึกษาไทย” ที่ค้างคาใจสังคมว่าจะมีหนทางใดในการปลดล็อค แก้ปัญหาต่างๆ .... แล้ว “ปฎิรูปอุดมศึกษา” ที่กล่าวถึงการไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้เลยหรือ??? (คำถามที่ไร้คำตอบอีกเช่นเคย)
สมาคมสภามหาวิทยาลัย (ประเทศไทย) หรือ สสมท. ได้จัดเสวนาเรื่อง “การแก้ปัญหาอุดมศึกษาไทย:ทางเลือกทางรอด ” โดยมีเหล่า ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฏหมาย ด้านอุดมศึกษา นายกสภามหาวิทยาลัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วม ประมาณ 100 คน
ดร.ชุมพล พรประภา นายกสมาคมสภามหาวิทยาลัย กล่าวว่า การที่รัฐบาลใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 (ฉบับชั่วคราว) แสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยบางแห่ง มีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล ทำให้ไม่สามารถผลิตนักศึกษาที่มีคุณภาพตรงตามที่สถานประกอบการต้องการ โดยในส่วนของกรรมการสภามหาวิทยาลัยบางคน ไม่เข้าใจบทบาทและหน้าที่ของตนเอง ดังนั้น จึงไม่รู้ว่าตัวเองควรทำหรือไม่ควรทำอะไร จนก่อให้เกิดปัญหา
รศ.ดร.อานนท์ เที่ยงตรง ประธานคณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ตอนนี้สภามหาวิทยาลัยมีปัญหาจริงๆ โดยเฉพาะเรื่องสภามหาวิทยาลัยขัดแย้งกับอธิการบดี หรือบางแห่งสภามหาวิทยาลัยไปด้วยกันได้ดีกับฝ่ายบริหาร โดยไม่ได้สนใจว่าผู้บริหารทำผิดหรือถูก จนทำให้เกิดปัญหามีผู้สำเร็จการศึกษาประมาณ 1,994 คนที่ยังไม่สามารถรับปริญญาได้ เพราะไม่มีสภามหาวิทยาลัย
“โดยส่วนตัว มองว่ามีความจำเป็นที่ใช้มาตรา44ในบางกรณี เพราะบางแห่งไม่สามารถแก้ปัญหาเองได้ เนื่องจากถูกฟ้องทั้ง 2 ฝ่าย และคดีอยู่ที่ศาล ทำให้ไม่สามารถเดินต่อไปได้” รศ.ดร.อานนท์ กล่าว
รศ.ดร. สุมนต์ สกุลไชย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าตามจริงเรื่องมหาวิทยาลัย ยอมรับว่ามีสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหารบางแห่งไม่สามารถแก้ไขได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้อำนาจมาตรา 44 แบบมีเงื่อนไข และต้องระมัดระวังอย่างดี โดยต้องมีกลไกชัดเจน ส่วนจะแก้ไขปัญหาอุดมศึกษาได้หรือไม่นั้น มองว่า ได้ผลเพียงระดับหนึ่ง คือ ในเรื่องของงานประจำไม่สะดุด ,ผลประโยชน์ของนักศึกษา อาจารย์เดินหน้าต่อไปได้,ความขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัยยุติลงชั่วคราว
แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้ เพราะถ้าจะให้รอดในระยะยาว ต้องทำอย่างไรให้มหาวิทยาลัยเข้มแข็ง และมีกลไกกำกับการทำงานของสภามหาวิทยาลัย เนื่องจากบางแห่งสภามหาวิทยาลัยประเมินตนเองแบบลูบหน้าปะจมูก ถือเป็นกลไกไม่มีประสิทธิภาพ ทำอย่างไรให้สรรหาผู้บริหารไม่ใช่เพียงเก่งอย่างเดียว แต่เป็นคนดี ทุ่มเท มีคุณธรรมจริยธรรม มีความยางอายบ้าง ไม่เห็นแก่ประโยชน์ของตน
"เห็นด้วยคนนอกไม่ต้องยุ่ง แต่บางครั้งสภามหาวิทยาลัยไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะสภามหาวิทยาลัยมีทั้งเข้มแข็งและไม่เข้มแข็ง มีทั้งสุดโด่ง ไม่สุดโด่ง ขณะที่ผู้บริหารก็เช่นเดียวกัน ระบบการบริหารมหาวิทยาลัยเป็นระบบที่ไม่มีความพอดี นอกจากนั้น ตอนนี้ม.ของรัฐไม่มีกลไกกำกับควบคุมสภามหาวิทยาลัย ฉะนั้น ร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ....ต้องเพิ่มกลไกการกำกับควบคุมสภามหาวิทยาลัย ส่วนพ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน นั้นมีอยู่แล้ว" รศ.ดร.สุมนต์ กล่าว
ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ) และอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องยากมาก เพราะถ้าเรื่องนี้อยู่ในเอกชนจะทำให้เดินหน้าได้ง่าย แต่มหาวิทยาลัยที่สอนเรื่องความมีเหตุมีผล แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีเหตุมีผลและยากมากที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร
“มหาวิทยาลัยไทยทุกแห่งมีเรื่องการเมือง สจล.ก็มี ซึ่งการเมืองเหมือนไวรัสที่พร้อมเกิดขึ้นตลอดเวลา ถ้าผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีความกระบวนการความคิดที่เข้มแข็ง ไวรัสก็ไม่สามารถเติบโตได้ ที่สำคัญต้องวางเป้าหมายว่าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร ต้องชัดเจน อย่าดูถูกตัวเอง ต้องมีธรรมภิบาล และสนุกกับการแก้ไขปัญหา เพราะถ้าคิดแบบนี้แม้จะเจอปัญหาทุกวัน ก็สามารถก้าวผ่านไปได้” อธิการบดีสจล.กล่าว
รศ.ดร.นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช(มสธ.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เกิดปัญหา ส่วนใหญ่เป็นเพราะสภามหาวิทยาลัย อย่าง มสธ.เองที่ตอนนี้ถือว่า สภามหาวิทยาลัยเป็นอัมพาต เพราะมีองค์ประกอบไม่ครบ ไม่สามารถประชุมได้ ทำให้นักศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอกจำนวน 1,994 คน ไม่สามารถจบการศึกษาได้ ดังนั้น มองว่าจำเป็นต้องใช้คำสั่งตามมาตรา44 เข้ามาแก้ปัญหา เพื่อการให้บริหารงานภายในมหาวิทยาลัยสามารถเดินต่อไปได้
รศ.ดร.บดินทร์ รัศมีเทศ อดีตว่าที่อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จะสามารถแก้ปัญหาอุดมศึกษาไทยได้ อย่างแรกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องใช้กฎหมายแบบไม่เลือกปฏิบัติ ขณะที่สกอ.อย่าบริหารงานบนกฎของความเชื่อ ความรู้สึก ให้บริหารงานตามข้อเท็จจริงและกฎหมาย และสุดท้าย สกอ.อย่ายุ่งกับมหาวิทยาลัยมากเกินไป
“ผมถูกสภามหาวิทยาลัยเลือกให้เป็นอธิการบดีมก. แต่มีปัญหา เพราะถูกร้องเรียน โดยที่สกอ.ไม่เคยเรียกไปสอบถามข้อเท็จจริง คนมก.ไม่เคยทะเลาะกัน แต่สกอ.เล่นจนทะเลาะกัน ทำให้วันนี้ก็ยังไม่สามารถหาอธิการบดีได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นสกอ.หรือกระทรวงที่ตั้งใหม่ ถ้าคนทำงานยังเป็นกลุ่มเดิมก็ไม่สามารถแก้ปัญหาอุดมศึกษาได้” รศ.ดร.บดินทร์ กล่าว
ผศ.ฉัตรชาย ศุภจารีรักษ์ ประธายสภาคณะจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)ตะวันออกกล่าวว่า ต้องขอบคุณรัฐบาลที่ใช้มาตรา 44 กับมทร.ตะวันออก เนื่องจากสภามหาวิทยาลัยมีปัญหาในเรื่องธรรมาภิบาลจนไม่สามารถบริหารจัดการได้ และเมื่อใช้มาตรา 44 แล้วจะต้องใช้ระบบเซ็ตซีโร่ ที่ต้องเอาคนเก่า ผู้บริหารที่มีปัญหาทั้งหมดออกจากมหาวิทยาลัย และมาเริ่มนับหนึ่งใหม่