ไลฟ์สไตล์

เราใช้น้ำมากแค่ไหนใน 1 วัน

ปริมาณการใช้น้ำของคนในเขตเมืองหลวง ปี 2559 พบตัวเลขสูงถึง 218.85 ลิตร/คน/วัน และอาจสูงขึ้นมากกว่านั้นหากเปิดก๊อกน้ำทิ้งไว้

 


               การจิบกาแฟยามบ่ายดูจะเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้สิ้นเปลืองน้ำเท่าไหร่ แค่น้ำร้อนถ้วยหนึ่งเท่านั้น แต่นักสิ่งแวดล้อมกลับบอกเราว่า การดื่มกาแฟ 1 ถ้วย เท่ากับการใช้น้ำมากถึง 140 ลิตร
               จากข้อมูลของการประปานครหลวง ปี 2559 พบว่า ปริมาณการใช้น้ำของคนในเขตเมืองหลวง อยู่ที่ 218.85 ลิตร/คน/วัน ตัวเลขนี้อาจสูงถึง 250 ลิตรต่อวันสำหรับเมืองใหญ่ และอาจสูงขึ้นมากกว่านั้น ถ้ามีใครเปิดก๊อกน้ำทิ้งไว้ขณะแปรงฟัน ล้างจานหรือซักผ้า (สูญเสียน้ำ 9 ลิตรต่อนาที) รวมถึงบางบ้านที่ใช้อ่างอาบน้ำ (สูญเสียน้ำ 80 - 110 ลิตรต่อครั้ง) และบางคนที่ยังใช้สายยางฉีดน้ำล้างรถ (สูญเสียน้ำ 150 – 200 ลิตรต่อครั้ง)

 

เราใช้น้ำมากแค่ไหนใน 1 วัน

 


               แต่นั่นยังไม่ใช่ทั้งหมดของปริมาณน้ำจริงๆ ที่เราใช้
               นักสิ่งแวดล้อมชวนให้เรามองลึกลงไปถึงเส้นทางการผลิตสินค้าแต่ละชิ้น เช่น กาแฟ 1 ถ้วย ต้องใช้น้ำตั้งแต่การปลูกต้นกาแฟ การผลิตในโรงงานซึ่งต้องมีการบำบัดน้ำเสีย จนกระทั่งการขนส่งกาแฟสำเร็จรูปเหล่านั้นมาถึงมือพวกเรา...แนวคิดเช่นนี้เปิดเราสู่ภาพความจริงของการใช้น้ำที่ซ่อนแฝงอยู่ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเราเองคือผู้ที่ใช้น้ำเหล่านั้นในทางอ้อม
               พวกเขาเรียกแนวคิดนี้ว่า Water Footprint หรือ "ร่องรอยการใช้น้ำ"
               แนวคิดนี้ เริ่มขึ้นเมื่อปี 2002 และกำลังเป็นที่สนใจเพิ่มมากขึ้น เป็นการวัดว่าผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้น มีการใช้น้ำทั้งทางตรงและทางอ้อมมากน้อยเพียงใด ตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิต ไปจนถึงมือผู้บริโภค

 

เราใช้น้ำมากแค่ไหนใน 1 วัน

 

               ตัวอย่างปริมาณน้ำที่ใช้ในการผลิตสินค้าต่างๆ


               - มะเขือเทศ 1 กิโลกรัม  ใช้น้ำ 180 ลิตร
               - ไข่ 1 ฟอง ใช้น้ำ 200 ลิตร
               - น้ำตาล 1 กิโลกรัม ใช้น้ำ 1,500 ลิตร
               - แฮมเบอร์เกอร์ 1 ชิ้น ใช้น้ำ 2,400 ลิตร
               - ข้าว 1 กิโลกรัม ใช้น้ำ 3,400 ลิตร
               - เนื้อไก่ 1 กิโลกรัม ใช้น้ำ 3,900 ลิตร

               
               ตัวเลขเหล่านี้บนฉลากสินค้าจะช่วยให้ผู้บริโภคตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้น้ำ และหันไปเลือกซื้อสินค้าที่มี Water Footprint น้อยกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ผลิตก็ต้องปรับตัวตามด้วยการพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าให้สิ้นเปลืองน้ำน้อยลง ซึ่งสุดท้ายแล้ว นี่คือพฤติกรรมที่จะนำไปสู่แนวทางการใช้น้ำที่ยั่งยืนมากขึ้น นี่คือแนวคิดที่ไม่เพียงคิดถึงตัวเอง หรือประเทศของตัวเอง แต่คิดถึงทรัพยากรทั้งโลก
               หากคุณกำลังคิดจะสั่งพิมพ์เรื่องราวนี้ลงบนกระดาษ ก็อย่าลืมนึกถึงร่องรอยการใช้น้ำประมาณ 10 ลิตร ซึ่งแฝงอยู่ในกระบวนการผลิตกระดาษ A4 หนึ่งแผ่นในมือคุณด้วย

ข่าวยอดนิยม