ผศ.สมทรง นุ่มนวล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ งานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ได้จัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการร่วมกับผู้นำและตัวแทนชาวบ้านตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อร่วมกันจัดทำแผนบริการวิชาการแก่สังคม ณ ห้องประชุมเรียนรู้ ชั้น 2 อาคารศูนย์บูรณาการการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มรส. โดยมีวิทยากรได้แก่ ดร.วิศาล ศรีมหาวโร และดร.เสน่ห์ บุญกำเนิด อาจารย์และนักวิจัยประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
การนี้ตัวแทนชาวบ้านได้นำเสนอปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน เพื่อร่วมกันหาวิธีแก้ไข ซึ่งปัญหาที่ชาวบ้านนำเสนอมามีทั้งหมด 11 ประเด็น ได้แก่ ปัญหาขยะมูลฝอย สุขภาพชุมชน การตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์ การสืบทอดวัฒนธรรมและประเพณีที่ใกล้สูญหาย การจัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน การบริหารจัดการน้ำดื่มชุมชน การจัดการกระบวนการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ป่าชุมชน การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน และการพัฒนาภาษาต่างประเทศ คือภาษาอังกฤษและภาษาเมียนมา ซึ่งทั้งหมดนี้มหาวิทยาลัยและชาวบ้านจะได้ร่วมกันวางแผนหาแนวทางแก้ไขต่อไป
นายอรุณ หนูขาว หัวหน้างานบริการวิชาการพัฒนาท้องถิ่น ได้ยกตัวอย่างปัญหาขยะมูลฝอยว่า ปัจจุบันตำบลขุนทะเลกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีประชากรประมาณ 130,000 คน และมีประชากรแฝงอีก 35,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวและกลุ่มคนที่ทำงานก่อสร้าง ในปี 2559 เทศบาลใช้งบประมาณถึง 2.4 ล้านบาทในการกำจัดขยะ ซึ่งมหาวิทยาลัยและชุมชนเห็นตรงกันว่าควรแก้ปัญหาที่การจัดการขยะต้นทางให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การคัดแยกประเภทขยะ แยกขยะอันตรายออกมาต่างหาก นำขยะบางส่วนไปทำปุ๋ยหมัก และการทำบ่อขยะ เป็นต้น
ด้าน ดร.ปริญญา สุขแก้วมณี นักวิจัยและอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุม กล่าวว่า ชุมชนขุนทะเลเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางนิเวศสูงมาก ตนและนักศึกษาได้ทำการสำรวจพื้นที่และพบว่าขุนทะเลมีของหายากหลายอย่าง เช่น นกกาบบัวหลังเหลืองที่อพยพมาจากจีน ต้นหยาดน้ำค้างซึ่งเป็นสมุนไพรหายาก สนสามใบซึ่งปกติเจอเฉพาะในภาคเหนือเท่านั้น ถือเป็นพื้นที่มีความน่าสนใจมาก ซึ่งตนจะได้ทำการศึกษาวิจัยต่อไป