ไลฟ์สไตล์

ต่างชาติร่วมทุนการศึกษาไทยดี-ไม่ดี?

แม้มีความคิดเห็นหลากหลาย แต่ถ้ามองในแง่บวกถือเป็นโอกาสที่ดี มหาวิทยาลัยไทยได้ปรับปรุงตัวทั้งการเรียนการสอน เตรียมความพร้อมให้บัณฑิต เพราะจะผลิตแบบเดิมคงไม่ได้

          เป็นประเด็นกันทีเดียว   หลังจากประกาศราชกิจจานุเบกษา คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 29/2560 เรื่อง การส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ เพื่อให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาและการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ                    สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล จําเป็นต้องเสริมสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี และวิทยาการที่มีคุณภาพและทันสมัย ให้กับเยาวชน ที่จะเป็นทรัพยากรบุคคลสําคัญของชาติ โดยให้ต่างชาติเปิดมหาวิทยาลัยในเขตเศรษฐกิจพิเศษ รองรับศูนย์กลางการศึกษาภูมิภาคอาเซียน เน้นสาขาขาดแคลน

ต่างชาติร่วมทุนการศึกษาไทยดี-ไม่ดี?

          ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า การให้ต่างชาติเข้ามาเปิดมหาวิทยาลัยในไทยนั้น โดยส่วนตัวถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้มหาวิทยาลัยของไทยมีความตื่นตัว กระตือรือร้นในการพัฒนาตนเองมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมหาวิทยาลัยต้องไม่หยุดนิ่ง

       เพื่อเพิ่มเติมศักยภาพของตนเองตลอดเวลา นำไปสู่การพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน การวิจัย นวัตกรรม ผลิตบัณฑิตรองรับความต้องการของประเทศและประชาคมโลก อีกทั้ง ทำให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเตรียมพร้อม และเห็นความแตกต่างระหว่าง มหาวิทยาลัยไทยและต่างชาติ

         อย่างไรก็ตาม การให้ต่างชาติเข้ามาเปิดมหาวิทยาลัยในไทยย่อมมีผลต่อความอยู่รอดของมหาวิทยาลัย เพราะขณะนี้ เด็กน้อยลง แต่มหาวิทยาลัยจะเพิ่มขึ้น ซึ่งมหาวิทยาลัยต้องแข่งขันเพื่อให้นักศึกษาเลือกเรียนสถาบันของตนเอง โดยต้องแข่งกันที่คุณภาพ มาตรฐาน

         “อย่ามองว่า ต่างชาติเข้ามาเปิดม.ในไทยแล้วไม่ดี เพราะการเปิดคงไม่ได้ทำง่ายๆ ต้องมีกระบวนการ การตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐาน และอะไรอีกหลายอย่าง คงไม่ใช่อยากเปิดก็ให้เปิด ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องพัฒนาตนเอง และต้องใช้โอกาสนี้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อพัฒนาบัณฑิตทรัพยากรบุคคลกลายเป็นกำลังของประเทศต่อไป”ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

          ขณะนี้แม้มีความคิดเห็นหลากหลาย ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ถ้ามองในแง่บวกภาพรวม ถือเป็นโอกาสที่ดี เพราะมหาวิทยาลัยจะผลิตบัณฑิตแบบเดิมๆ คงไม่ได้

ต่างชาติร่วมทุนการศึกษาไทยดี-ไม่ดี?

         รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า โดยส่วนตัวอยากให้มองภาพบวกมากกว่าภาพลบ เพราะการที่มหาวิทยาลัยต่างชาติมาเปิดในไทยนั้น อาจทำให้มหาวิทยาลัยไทยมีคู่แข่งมากดดันให้ต้องมีความกระตือรือร้น ตื่นตัวพัฒนามากยิ่งขึ้น และทำให้สูญเสียเด็กเก่ง แต่ถ้ามองเด็กที่ไปเรียนในม.ต่างประเทศนั้นจะเห็นได้ว่าเป็นคนละกลุ่ม

       ดังนั้น ผลกระทบ อาจเสียเด็กเก่งมีอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าไม่มากเมื่อเทียบกับแรงกระตุ้นที่ทำให้มหาวิทยาลัยปรับตัวการเรียนการสอน นำแบบอย่างที่ดีของม.ต่างชาติมาปรับใช้

        เท่าที่มีการคุยกับนักวิชาการหลายท่าน ต่างมองว่าตอนนี้การเรียนการสอนระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอกต้องปรับ เพราะถ้าเรียนแบบนี้อาจไม่ทำให้เกิดศักยภาพตามที่ประเทศต้องการ อีกทั้งตอนนี้อุดมศึกษาไทยเองมีวิกฤตหลายอย่าง และกำลังปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น"รศ.ดร.กิตติชัย กล่าว

           สิ่งที่หลายคนวิตกกังวล อย่าง การยกเว้นมาตรฐานการควบคุมบางอย่างกับต่างชาติที่มาตั้งมหาวิทยาลัยในไทย ทั้งที่มหาวิทยาลัยกับถูกตั้งมาตรฐานควบคุมมากมาย???

           รศ.ดร.กิตติชัย กล่าวต่อไปว่า ม.ต่างชาติ อาจไม่ได้ถูกควบคุมมาตรฐานมากเท่าม.ไทย แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ม.ต่างชาติที่เข้ามาในไทยต้องเป็นมหาวิทยาลัยคุณภาพ มีชื่อเสียง คงไม่เข้ามาไทยและทำให้ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยตนเองน้อยลง

       แต่ทั้งนี้ ก็ต้องย้อนกลับมาดูม.ไทยเองด้วย ว่าทำไมถูกควบคุมกำกับมาตรฐานคุณภาพ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)และมหาวิทยาลัยต่างชาติได้รับการยกเว้นบ้าง เรามีคุณภาพมาตรฐานแบบต่างชาติหรือไม่ จัดการเรียนการสอนได้คุณภาพหรือไม่ เด็กต่างชาติ เด็กไทยอยากเข้ามาเรียนหรือไม่

           “ความคิดเห็นเป็นเรื่องต่างคนต่างคิด ต่างชาติที่เข้ามาในไทย ต้องผ่านการพิจารณาตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน และต้องเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ ตั้งที่ไหนก็คงต้องคำนึงถึงคุณภาพ ไม่ทำให้เสียชื่อเสียง แต่มหาวิทยาลัยไทยโดนกรอบสกอ. สภาวิชาชีพแต่ถ้ามีคุณภาพก็ไม่น่าจะกังวล ในมุมผม ผมไม่ขัดที่ต่างชาติจะเข้ามาตั้งม.ในไทยรศ.ดร.กิตติชัย กล่าว

           ต้องมาดูภาคอุตสาหกรรม ต้องการแบบไหน ปรับปรุงหลักสูตร การเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ  ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร นายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) อธิบายว่าตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 เปิดให้ต่างชาติเข้ามาจัดตั้งสถาบันการศึกษาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อรองรับประชาคมอาเซียน หรือ เออีซี เป็นการให้บริการ ที่ลูกค้าจะต้องได้รับการบริการที่หลากหลาย และไม่ได้เป็นการแย่งลูกค้ากัน

ต่างชาติร่วมทุนการศึกษาไทยดี-ไม่ดี?

         อีกทั้งไม่สามารถที่จะไปปิดกั้นได้ และเมื่อปิดกั้นไม่ได้ต้องใช้โอกาสนี้สร้างความสามารถให้แก่มหาวิทยาลัยไทย ที่สำคัญต้องมีการต่อรอง หรือมีเงื่อนไขว่าเมื่อเปิดให้ต่างชาติเข้ามาจัดตั้งสถาบันการศึกษาในไทยแล้วจะต้องทำให้มหาวิทยาลัยไทยเก่งและได้ประโยชน์ด้วย

        ทั้งนี้ ในต่างประเทศเปิดให้ต่างชาติเข้ามาจัดการศึกษาได้ ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ ซึ่งประเทศไทยก็สามารถที่จะไปเรียนรู้จากประเทศอื่นๆได้ว่าเค้าดำเนินการกันอย่างไร เช่น ประเทศเมเลเซีย ก็เปิดให้ต่างชาติมาจัดการศึกษามา 20ปีแล้ว

       ส่วนความร่วมมือควรมีหลากหลาย เช่น ให้มหาวิทยาลัยต่างชาติเข้ามาจัดตั้งสถาบันการศึกษาเลย หรือ เป็นหลักสูตรร่วมก็ได้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความพร้อมของมหาวิทยาลัย หรือความพร้อมของแต่ละวิชา ส่วนของมก.ยังไม่ได้คุยกันว่าจะร่วมจัดการศึกษากับต่างชาติหรือไม่

        อย่างไรก็ตาม  คำสั่ง คสช. ดังกล่าว มีเป้าหมายคือการพัฒนา เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และ เขตเศรษฐกิจพิเศษอื่น ๆที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)กำหนด ดังนั้นมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมก็น่าจะเข้าร่วมได้แต่ก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ(คพอต.) 

        เมื่อการศึกษาไม่สามารถอยู่แบบเดิมได้ ก็ต้องหาหนทางที่เหมาะสม ปรับเปลี่ยนและพัฒนากันต่อไป..

           0 ชุลีพร  อร่ามเนตร 0  [email protected]