Lifestyle

“เบนโซไดอาซีปีน”ยาที่พบในปัสสาวะ“ท็อป บิ๊กแบง”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เบนโซไดอาซีปีน" เป็นยาอะไร แพทย์บอกพบในปัสสาวะ "ท็อป บิ๊กแบง"

       จากที่ทีมแพทย์ รพ.มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวามกดง แถลงอาการของ"ท็อป บิ๊กแบง"ว่า แพทย์ตรวจปัสสาวะพบยากลุ่มเบนโซไดอาซีปีน(Benzodiazepines)

       เวบไซต์ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเกี่ยวกับยาเบนโซไดอาซีปีนว่า  เป็นกลุ่มยานอนหลับ และยาคลายเครียดที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีอาการข้าง เคียงน้อยยากลุ่มนี้ใช้ในทางคลินิกเป็นยานอนหลับและยาคลายเครียด ยาคลายกล้ามเนื้อและ ยารักษาโรคลมชัก โดยสามารถแบ่งกลุ่มยา เป็นยาที่ออกฤทธิ์สั้น ปานกลาง หรือยาว ขนาดของยาที่ทำให้เป็นพิษก็แตก ต่างกันแล้วแต่ชนิดของ ยาและ บุคคลแต่ละคน โดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะมีอาการพิษจากยาเมื่อได้รับยานั้นๆ เข้าไปปริมาณเป็นหลายเท่า ของขนาดยาที่ใช้ในการรักษา

     อาการทางคลินิก หลังจากที่ผู้ป่วยรับประทานยาเข้าไปแล้วจะมีอาการง่วงซึม อาการจะเริ่มต้นภายใน 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมง ในระยะแรกอาจจะมีอาการตื่นเต้นร่วมด้วย หลังจากนั้นจะค่อยๆ ซึมลง พูดจาวกวน ขยับสะเปะสะปะ ถ้าเป็นมาก จะซึมจนหมดสติได้ ในกรณีที่ ผู้ป่วยได้รับการฉีดยา เช่น diazepam เข้าหลอดเลือดดำโดยตรง หรือระยะหลังมีรายงานผู้ป่วยถึง แก่ชีวิตหลาย ราย เนื่องจากหยุดหายใจโดยการได้รับยาเกินขนาด โดยเฉพาะจะเป็นยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์สั้น

        การรักษา การรักษาภาวะเป็นพิษจากเบนโซไดอาซีปีน คือ ให้การรักษาแบบประคับประคองผู้ป่วยทั่วไปโดยเฉพาะการ ดูแล การหายใจ ป้องกันอาการแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น และพิจารณาลดการดูดซึมของยา

       ขณะที่กลุ่มงานเภสัชกรรม สถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้ข้อมูลไว้ในเวบไซต์gotoknow ว่า เบนโซไดอะซีปินเป็นยากล่อมประสาท ออกฤทธิ์ในการกดประสาทส่วนกลาง ผลการออกฤทธิ์มีหลายอย่าง ได้แก่ ลดอาการวิตกกังวล สงบประสาท คลายกล้ามเนื้อ และต้านอาการชัก เบนโซไดอะซีปินจึงถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย

       ในการบำบัดผู้ติดยาเสพติด มักมีการสั่งใช้เบนโซไดอะซีปินเพื่อทำให้ผู้ป่วยสงบ และนอนหลับได้ โดยทั่วไปมักให้เบนโซไดอะซีปินที่ออกฤทธิ์ยาว เนื่องจากมีข้อดีที่ระดับยาในเลือดค่อนข้างคงที่ จึงไม่ต้องให้ยาวันละหลายครั้ง ในขณะที่เบนโซไดอะซีปินที่ออกฤทธิ์สั้น จำเป็นต้องให้ยาวันละหลายๆ ครั้ง แต่อย่างไรก็ตามควรระมัดระวังการให้เบนโซไดอะซีปิน ที่ออกฤทธิ์ยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยมีการทำงานของตับไม่ดีซึ่งจะมีเมตาโบลิซึมของยาลดลง หากให้ยาในขนาดสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจเกิดการสะสมของยาจนเกินขนาดขึ้นได้

      ภาวะเบนโซไดอะซีปินเกินขนาด ผู้ป่วยจะมีอาการง่วงนอนมากผิดปกติและอัตราการหายใจลดลง แก้ไขได้โดยฉีดยาต้านฤทธิ์เบนโซไดอะซีปิน ทางหลอดเลือดดำ ให้ซ้ำได้ทุก 1 นาที จนกระทั่งผู้ป่วยรู้สึกตัว หรือขนาดทั้งหมดไม่เกิน 2 มก. โดยยานี้จะแย่งจับกับตัวรับของเบนโซไดอะซีปินทำให้เกิดการยับยั้งฤทธิ์ของเบนโซไดอะซีปินที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง

     ดังนั้นเพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงของอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการให้ยาเบนโซไดอะซีปิน จึงควรมีการเฝ้าระวังสังเกตอาการผู้ป่วย เช่น ภาวะง่วงซึมผิดปกติ จิตใจสับสนหรือเชื่องช้า ตลอดจนการติดตามวัดสัญญาณชีพเป็นระยะๆ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ