
‘เหรียญหลวงพ่อทองศุข’รุ่น๒ วัดโตนดหลวงเพชรบุรี (๒)
โดย..........ศาล มรดกไทย
(ต่อจากฉบับเมื่อวานนี้)
เมื่อครั้งที่ หลวงพ่อทองศุข รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโตนดหลวง ท่านได้บูรณะวัดที่ทรุดโทรมมาก จึงมีศิษย์ที่มาช่วยทำงานบูรณะวัด ในครั้งนั้นต้องเดินทางไปตัดไม้ในป่า หลวงพ่อจึงได้สร้าง เครื่องรางของขลัง มอบให้ติดตัวในยุคแรก เช่น ตะกรุด ผ้ายันต์ จนเป็นที่ร่ำลือในด้านพุทธคุณ ทั้งเรื่องคงกระพันชาตรี เมตตาค้าขาย ทำให้เครื่องรางของขลัง ของหลวงพ่อเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง สร้างชื่อเสียงให้ท่านเป็นอย่างมาก แม้กระทั่ง การสักยันต์ ของหลวงพ่อก็เป็นที่นิยมและมีชื่อเสียงมาก เป็นที่รู้จักทั่วประเทศ
ต่อมาเมื่อมีพิธีปลุกเสกพระเครื่องรายการใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดต่างๆ จึงมักจะมีชื่อของหลวงพ่อทองศุขไปร่วมพิธีด้วยเสมอ ในหลายๆ งาน
หลวงพ่อมีศิษย์ที่เป็นฆราวาสระดับข้าราชการชั้นสูงหลายๆ ท่าน อาทิ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา, พันเอกพระยาศรีสุรสงคราม ฯลฯ รวมถึงศิษย์ที่เป็นพระสงฆ์ที่มาขอเรียนวิชา และมีชื่อเสียงในเวลาต่อมา คือ หลวงพ่อเพลิน วัดหนองไม้เหลือง, หลวงพ่อจ่าง วัดเขื่อนเพชร, หลวงพ่อพาน วัดโป่งกะสัง, หลวงพ่อยิด วัดหนองจอก, หลวงพ่ออุ้น วัดตาลกง ฯลฯ
วัตถุมงคลของหลวงพ่อที่สร้างขึ้นและได้รับความนิยมจนถึงทุกวันนี้ได้แก่ ตระกรุดพอกครั่ง, ตะกรุดชุด, ตะกรุดสาริกา, ลูกสะกด, ผ้ายันต์, แหวน, รูปหล่อ และที่มีชื่อเสียงได้รับความนิยมที่สุด คือ เหรียญรูปเหมือน ทั้ง ๒ รุ่น โดยเหรียญรุ่นแรก สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒ ในงานยกช่อฟ้าอุโบสถ นับเป็นเหรียญที่นิยมและหาได้ยาก
แต่เหรียญรุ่นแรกความนิยมจะเป็นรอง เหรียญรุ่น ๒ พ.ศ.๒๔๙๘ เนื่องจากใบหน้าของเหรียญรุ่น ๒ เหมือนหลวงพ่อมากกว่า เหรียญรุ่น ๒ สร้างขึ้นเพื่อแจกในงานฉลองกุฏิ จำนวนสร้างไม่มีการบันทึกไว้ คาดว่ารวมๆ กัน ไม่ถึงหนึ่งหมื่นเหรียญ มีเนื้อทองคำ เงิน และเนื้อทองแดง
ลักษณะเหรียญรุ่น ๒ ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อครึ่งองค์ ข้างบนมีคำว่า “พระครูทองศุข อินทโชโต” ด้านหลังตรงกลางเป็นยันต์ประจำตัวท่าน บนสุดมีคำว่า “ที่ระลึกในงานฉลองกุฏิ” ล่างสุดมีคำว่า “วัดโตนดหลวง ๒๔๙๘”เหรียญทั้งหมดนี้ได้ปั๊มเนื้อทองแดงก่อน หลังจากได้จำนวนหลายพันเหรียญแล้ว แม่พิมพ์ได้เคลื่อน ทำให้ด้านหน้าตรงอักษร “อินทโชโต” สระ อิ มีเนื้อเกินขึ้นมาชิดติดขอบเหรียญ
เมื่อปั๊มเนื้อทองแดงได้ครบตามจำนวนแล้ว จึงจะปั๊มเนื้อเงินกับเนื้อทองคำ ทั้ง ๒ เนื้อนี้ สระ อิ มีเนื้อเกินทั้งหมด ปัจจุบันได้แบ่งเป็น ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์ “อิลอย” และพิมพ์ “อิติด”
เหรียญรุ่นนี้ด้านหลังจะแอ่นแบบกระทะเล็กน้อย ขอบข้างใช้วิธีปั๊มตัดแบบโบราณ โดยมีเหรียญจำนวนหนึ่งไม่มากนัก จะมีการติด เนื้อครั่ง เอาไว้ที่ด้านหลังเหรียญ เพื่อเพิ่มความเข้มขลัง
span class=“KL_Bold”> เหรียญหลวงพ่อทองศุข รุ่น ๒ เป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมสูงมากในขณะนี้ ด้วยประสบการณ์แบบเล่าขานมานาน จนเป็นที่เชื่อถือในด้านพุทธคุณ
หลวงพ่อทองศุข เป็นพระเกจิอาจารย์ชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ที่มีวิชาอาคมเข้มขลัง ปลุกเสกพระเครื่องและเครื่องราง มีประสบการณ์เป็นที่เชื่อถือของชาวเมืองเพชรบุรี และประชาชนทั่วเมืองไทย เป็นหนึ่งในเหรียญสุดยอดพระเกจิอาจารย์ที่ควรค่าในการสะสมบูชา
ขอขอบพระคุณ ท่านที่เอื้อเฟื้อภาพและข้อมูล คุณประชุม ศุภมณีวิทย์ศิริ, คุณพายุ วัชรสาร, คุณชัยสิทธิ์ อิ่มบูรณประวัติ และ คุณบอย พดด้วง