Lifestyle

ดราม่า“ตุ๊กแก”เงินล้าน ความลวงบนความจริง !

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ดราม่า“ตุ๊กแก”เงินล้าน ความลวงบนความจริง

                       คนทั่วไปอาจจะช็อกเมื่อได้ยินข่าวการซื้อขาย “ตุ๊กแก" (Gecko) ในราคาหลักแสนหลักล้าน  ถ้าหากถามว่า จริงหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า มีจริง แต่เป็นความจริงสองแบบคือมีคนตั้งราคาตุ๊กแกตัวละล้านจนถึงหลายล้านจริง แต่จะเกิดการซื้อขายหรือหาตัวตุ๊กแกตามสเปกที่ระบุไว้ว่าต้องยาวถึง 17-18 นิ้ว มาขายได้จริงหรือไม่เท่านั้นเหมือนตั้งราคา “ช้างน้ำ” ตัวละ 10 ล้าน ยังไงยังงั้น

                       ความจริงอีกแบบหนึ่งก็คือ มีผู้เพาะเลี้ยงตุ๊กแกขายเป็นกอบเป็นกำจริง ซึ่งนั่นเป็นหนึ่งในเส้นทางทำมาหากินโดยสุจริต เรื่องนี้เคยมี “ดราม่า” ในโลกออนไลน์มาแล้วหลายครั้ง อย่างเช่นที่ล่าสุดมีเจ้าของเต็นท์ซื้อขายรถยนต์มือสองใน อ.หาดใหญ่  จ.สงขลา โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กส่วนตัวรับซื้อ “ตุ๊กแก” ขนาดความยาวตั้งแต่ 17 นิ้วครึ่งขึ้นไป ในราคาเริ่มต้นที่ 1 ล้านบาท 

                         สุนทร ฉายวัฒนะ นักวิชาการสำนักสัตว์ป่าอนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้ความรู้ว่า จากที่มีข่าวการต้องการซื้อตุ๊กแกตัวขนาด 17 นิ้ว จากการสำรวจข้อมูลของกรมอุทยานฯ ยังไม่เคยเจอตุ๊กแกตัวใหญ่ขนาดนี้ โดยเฉพาะตุ๊กแกบ้าน ซึ่งใหญ่ที่สุดก็ประมาณ 13-14 นิ้วเท่านั้น ส่วนการซื้อขายขึ้นอยู่กับความพอใจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งปัจจุบันมีชาวบ้านในภาคอีสานนิยมเลี้ยงกันมาก เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ดีอีกชนิดหนึ่ง ส่วนการส่งออกก็ต้องมีการแจ้งที่มาที่ไปด้วย เพราะเป็นสัตว์ที่อยู่ในไซเตสประเภท 3 คือ ซื้อขายได้ แต่ต้องมีหนังสือรับรองจากประเทศถิ่นกำเนิด

                        “เคยเจอแต่ขนาด 13-14 นิ้ว หรือฟุตกว่า แต่ถ้าตัวขนาด 17-18 นิ้ว อาจจะมี แต่ยังไม่เคยเจอ และยังไม่มีข้อมูลในสารบบแต่อย่างใด ส่วนราคาซื้อขายน่าจะอยู่ที่ความพอใจทั้งสองฝ่ายมากกว่า”

                      ฟังอย่างนี้แล้วก็คงจะร้องอ๋อไปตาม ๆ กันว่า เหตุใดจึงมีคนตั้งราคาตุ๊กแกได้ตัวละหลาย ๆ ล้าน มาถึงตรงนี้แล้ว ก็มาดู “ความจริง” ของปศุสัตว์ตุ๊กแกกันบ้าง ทุกวันนี้มีชาวบ้านยึดอาชีพทำฟาร์มเลี้ยงตุ๊กแกกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากขายได้ราคาดีและเป็นที่ต้องการของตลาด โดยมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่เพื่อส่งออกไปยังจีน สิงคโปร์ และสิงคโปร์ ซึ่งเชื่อว่าเมื่อถึงประเทศปลายทางสินค้าก็จะยิ่งราคาสูงหลายเท่าตัว

                    เนื่องจากชาวจีนเชื่อว่าตุ๊กแกเป็นยาอายุวัฒนะ โดยเฉพาะหางตุ๊กแก สามารถรักษาได้หลายโรค ไม่เว้นแม้กระทั่งมะเร็งและเอดส์ เมื่อตุ๊กแกป่าเริ่มหายากจากการไล่ล่า ทำให้ชาวบ้านเริ่มหันมายึดอาชีพเลี้ยงตุ๊กแกกันมากขึ้น เพราะเห็นว่าเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีราคาและไม่มีปัญหาในด้านการตลาด 

                     แม้ทุกวันนี้ยังไม่มีข้อมูลวิธีการเลี้ยงที่แน่ชัดจากหน่วยงานของราชการ แต่สถานที่บางแห่ง อย่างเช่น ศูนย์เรียนรู้บ้านไร่ศรีสุทัศน์ ต.โพธิ์ชัย อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม ก็ได้ทดลองเลี้ยง พร้อมส่งเสริมการเลี้ยงให้แก่ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง โดยเลี้ยงแบบกึ่งธรรมชาติและมีอัตราการขยายพันธุ์เป็นที่น่าพอใจ 

                     ขณะที่ชาวบ้านสบฟ้า หมู่ 7 และบ้านฮ่องลี่ หมู่ 5 ต.แจ้ห่ม อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ที่ทุกวันนี้หันมาเลี้ยงตุ๊กแก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ต๊กโต” เป็นอาชีพเสริมกันเกือบทั้งหมู่บ้านเช่นกัน เนื่องจากเลี้ยงง่าย ขายได้ราคาสูง โดยจะเลี้ยงตุ๊กแกไว้ในกรงและโอ่งขนาดใหญ่ ใช้จิ้งหรีดและอาหารเม็ดให้ตุ๊กแกกิน ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงประมาณ 3-4 เดือน เมื่อตุ๊กแกโตได้น้ำหนัก ตั้งแต่ครึ่งกิโลกรัมขึ้นไป และขนาดความยาวของลำตัวตั้งแต่ 15-16 นิ้ว ที่สำคัญหางจะต้องสมบูรณ์ไม่ขาดก็จะมีพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงที่ในราคาตัวละหมื่นบาทขึ้นไป   

                     เช่นเดียวกับ อารีย์ เดชรักษา อยู่บ้านเลขที่ 242 หมู่ 2 ต.เขาดิน อ.เขาพนม จ.กระบี่ มีอาชีพรับจ้างทั่วไป หารายได้เสริมด้วยการเลี้ยงตุ๊กแกขาย พร้อมทั้งเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อใช้เป็นอาหารตุ๊กแก โดยสาเหตุเนื่องจากบุตรสาวซึ่งทำงานอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย ได้กลับมาเยี่ยมบ้าน และแนะนำให้เลี้ยงเพื่อส่งไปขายที่ประเทศมาเลเซีย เพราะที่นั่นสามารถขายได้ในราคาที่แพงมาก โดยไปซื้อพ่อแม่พันธุ์มาจากแถบภาคอีสาน เอามาเลี้ยงเมื่อประมาณ 8 เดือนก่อนนำออกจำหน่าย สร้างรายได้ให้เป็นอย่างดี ตกเดือนละกว่า 5,000-10,000 บาท 

                     ถึงแม้บางรายจะเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม แต่ก็มีชาวบ้านจำนวนไม่น้อยที่ทำเป็นอาชีพหลักและถึงขั้นมีการแปรรูปตากแห้งเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะ อย่างเช่น ชาวบ้านในตาล ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม  ส่วนใหญ่เลี้ยงตุ๊กแกเพื่อการส่งออกมานานกว่า 20 ปีแล้ว โดยแปรรูปเป็นตุ๊กแกตากแห้ง สร้างเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 20-30 ล้านบาทต่อปี  โดยมีตลาดส่งออกหลักได้แก่ จีนและไต้หวัน   

                    ไม่เฉพาะภาคอีสานที่มีการเลี้ยงตุ๊กแกกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แต่เกือบทุกภาคในขณะนี้เริ่มให้ความสนใจในอาชีพการเลี้ยงตุ๊กแกเพื่อการค้ากันมากขึ้น อย่างกรณี ลุงเสียง นิลวรรณา วัย 70 ปี อดีตหัวหน้าแผนกติดตั้งเครื่องจักรกลโรงงานน้ำตาลใน ต.ท่าผา อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ที่สนใจใช้เวลาหลังเกษียณหันมาทำฟาร์มเลี้ยงตุ๊กแก โดยใช้ตะกร้าพลาสติกสีดำที่มีตาข่ายปิดและได้ก่อปูนเป็นห้องสำหรับเลี้ยงตุ๊กแกขนาดกว้าง 2.5 เมตร ยาว 2.5 เมตร ปิดหน้าต่างด้วยกระสอบป่าน ที่พื้นวางท่อนไม้ตามขอบผนังสำหรับให้ตุ๊กแกหลบซ่อนตัว  ส่วนอาหารจะเป็นจิ้งหรีด 5–7 ตัวต่อตุ๊กแก 1 ตัว พร้อมกับให้อาหารเสริมประเภทน้ำมันตับปลา เพื่อเร่งการเจริญเติบโต 

                       การเลี้ยงตุ๊กแกเพื่อการค้า นับเป็นอีกทางเลือกในการสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชาวบ้านได้เป็นอย่างด

 การเตรียมพื้นที่สำหรับเลี้ยงตุ๊กแก

                   พื้นที่สำหรับเลี้ยงตุ๊กแกควรเป็นที่ไม่มีผู้คนพลุกพล่าน เพราะตุ๊กแกเป็นสัตว์ตกใจง่ายและรักสงบ ชอบอยู่ในที่มืดในเวลากลางวัน และเป็นพื้นที่สามารถเปิดไฟล่อแมลงได้

วัสดุ/อุปกรณ์

1.เสาไม้ 3x3x2.50 จำนวน 4 ต้น

2.ตาข่ายพลาสติก 2x2x250 เซนติเมตร จำนวน 20 เมตร

3.ไม้ไผ่ยาว 3 เมตร จำนวน 20 ท่อน

4.ตะปูขนาด 2 นิ้ว จำนวน 2 กิโลกรัม

5.ชุดไฟนีออน ควรเป็นหลอดสั้นแบบประหยัด จำนวน 2 ชุด

6.กระสอบ หรือ ผ้าห่มที่ไม่ได้ใช้แล้ว สำหรับให้ตุ๊กแกหลบนอนตอนกลางวัน 

7.เศษไม้กระดาน หรือ ไม้ที่มีโพรงสำหรับตุ๊กแกวางไข่

8.อ่างน้ำขนาดเล็ก จำนวน 1 ใบ

9.อ่างพลาสติกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร จำนวน 1 ใบ

10.พ่อพันธุ์+แม่พันธุ์ตุ๊กแกที่สุขภาพสมบูรณ์ จำนวน 5 คู่

                 การดูแลรักษาในระยะเริ่มต้น  ตุ๊กแกจะไม่กินอาหาร เพราะตุ๊กแกยังไม่คุ้นเคยกับกรงที่เราจัดทำขึ้น ช่วงนี้เราต้องคอยระวังศัตรูจำพวก แมว สุนัข ที่จะมารบกวนและทำลายกรงเลี้ยง แล้วให้นำจิ้งหรีดมาปล่อยลงในอ่างพลาสติกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร พร้อมให้อาหารจิ้งหรีดด้วยอาหารไก่เล็ก อย่าลืมให้น้ำจิ้งหรีด โดยเอาฟองน้ำ หรือสำลี ชุบน้ำให้ชุ่มวางไว้ใกล้กับอาหารลูกไก่ จากนั้นให้คอยสังเกตตุ๊กแกว่ามีการกินแมลงในตอนกลางคืน หรือจิ้งหรีดที่ปล่อยหรือไม่ อย่างไร

                ปัญหาที่พบในการเลี้ยงแบบกึ่งธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะพบปัญหาเกี่ยวกับ การแสดงอาณาเขตของตุ๊กแกที่มีขนาดใหญ่ เราสามารถแก้ปัญหาโดยการเพิ่มเศษไม้ ตั้งชันแยกให้ห่างกันในระยะตุ๊กแกจะกระโดดถึง เพื่อหลบและหนีได้พ้นจากตุ๊กแกที่มีขนาดใหญ่

                 ส่วนโรคที่เกิดกับตุ๊กแก มีเพียงผิวหนังแห้งเกินไป ถ้าผิวหนังของตุ๊กแกแห้งเกินไป ตุ๊กแกจะไม่ยอมลอกคราบ จะทำให้การเจริญเติบโตช้า ทางเราจะแก้ปัญหาโดยการฉีดน้ำเป็นละอองเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้ผิวหนัง

ข้อควรระวัง

           1.ควรเปลี่ยนน้ำในอ่างเล็กทุกวัน เพื่อรักษาความสะอาดและสร้างความคุ้นเคย

            2.การจับตุ๊กแก ควรสวมถุงมือหนังเพื่อป้องกันเชื้อโรคในปากของตุ๊กแก

           3.ไม่ควรติดหลอดไฟไว้ในกรงเลี้ยง เพื่อป้องกันไฟช็อตตุ๊กแก

ที่มา : ศูนย์เรียนรู้บ้านไร่ศรีสุทัศน์

“ตุ๊กแก”สารพัดสรรพคุณทางยา        

               ตุ๊กแกมีการบริโภคกันอย่างแพร่หลายในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง ไต้หวัน และเวียดนาม และชาวเอเชียที่มีเชื้อสายจีนที่อยู่ตามประเทศต่างๆ เพราะมีความเชื่อว่า เนื้อตุ๊กแก โดยเฉพาะส่วนโคนหางมีสารหรือฮอร์โมนที่มีคุณค่าต่อร่างกาย จากข้อมูลที่เขียนโดย Supakorn Saleetam ระบุว่า เนื้อของตุ๊กแกช่วยบำรุงกำลัง จึงมีการนำตุ๊กแกบ้านตากแห้งไปปรุงอาหาร (ตุ๋น) และนำไปเป็นส่วนประกอบของยาจีนแผนโบราณทำเป็นผงและดองเหล้า ซึ่งในการแพทย์แผนจีนสามารถนำมาใช้เป็นยาตุ๊กแกสำหรับการรักษาโรคมะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ มะเร็งตับ และมะเร็งปอด 

               นอกจากนี้ความเชื่อในเรื่องการรับประทานตุ๊กแกเป็นยาอายุวัฒนะยังคงได้รับความนิยมและแพร่หลาย และมีความต้องการมากขึ้น เพราะมีประวัติศาสตร์ยาวนานเกี่ยวกับการใช้ตุ๊กแกเป็นส่วนผสมของยา “กาบก่าย หรือตุ๊กแกจีน" เป็นสัตว์ที่ชาวจีนบันทึกไว้ในตำรายามาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ้อง สรรพคุณของตุ๊กแกมีมากมาย ตุ๊กแกจึงถูกจับทำยามานานนับพันปีแล้ว

             ตามตำรับยาจีน ตุ๊กแกสามารถนำมาทำยา และเป็นส่วนผสมในยาจีนแผนโบราณ บำรุงไต ปอด บำบัดผู้มีอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ แก้โรคเบาหวาน หอบหืด โรคผิวหนัง และกระทั่งมะเร็ง เป็นต้น เดิมประเทศจีนใช้ตุ๊กแกในประเทศจีน แต่ปัจจุบันตุ๊กแกของจีนมีน้อย ด้วยความต้องการ จึงต้องสั่งซื้อตุ๊กแกตากแห้งจำนวนมากจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จากเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย พม่า ลาว ไทย กัมพูชา ปีละหลายสิบล้านตัว 

            ส่วนของตำราไทยเองก็มี โดยจับเอาตัวตุ๊กแกมาผ่าท้องเอาเครื่องในออก แล้วนำตุ๊กแกไปปิ้ง-ย่าง หรือตากแห้ง นำดองเหล้าเป็นยา ใช้ดื่มบำรุงร่างกาย แก้โรคปวดข้อ รักษาโรคตานขโมย และช่วยให้ระบบการไหลเวียนของโลหิตได้ดี สมัยโบราณหมอพื้นบ้านแถวภาคเหนือจะนำตุ๊กแก หรือต๊กโต ใช้ผสมยารักษาโรคหอบหืด โดยนำไปตากแห้งแล้วต้มรับประทาน คนจีนนิยมเรียกว่า “กาบก่าย” และตามหลักวิทยาศาสตร์ตุ๊กแกถือเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี  

              ด้วยกระแสนิยมนำตุ๊กแกมารักษาตามวิถีชาวบ้านกำลังแพร่หลายทั่วเอเชีย ซึ่งพบรายงานการส่งออกตุ๊กแกไปยังประเทศมาเลเซีย  จีน และเกาหลีใต้ เพื่อนำไปสกัดเป็นยาหรือสารกระตุ้นความต้องการทางเพศ อีกทั้งยังทำเป็นยาแผนโบราณ และในช่วงระยะเวลา 3-5 ปีมานี้ มีกระแสข่าว ประกาศรับซื้อตุ๊กแกที่มีขนาดใหญ่ ในราคาหลักแสนหลักล้านบาท เพื่อนำไปสกัดเป็นยาแผนโบราณที่เชื่อว่าสามารถรักษาโรคเอดส์ มะเร็ง วัณโรค หอบหืด หรือโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ 

 ร้อง“ไซเตส”ขึ้นบัญชีคุ้มครองตุ๊กแก

               ในสายตาของหลายๆ คน ตุ๊กแกบ้าน (Gekko gecko) อาจเป็นสัตว์น่าเกลียดน่ากลัว แต่เครือข่ายเฝ้าติดตามการค้าสัตว์ป่าอย่าง TRAFFIC มองว่า ตุ๊กแกคือสัตว์อีกชนิดที่กำลังเสี่ยงต่อการถูกคุกคามโดยการล่าของมนุษย์

                 TRAFFIC อ้างว่า ปัจจุบันกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการค้าตุ๊กแกทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมายอย่างมหาศาล ประชากรของตุ๊กแกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและอาจต้องใช้เวลาเป็นปีๆ ในการคืนสภาพให้เป็นดังเดิม

                 เหตุผลที่ทำให้ตุ๊กแกเป็นที่ต้องการของตลาด ได้แก่ ความเชื่อตามแพทย์จีนแผนโบราณที่ว่า เนื้อตุ๊กแกสามารถรักษาโรคได้สารพัด ตั้งแต่มะเร็งยันโรคเอดส์ เหล้าและยาดองตุ๊กแกก็เป็นเครื่องดื่มเพื่อเพิ่มพลัง ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ นอกจากนี้ยังมีตลาดสำหรับคนที่ชื่นชอบหาซื้อตุ๊กแกไปเป็นสัตว์เลี้ยงอีกด้วย จึงทำให้ประเทศที่ค้าขายและส่งออกตุ๊กแกอย่างเป็นล่ำเป็นสันในปัจจุบันอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เชื่อกันว่าในแต่ละปีแค่เกาะชวาที่เดียวก็ส่งออกตุ๊กแกแห้งถึง 1.2 ล้านตัว ส่วนเส้นทางการค้าในคาบสมุทรอินโดจีนจะเดินทางจากประเทศไทยและกัมพูชาไปยังประเทศมาเลเซีย ที่ TRAFFIC เชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการค้าตุ๊กแกของภูมิภาคนี้ ซึ่งซากตุ๊กแกทั้งแบบแห้งและแบบบดส่วนใหญ่จะไปจบที่จุดหมายปลายทางคือ จีนแผ่นดินใหญ่ และฮ่องกง

                 นอกจากนี้ TRAFFIC ยังเรียกร้องให้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora : CITES) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการค้าขายสัตว์ป่าและพันธุ์พืชระหว่างประเทศ ขึ้นบัญชีตุ๊กแกให้เป็นสัตว์คุ้มครองเพื่อควบคุมการลักลอบค้าตุ๊กแก หากชื่อของตุ๊กแกได้เข้าไปอยู่ในรายชื่อบัญชีของไซเตสก็จะเป็นการกดดันประเทศต่างๆ ให้เข้มงวดกับมาตรการอนุรักษ์ตุ๊กแกมากขึ้นด้วย 

                    อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายไทย ตุ๊กแกบ้าน (Gekko gecko) ยังไม่ได้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 แต่มีตุ๊กแกอีกหลายชนิดที่เป็นสัตว์คุ้มครองตามกฎหมาย เช่น ตุ๊กแกบ้านสีเทา (Gekko smithii), ตุ๊กแกเขาหินทราย (Gekko petricolus), ตุ๊กแกหลังจุดคู่ (Gekko monarchus หรือ Gekko tuberculatus), ตุ๊กแกหัวโต (Aeluroscalabotes felinus) เป็นต้น นอกจากนี้ ตุ๊กแกป่า หรือตุ๊กกาย อีกหลายชนิดก็เป็นสัตว์คุ้มครองตาม พ.ร.บ.ด้วย (อ้างอิงจากโลกสีเขียว)

ที่มาและลักษณะเฉพาะของ“ตุ๊กแก” 

                   จากข้อมูลวิกิพีเดียระบุว่า ตุ๊กแก (Gecko) จัดอยู่ในวงศ์ของสัตว์เลื้อยคลานในอันดับย่อยกิ้งก่า เป็นวงศ์ที่คุ้นเคยเป็นอย่างดีในชื่อสามัญว่า “จิ้งจก” และ “ตุ๊กแก” ลักษณะโดยรวม ส่วนมากมีขาเห็นได้ชัดเจน ยกเว้นในวงศ์ย่อยบางวงศ์ในออสเตรเลียที่ไม่มีขา ผิวหนังของลำตัวมีเกล็ดขนาดเล็กปกคลุมและอาจมีตุ่มกระจายอยู่บ้าง ไม่มีกระดูกในชั้นหนังทางด้านหลังของลำตัว แต่บางชนิดอาจจะมีกระดูกในชั้นหนังทางด้านท้องของลำตัว กระดูกหัวไหล่มีกระดูกอินเตอร์คลาวิเคิลเป็นรูปตัวที และกระดูกไหปลาร้าเป็นรูปหักมุม สามารถสะบัดหางให้หลุดจากลำตัวได้เพื่อหลอกศัตรูที่มาคุกคาม โดยตำแหน่งที่ปล่อยหางหลุดนั้นอยู่ทางด้านท้ายของก้านกระดูกทางด้านข้างของกระดูกสันหลังส่วนหางทุกปล้อง พื้นผิวด้านบนมีลิ้นมีตุ่มกลม ฟันที่ขากรรไกรเกาะติดกับร่องที่ขอบด้านในของกระดูกขากรรไกร 

                    ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งเป็นที่รับรู้อย่างดีของมนุษย์ คือ เสียงร้อง อันเป็นที่มาของชื่อสามัญและชื่อวิทยาศาสตร์ที่ใช้เรียก สัตว์เลื้อยคลานในวงศ์นี้โดดเด่นมากในการส่งเสียงร้อง โดยมีแผ่นเยื่อกำเนิดเสียงและกล่องเสียงจึงทำให้เกิดเสียงได้ และด้วยความซับซ้อนมากกว่าเสียงที่เกิดจากการผลักดันอากาศออกทางจมูกหรือปาก ในตัวผู้ของหลายชนิดใช้เสียงในการประกาศอาณาเขตตลอดจนใช้ดึงดูดตัวเมีย โดยเป็นเสียงร้องที่สั้นและมักร้องซ้ำๆ และติดต่อกันหลายครั้ง แม้ว่าส่วนใหญ่เสียงร้องอาจจะคล้ายคลึงกัน แต่ชนิดที่ต่างกันแม้อาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกันก็มีเสียงที่ต่างกัน โดยทั่วไปตัวผู้จะส่งเสียงร้องไปยังทิศทางที่มีตัวผู้ตัวอื่นหรือมีตัวเมียอยู่ตรงนั้น แต่บางครั้งก็อาจส่งเสียงร้องได้โดยไม่มีทิศทาง 

                นอกจากนี้บางชนิดจะมีเสียงร้องอย่างจำเพาะระหว่างแสดงพฤติกรรมปกป้องอาณาเขต และเป็นเสียงร้องช่วงยาวมากกว่าเสียงร้องที่ใช้ในเวลาทั่วไป ซึ่งเสียงร้องเตือนนี้นอกจากจะใช้ร้องเตือนสัตว์ประเภทเดียวกันที่มาเข้าใกล้ ยังร้องเตือนสัตว์ที่ใหญ่ รวมถึงมนุษย์ได้ด้วย  โดยเฉพาะเสียงร้องประกาศอาณาเขตนี้ โดยชนิดที่มีเสียงร้องที่ซับซ้อนและหลากหลายที่สุด คือตุ๊กแกบ้าน เพราะมีเสียงที่ขึ้นต้นด้วยพยางค์เดียวที่ร้องถี่ๆ ติดกันหลายครั้งแล้วตามด้วยเสียงร้องที่เป็น 2 พยางค์                                                                                                

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ