ไลฟ์สไตล์

ระวัง! ไดโนเสาร์ข้ามถนน ที่กาฬสินธุ์

ระวัง! ไดโนเสาร์ข้ามถนน ที่กาฬสินธุ์

12 ก.ย. 2552

บนทางหลวงหมายเลข 227 จาก อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ เมื่อใกล้จะถึง อ.สหัสขันธ์ ใครๆ ต้องอมยิ้มเมื่อเห็นป้ายคำเตือนอันแสนจะน่ารักของ อบต.นิคมสร้างตนเองลำปาว ผู้รุ่มรวยอารมณ์ขัน แต่เพียงชั่วอึดใจ คุณอาจตะลึงจนต้องเหยียบเบรก เมื่อเห็นกองทัพไดโนเสาร์ทำท่าว่ากำลังเค

 บอกให้คนเดินทางรับรู้ว่า คุณกำลังย่างก้าวสู่ดินแดนที่เคยเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ดึกดำบรรพ์ ที่ถูกขนานนามว่า “สัตว์เลื้อยคลานที่น่ากลัวมาก” (ไดโน <ภาษากรีก> แปลว่า น่ากลัวมาก, ซอรัส = สัตว์เลื้อยคลาน) จากนั้น เมื่อขับรถต่อไปราว 3 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาที่ข้างโรงเรียนสหัสขันธ์ศึกษาอีกราว 1 กม. คุณอาจต้องตกตะลึงยิ่งกว่า เมื่อพบอาณาจักรแห่งการเรียนรู้เรื่องไดโนเสาร์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย หรืออาจจะพูดได้ว่าใหญ่สุดในอาเซียน ซึ่งได้รับพระราชทานนามว่า “พิพิธภัณฑ์สิรินธร” ณ บริเวณเชิงภูกุ้มข้าว ภูที่มีรูปร่างคล้ายกองข้าวเปลือก แต่ที่สำคัญคือ เป็นแหล่งขุดค้นพบซากฟอสซิลของโครงกระดูกไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ภายใต้ตัวหนังสือที่ติดตั้งไว้เกือบถึงยอดภูจนมองเห็นมาแต่ไกล เย้ายวนใจให้เข้าไปสัมผัสว่า “อุทยานโลกไดโนเสาร์”

 ภายในจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับไดโนเสาร์และโบราณชีววิทยาอย่างครบถ้วนและทันสมัยที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา ชนิดที่สามารถเข้าไปซึมซับองค์ความรู้เรื่องสัตว์โลกล้านปีได้เป็นวันๆ โดยไม่เบื่อ เพราะนอกจากจะตื่นตากับโครงกระดูกจำลองขนาดเท่าของจริง ของ “สยามโมไทรันนัส อีสานเนนซิส” ไดโนเสาร์กินสัตว์จอมดุที่ค้นพบซากฟอสซิลในภาคอีสานของไทยเป็นครั้งแรกแล้ว ยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้เพลิดเพลินมากมาย เช่น แท้ที่จริงแล้ว “ครีบ” ที่สันหลังของเจ้า “สเตโกซอรัส” ไดโนเสาร์กินพืชผู้น่ารัก คืออุปกรณ์ระบายความร้อน (Heat ventilation) พูดง่ายๆ ว่า เขามีพัดลมประจำตัวสุดเท่ ส่วนหนามแหลมที่แผ่นหลังและหางของ “แองคีโอซอรัส” ก็มีไว้เป็นอาวุธป้องกันตัว ทดแทนความอุ้ยอ้ายและเชื่องช้า แต่ที่น่าทึ่ง คือ เจ้าไดโนเสาร์ที่มีหงอนที่หัว นั่นคือเครื่องส่งเสียงหอน (Howling crests) เอาไว้ข่มขู่ศัตรูและเรียกพวกเดียวกัน

 ขอขอบคุณกรมทรัพยากรธรณี ที่สร้างสรรค์แหล่งเรียนรู้ชั้นเยี่ยมไว้ให้เยาวชนและคนไทย ที่สำคัญคือ สร้างไว้ใกล้เด็กๆ ในชนบทภาคอีสาน ซึ่งที่ผ่านมาไม่ค่อยได้รับโอกาสดีอย่างนี้ เพราะพิพิธภัณฑ์ชั้นเลิศนั้นกระจุกตัวอยู่แต่ในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ รวมทั้งต้องขอบคุณนักธรณีวิทยาอย่าง อาจารย์วราวุธ สุธีธร ผู้ทุ่มเทชีวิตให้แก่การศึกษาค้นคว้าและขุดค้นซากฟอสซิลของเหล่าบรรพชีวิน จนได้รับสมญานาม “มิสเตอร์ไดโนเสาร์” ของไทย ผมคิดว่า ถ้าไม่มีความบากบั่นทุ่มเทของท่านและทีมงาน กรมทรัพย์ก็คงไม่ให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันเช่นนี้ เพราะโอกาสที่จะพบซากไดโนเสาร์มักอยู่ในเขตป่าเขาอันทุรกันดาร อย่างผืนป่าภูเวียง ที่ขอนแก่น หากไม่มีใจรักและทุ่มเทจริงๆ ใครจะยอมไปลำบากให้เปลืองตัว วงการโบราณชีววิทยาโลกก็มองเห็นความจริงข้อนี้ จึงปรากฏชื่อทางวิทยาศาสตร์ของไดโนเสาร์หลายชนิดที่ค้นพบครั้งแรกในไทย โดยมีคำว่า “สุธีธร” รวมอยู่ด้วย อย่างเจ้าไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ชื่อเต็มๆ ที่โลกรับรู้คือ “สยามโมไทรันนัส อีสานเนนซิส บุพฟโต สุธีธร แอนด์ตง”

 กล่าวเฉพาะแหล่งไดโนเสาร์ ณ ภูกุ้มข้าว กาฬสินธุ์ ปฏิเสธไม่ได้ที่สังคมไทยจะต้องกราบนมัสการขอบพระคุณ พระครูวิจิตรสหัสคุณ ท่านเจ้าอาวาสวัดสักกะวัน ในฐานะที่ท่านเป็นผู้พบและเก็บรักษาซากฟอสซิลของสัตว์ขนาดใหญ่ไว้ตั้งแต่ปี 2513 ตราบจนเมื่อ อ.วราวุธ ไปสำรวจในปี 2521 แล้วพิสูจน์ทราบแน่ชัดในปี 2532 ว่าเป็นกระดูกขาหน้าของ “ซอโรฟอด” ไดโนเสาร์คอยาวกินพืช นำไปสู่การขุดค้นพบซากฟอสซิลอีกถึง 700 ชิ้น ของซอโรพอด 7 ตัว ที่มีชีวิตอยู่ในยุคครีเตเชียส ราว 130 ล้านปีก่อน วางเรียงเป็นโครงร่างเกือบสมบูรณ์ สันนิษฐานว่าเกิดภัยธรรมชาติบางอย่างทำให้ซอโรพอดฝูงนี้นอนตายทับถมกัน จนกลายเป็นสุดยอดแหล่งเรียนรู้ไดโนเสาร์ของไทยในวันนี้

 แม้ว่าตำนานการค้นพบจะมีเรื่องของนิมิตและอิทธิปาฏิหาริย์ของท่านพระครูมาเกี่ยวข้อง แต่ก็กลายเป็นข้อดีในการอนุรักษ์ซากฟอสซิลทรงคุณค่านี้ไว้ เพราะก่อนที่ อ.วราวุธ และกรมทรัพยากรธรณี จะเข้ามาดูแล ก็เป็นธรรมดาที่จะมีคนเห็นแก่ตัวลักลอบขโมยชิ้นส่วนไดโนเสาร์ไป แต่ปรากฏว่าเกือบทุกคนต้องนำมาคืน เพราะประสบเหตุร้ายในชีวิตสารพัด บางคนต้องให้ญาติส่งคืน เพราะตัวเองทุพพลภาพ กระทั่งต้องจบชีวิตไปเลยก็มี จะเป็นเพราะอาถรรพณ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าวหรือไม่ ยากจะมีใครพิสูจน์ แต่บางทีอาจเป็นอย่างคำพูดที่ประดับไว้ตรงทางเข้า “พิพิธภัณฑ์สิรินธร” ที่ว่า...ผู้อยู่รอด คือผู้ที่รู้จักปรับตัวเข้าหาสภาพแวดล้อม ไม่ใช่ปรับสภาพแวดล้อมไปตามความต้องการที่ไม่สิ้นสุด!

 พิพิธภัณฑ์สิรินธร อุทยานโลกไดโนเสาร์ และสถานีวิจัยไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว ข้างวัดสักกะวัน อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน เวลา 08.00-17.30 น. โทร.0-4387-1014 แต่สำหรับท่านที่ขับรถไปเอง อย่าลืมระวังไดโนเสาร์ข้ามถนนให้ดีก็แล้วกัน

เรื่อง - ภาพ... "ธีรภาพ โลหิตกุล"