ไลฟ์สไตล์

TCAS ลดเหลื่อมล้ำ??

TCAS ลดเหลื่อมล้ำ??

15 มิ.ย. 2560

“TCAS” ดีอย่างไร? มาจากไหน? แล้ว จะช่วย “เด็กไทย” ไม่ต้องวิ่งรอกสอบ ลดความเหลื่อมล้ำ ประหยัดสตางค์ในกระเป๋าได้จริงหรือ …..

     ดูจะเป็นคำถามที่น่าขบคิดหาคำตอบไม่ใช่น้อย เพราะจะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2561 ระบบที่วางไว้ ก็มาจากเค้าโครงเดิมอยู่ไม่มากก็น้อย (บางคนบอกมันเป็นการสอบในระบบเดิม ๆ เพียงแต่ แบ่งส่วนให้เห็นกันจะๆ ทุกช็อตเท่านั้นเอง) 

     ตัวละครใหม่ TCAS หรือ Thai University Center Admission System ระบบการคัดเลือกเด็กเข้าสถาบันอุดมศึกษาของไทย ที่มีการจัดเรื่องราวไว้เป็น 5 รอบ ตั้งเป้ารับนักศึกษาทั้งสิ้น 206,506 คน เริ่มด้วย รอบที่ 1 การรับด้วย Portfolio หรือแฟ้มสะสมผลงาน (รับ 44,258 คน) รอบที่ 2 การรับแบบโควตา (รับ 68,050 คน) รอบที่ 3 การรับตรงร่วมกัน (รับ44,390 คน) รอบที่ 4 การรับแบบ Admissions (รับ 34,744 คน) และรอบที่ 5 การรับตรงอิสระ (รับ 15,064 คน)

TCAS ลดเหลื่อมล้ำ??

     โดยหลักการปรับชื่อเปลี่ยนลุคใหม่ครั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนอยู่ในห้องเรียนจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนแต่ละคนมีเพียง 1 สิทธิ ในการตอบรับสาขาวิชาที่เลือกเพื่อความเสมอภาค และสถาบันอุดมศึกษาในเครือข่ายทปอ.ทุกแห่งจะต้องเข้าระบบเคลียริ่งเฮาส์ เพื่อบริหาร 1 สิทธิ์ของนักเรียน และตัดปัญหาการกั๊กที่เรียนความไม่เสมอภาค เพราะที่ผ่านมานักเรียนที่มาจากครอบครัวฐานะร่ำรวยมีสิทธิ์สมัครเรียนมากกว่านักเรียนที่มาจากครอบครัวฐานะยากจน

     ลดความเหลื่อมล้ำ รวย-จน เก่งมาก-เก่งน้อย เกิดความเสมอภาคได้หรือ..( อ. ล้านตัว)

    เมื่อพิจารณาจาก 5 ระบบที่วางไว้ ถ้าไม่เข้าข้างหรือเอนเอียงเกินไป เห็นชัดว่า ตุ๊กตาตัวแรกสะท้อนความเหลื่อมล้ำของสังคมเสียแล้ว… เพราะสังคมไทยที่เกิดขึ้นจริง “เด็กครอบครัวฐานะดีย่อมมีโอกาสมากกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน” ด้วยการเข้าถึงแหล่งความรู้ดีๆ ค่ายดีๆ ความสามารถพิเศษดีๆ แล้ว “แฟ้มสะสมงาน เกรด โอกาส” จะไม่ดี ไม่เก่งได้อย่างไร

TCAS ลดเหลื่อมล้ำ??

       การใช้ Portfolio หรือ แฟ้มสะสมผลงาน หากเด็กหนึ่งคนมีโปรไฟล์ดี เก่ง รวย ความสามารถเพียบ ย่อมยื่นสมัครเข้าที่ไหนก็ได้ ...ถ้ายื่นสมัครรอบที่ 1 ติด แต่ไม่พอใจสละสิทธิ์ไปรอบอื่นๆ ค่าใช่จ่ายอีกเท่าใดที่เสียไปก็ใช่สำคัญ (ครอบครัว support ได้ )ขณะที่รอบ 2 โควตา ไม่ได้จำกัดเฉพาะโควตาพื้นที่นะจ๊ะ โควตาเรียนดี กีฬาเด่น ช้างเผือก และโควตาพิเศษต่างๆ อีกเพียบ ใครมีโควตาอะไรยื่นได้ทุกมหาวิทยาลัยอีกเช่นเคย ถ้าไม่ติด ไม่อยากยื่น หรือยื่นแล้วไม่โดนสละสิทธิ์ ก็ไปต่อโลด

      หาก เด็กคนไหน เลือกที่เรียน คณะ มหาวิทยาลัยในใจ รู้เส้นทางชีวิตของตนเอง รู้ความถนัด ความชอบ และมีศักยภาพเพียงพอในการยื่นPortfolio หรือโควตา จะได้ที่เรียนสมใจ พอใจ ไม่ต้องวิ่งต่อไปรอบอื่นๆ แต่ “เด็กที่ค้นหาตัวเอง รู้จักตัวเอง และพอใจในคณะ มหาวิทยาลัยที่ใฝ่ฝัน” ไม่ได้เลือกและกั๊กสิทธิ์ใคร มีจำนวนมากหรือน้อย คงต้องย้อนกลับไปดูที่การเลี้ยงดูว่าครอบครัวแบบไหนกันที่ช่วยปลูกฝัง สนับสนุนให้เด็กเกิดกระบวนการ “ค้นพบ” ตัวเองได้

     โลกความจริง “ยิ่งรวย โอกาสยิ่งมาก ยิ่งรวย ความเก่งที่เงินสรรสร้างให้ได้ยิ่งสูง” และความพอใจของแต่ละคนไม่เท่ากัน ทำอย่างไรให้เด็กรู้จักพึงพอใจในสิ่งที่ตนเองมี … อีกหนึ่งคำถามที่ได้จากระบบ TCAS

TCAS ลดเหลื่อมล้ำ??

 

 

     มาต่อด้วย รอบที่สำคัญไม่น้อย “รอบ 3 การรับตรงร่วมกัน อาหารหรูของเด็กเก๊ง เด็กเก่ง” ด้วยเหตุครั้งแรก!!! ที่การคัดเลือกกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) เป็น 1 ใน 4 สาขาวิชาที่เด็กสามารถเลือกได้ และถ้าเลือก 1 สาขาวิชาของ กสพท. ก็ต้องเลือกอีก 3 สาขาวิชา ก่อนจะถูกประมวลผล (ผ่านคะแนน)ตัดเหลือเพียง 1 สาขาวิชา คนเก่งคะแนนถึงก็เลือกได้ตามใจ โดยใช้การสอบกลาง อย่าง โอเน็ต แกต/แพต และวิชาสามัญ9 วิชา เป็นต้น ร่วมกันในเวลาเดียวกัน แต่ละสถาบันกำหนดเกณฑ์ที่เป็นอิสระของตนเอง ใครเลือกรอบนี้หมดสิทธิ์ เข้ารอบ 4 แอดมิชชั่น ที่เลือกได้ 4 อันดับเช่นกัน และหาก 4 รอบ ไม่ถูกใจ คะแนนไม่ได้ ต้องเข้ารอบ 5 รับตรงอิสระที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะจัดขึ้น

      ทุกรอบเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือก และ 1 คน มี1 สิทธิ์เท่านั้น อีกทั้ง 5 รอบ รับจำนวนจำกัด แต่ถึงอย่างนั้น สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ ทุกรอบล้วนเสียค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าสมัคร ค่าเดินทาง ค่าที่พัก(ตจว.) นั่นด้วยตารางสมัครของแต่ละมหาวิทยาลัยแล้วแต่ใครจะกำหนด

      อย่างงี้! เด็กรวยจะไม่กวาดโอกาสเลือกที่นั่งให้แก่ตัวเองคงไม่ใช่ เมื่อเกิดเหตุการณ์วนลูป เด็กรวยสมัครได้เยอะเพราะตังค์เยอะ แล้วเด็กจนหละโอกาสอยู่ไหน

     ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่าโดยส่วนตัวมองว่าสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ในระดับนัยยะสำคัญ แต่เป็นการแก้ปัญหาปลายทาง เพราะการเข้ามหาวิทยาลัยเป็นผลจากการลงทุนตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งเด็กจะเก่งไม่เก่งย่อมถูกกำหนดด้วยสถานะทางเศรษฐกิจ คนที่มีพื้นฐานร่ำรวยกว่า ย่อมมีโอกาส สร้างพื้นฐานได้ดีกว่า และเก่งกว่า ซึ่งถ้าจะลดความเหลื่อมล้ำจริงๆ ต้องมองเรื่องโควตาพื้นที่ ที่กระจายกลุ่มออกไปให้คนที่ด้อยโอกาสในสัดส่วนที่มากขึ้น

    “ด้วยระบบการศึกษาของไทย การคัดเลือกคนเข้ามหาวิทยาลัยเป็นการคัดคนเก่ง ทั้งที่ความเป็นจริงต้องสร้างทุกคนให้เก่งเหมาะสมกับศักยภาพของเด็กแต่ละคน วัดกันที่ความสามารถ ทักษะการทำงาน ไม่ใช่วัดด้วยคะแนนสอบ เกรดเฉลี่ย และต้องเปลี่ยนมุมมองความคิด ต้องพัฒนาเด็กตั้งแต่เล็ก ให้เด็กด้อยโอกาส มาจากครอบครัวยากจนได้รับโอกาสทางสังคม ใกล้เคียงกัน มีแต้มต่อ เช่น การดูแลตั้งเด็ก ได้เรียนกับครูที่ดีมีความสามารถ ใกล้เคียงกันต้องให้ข้อมูลตลาดแรงงานเงินเดือนรู้ตารางอาชีพ อาชีพไหน ที่ตลาดแรงงานต้องการ ทำให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้น เพื่อเลือกเดินชีวิตได้ถูกทางเป็นต้น” ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวทิ้งท้าย

     ถ้าวันแรกที่เรียน เด็กได้เรียนด้วยวิธีไม่เก่ง ก็เรียนออกมาไม่เก่งด้วย ต่อให้เปลี่ยนระบบปลายทางเข้ามหาวิทยาลัย ก็ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่ได้

o ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected] o