Lifestyle

ขาดวินัยทาง“บัญชี”ทำหนี้ท่วมชาวไร่อ้อย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ขาดวินัยทาง“บัญชี”ทำหนี้ท่วมชาวไร่อ้อย

               วาดฝันสวยหรูกับนโยบายเกษตร 4.0 ของรัฐบาล ที่ต้องการให้ภาคการเกษตรไทยก้าวไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน แต่อาจทำได้แค่เพียงฝัน หากเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศยังติดชนักในเรื่ององค์ความรู้การจัดการทางการเงิน ไม่มีการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างเป็นระบบ ทำให้การคำนวณต้นทุนการผลิตผิดพลาด อันนำมาซึ่งการเป็นหนี้เป็นสินอย่างไม่รู้ตัว โดยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อย หนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศที่ทุกวันนี้มีแต่หนี้กับหนี้ ทั้งที่ทำรายได้ดีกว่าพืชไร่ชนิดอื่นๆ 

ขาดวินัยทาง“บัญชี”ทำหนี้ท่วมชาวไร่อ้อย

              “ที่จริงอ้อยเป็นพืชที่ทำรายได้ให้เกษตรกรดีมากๆ ตัวหนึ่ง ราคาไม่มีตกต่ำ ต้นทุนก็ควบคุมได้ ที่สำคัญมีตลาดรองรับชัดเจน ทำให้เราสามารถคำนวณต้นทุนได้และรู้ทันทีว่าปีนี้จะมีรายได้เท่าไหร่ หลังหักต้นทุนแล้วจะมีกำไรเท่าไหร่ในแต่ละฤดูกาลผลิต แต่ทุกวันนี้ชาวไร่ก็ยังเป็นหนี้ พอเราศึกษาลงลึกก็พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่มีการบริหารจัดการทางการเงินที่ดีพอ ไม่มีการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายที่ชัดเจน เมื่อเราเห็นจุดบอดตรงนี้จึงมีโครงการนี้ขึ้นมา”

                นันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงโครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลาเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย โดยบริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับกลุ่มบริษัท น้ำตาลไทยรุ่งเรือง และสถาบันคีนันแห่งเอเชีย จัดโครงการฝึกอบรมการประเมินสุขภาพทางการเงินให้แก่เกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย ซึ่งเป็นลูกไร่ของบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรืองจำนวน 625 ราย รวมพื้นที่หลายพันไร่ใน อ.ศรีเทพ และอ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ หลังจากโคคา-โคลาประสบความสำเร็จในการดำเนินการจัดฝึกอบรมประเมินสุขภาพทางการเงินให้แก่ลูกค้าเอเย่นต์ทั่วประเทศมาแล้วเมื่อ 4-5 ปีก่อน

ขาดวินัยทาง“บัญชี”ทำหนี้ท่วมชาวไร่อ้อย

                “กลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรืองถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ เราก็อยากเข้าไปดูแลที่ต้นทางการผลิตคือกษตรกรชาวไร่อ้อย ต้องเป็นอ้อยอินทรีย์ ให้ผลิตดี มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ไม่มีหนี้มีสิน ถ้าต้นทางดีปลายทางก็จะดีตามไปด้วย นี่คือเป้าหมายหลักของโครงการ” นันทิวัตเผย

                จากนั้นทางโครงการได้คัดเลือกเกษตรกรแกนนำ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่จำนวน 625 ราย ในเครือข่ายของกลุ่มบริษัท ไทยรุ่งเรือง เข้าฝึกอบรมในโครงการประเมินสุขภาพทางการเงินตามหลักสูตรที่สถาบันคีนันแห่งเอเชียกำหนด พร้อมลงพื้นที่เก็บข้อมูลแบบเจาะลึกและมีการประเมินผลเป็นรายเดือนอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกษตรกรรู้จักการทำบัญชี รู้ที่มาของรายรับ-รายจ่ายที่ชัดเจน อันนำมาสู่การบริหารจัดการทางการเงินของตัวเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดี

ขาดวินัยทาง“บัญชี”ทำหนี้ท่วมชาวไร่อ้อย

                ณัฐวรรณ ทองเกล็ด หรือหนูแหม่ม เกษตรกรชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่วัย 37 ปี แห่งบ้านสันติธรรม ต.ประดู่ธรรม อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ที่เข้าร่วมโครงการ เปิดเผยว่า มีไร่อ้อยอยู่ประมาณ 100 ไร่ ก่อนหน้านี้ทำเกษตรเชิงเดี่ยว และเมื่อมีปัญหาเข้ามาหรือไร่อ้อยเสียหายก็ไม่มีแผนหรือรายได้สำรอง หลังเข้าร่วมโครงการได้นำความรู้การบริหารการเงินมาใช้ด้วยการจดบันทึกต้นทุน รายรับ รายจ่าย ทำให้มองเห็นภาพรวมการทำงานและการเงินของตัวเองได้มากยิ่งขึ้น รู้ว่ารายจ่ายส่วนไหนเกินความจำเป็นหรือไม่จำเป็นและปรับลดได้ถูกจุด นอกจากนี้ยังเริ่มต้นทำเกษตรผสมผสาน เช่น ปลูกมะเขือเทศราชินี ข้าวโพดเทียน มะนาว เพื่อเพิ่มรายได้ ลดความเสี่ยงจากการทำไร่อ้อยเพียงอย่างเดียว โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ เพื่อให้การใช้ชีวิตไปในทางที่ดีขึ้น 

                “ปัญหาทุกอย่างเกิดจากความไม่รู้จักพอ เราต้องเริ่มบริหารจัดการจากสิ่งที่เรามี ซึ่งทุกอย่างสอดคล้องกับหลักปรัชญาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่สั่งสอนเราตลอด หากเราปรับลดความต้องการลงได้ มองเห็นว่าตัวเรากำลังอยู่จุดไหนแล้วปรับเปลี่ยนให้พอดี การใช้ชีวิตก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นแน่นอน” ณัฐวรรณย้ำชัด

ขาดวินัยทาง“บัญชี”ทำหนี้ท่วมชาวไร่อ้อย

              เช่นเดียวกับ รจนา สอนชา หรือเนะ เพื่อนเกษตรกรชาวไร่อ้อยอีกรายในหมู่บ้านเดียวกัน ยอมรับว่า ก่อนเข้าร่วมโครงการมีหนี้สินอยู่จำนวนหนึ่ง แต่หลังได้เรียนรู้การจดบันทึกรายรับรายจ่ายช่วยให้รู้ปัญหามากขึ้น พร้อมกับรับองค์ความรู้ด้านการเกษตรมาปรับสภาพไร่เพื่อปลูกพืชผสมผสานด้วย ทำให้ปัจจุบันเริ่มมีรายจ่ายลดลง มีรายได้เพิ่มมากขึ้น แล้วก็มาถ่ายทอดให้คนในชุมชนด้วย

              สำหรับแผนในอนาคต ตอนนี้ตั้งเป้าไว้ 3 อย่าง คือ พยายามปลดหนี้ให้หมดมีอยู่ประมาณ 7 แสนบาท ทำพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดและเพิ่มรายได้จากการปลูกพืชผสมผสานมากขึ้น ซึ่งตอนนี้มีการรวมกลุ่มปลูกพืชผักอินทรีย์ส่งให้ห้างท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ทุกสัปดาห์ 

“เราอยากพิสูจน์ให้เกษตรกรคนอื่นๆ เห็นว่า ถ้าสามารถจัดการการเงินและทำเกษตรยั่งยืนได้ คนอื่นๆ ก็สามารถทำได้ หากเราไม่ร่วมมือช่วยกัน สิ่งเหล่านี้ก็จะไม่ยั่งยืน” รจนา กล่าวย้ำ 

ขาดวินัยทาง“บัญชี”ทำหนี้ท่วมชาวไร่อ้อย

             ไม่ใช่แค่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเท่านั้นที่ขาดวินัยทางการเงิน ไม่มีการทำบัญชีจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย ทำให้ค่าใช้จ่ายบานปลายจนกลายเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ยังมีเกษตรกรผู้รับจ้างปลูกอ้อย อย่าง ป้าวรรณา โตอิ้ม วัย 58 ปี แห่งบ้านฟุกสะแก ต.ซับสมบูรณ์ อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ ก็มีวิถีชีวิตที่ไม่แตกต่างกัน ซึ่งทุกวันนี้มีหนี้สินกว่า 9 แสนบาท แม้ว่ามีรายได้จากการรับจ้างปลูกอ้อยปีละกว่า 10 ล้านบาท เนื่องจากการไม่ได้ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายที่ชัดเจน ทำให้ไม่รู้ทีี่มาที่ไปของเงิน เป็นผลให้ต้องกู้ยืม ธ.ก.ส. 2 แสนบาท และโรงงานน้ำตาลเพิ่มอีก 7 แสนบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนปลูกอ้อยและค่าใช้จ่ายในครอบครัว

              “แต่ละปีรับจ้างปลูกอ้อยเฉลี่ย 500-600 ไร่ ไร่ละ 6,000 บาท คือต้องทำให้เขาหมดเลยตั้งแต่ไถปรับพื้นที่ปลูก หาท่อนพันธุ์ปลูก การติดตั้งระบบน้ำ ทำให้เสร็จเลย เจ้าของที่รอเก็บเกี่ยวอย่างเดียว และอ้อยเมื่อปลูกแล้วจะสามารถเก็บเกี่ยวไปได้นานประมาณ 4-5 ปี ฉะนั้นปีแรกเจ้าของที่อาจลงทุนมากหน่อย แต่ปีต่อไปไม่มีอะไรมาก แค่ดูแลให้น้ำ ใส่ปุ๋ย กำจัดวัชพืชแค่นั้น” ป้าวรรณาเผยข้อมูล และยอมรับว่า รายได้แต่ละปีกลับไม่มีเหลือ แถมยังเป็นหนี้อีกต่างหาก จนกระทั่งมีโอกาสเข้าร่วมโครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา เขาสอนให้มีการจัดบันทึกรายรับ-รายจ่ายทุกวัน ทุกเดือนทำให้รู้ว่า ทำไมถึงเป็นหนี้ ทั้งๆ ที่มีรายได้พอสมควร 

              ไม่เพียงการเติมเต็มความรู้ด้านเงิน  ทางโครงการยังลงลึกไปถึงกระบวนการผลิตที่เน้นการปลูกอ้อยอินทรีย์ พร้อมทั้งประสานความร่วมมือภาครัฐในการหาแหล่งน้ำให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยผ่านองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในการขุดสระน้ำขนาดเล็กในชุมชนเพื่อใช้สำหรับกระบวนการผลิตอ้อย นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มี ดร.รอยล จิตรดอน เป็นผู้อำนวยการ ในการนำองค์ความรู้เกี่ยวกับบ่อน้ำใต้ดินมาถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรในพื้นที่อีกด้วย

              สุพล บุญเทียบ กำนันตำบลซับสมบูรณ์ กล่าวยอมรับว่า โครงการได้ส่งเจ้าหน้าที่มาแนะนำขั้นตอนการขุดบ่อน้ำใต้ดินในไร่อ้อยในการรองรับน้ำฝนเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งที่ผ่านมามักจะมีปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้งของทุกปี ส่งผลให้อ้อยที่ปลูกไว้ได้รับความเสียหาย

              “บ่อที่ขุดลึกประมาณ 5 เมตร ใส่บล็อกซีเมนต์ลงไป 4-5 วง รองพื้นบ่อด้วยก้อนกรวดเล็กเพื่อซับน้ำ ส่วนปากบ่อจะใช้รางท่อซีเมนต์รับน้ำเวลาฝนตกเพื่อให้น้ำลงไปในบ่อ จากนั้นน้ำในบ่อก็จะซึมกระจายไปใต้พื้นดิน รากอ้อยก็จะได้รับน้ำจากแหล่งน้ำตรงนี้ ใน 1 ไร่ก็จะใช้ประมาณ 2-3 บ่อแล้วแต่สภาพพื้นที่ ของผมมีอ้อยอยู่ 15 ไร่ ใช้ประมาณ 40 บ่อ” กำนันสุพลเผย พร้อมชี้ไปยังบ่อน้ำใต้ดินที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งใกล้จะแล้วเสร็จทันการปลูกอ้อยในฤดูกาลผลิตใหม่ปี 2560/61 ที่จะเริ่มขึ้นในต้นเดือนมิถุนายนนี้

                การถ่ายทอดองค์ความรู้การจัดการทางการเงินและบัญชี เพื่อให้ทราบที่มาของรายรับ-รายจ่าย นับเป็นอีกก้าวในการเสริมความแกร่งให้แก่เกษตรกร ไม่เฉพาะชาวไร่อ้อยเท่านั้น แต่ยังสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยิืน ให้แก่เกษตรกรในทุกชนิดของพืชด้วย 

คีนัน’ตอบโจทย์เกษตรกรทางการเงิน-บัญชี

                  ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการสถาบันคีนันแห่งเอเชีย กล่าวตอนหนึ่งในระหว่างการเสวนา “การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจแก่เกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย” ณ ห้องประชุมโรงงานน้ำตาลไทยรุ่งเรือง ต.ศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ โดยระบุว่า คีนันมุ่งสร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อร่วมกันพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ โดยก่อนเริ่มโครงการได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาของเกษตรกร แล้วนำข้อมูลมาพัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์ใน 5 หัวข้อ คือ 1.การตั้งเป้าหมายชีวิตและเป้าหมายทางการเงิน 2.การใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพและการทำบัญชีครัวเรือน 3.การบริหารจัดการหนี้ 4.การออม และ 5.การลงทุนและทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เข้าอบรม เข้าใจง่าย และสามารถนำความรู้ไปใช้ได้ทันที 

                  “จากการดำเนินโครงการช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรสตรีมีความรู้ด้านการจัดการการเงินเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 20 นอกจากนี้ยังมีความพึงพอใจต่อโครงการในภาพรวมถึงร้อยละ 80 ที่สำคัญคือ เกษตรกรจำนวนหนึ่งเริ่มตั้งเป้าหมายการเงิน หลายคนเริ่มทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และออมเงิน ทำอาชีพเสริมเพื่อลดหนี้และเพิ่มรายได้” ชลวิจารณ์กล่าว

‘ไทยรุ่งเรือง’มุ่งผลิตอ้อยอินทรีย์

                    ดร.ณัฐพล อัษฎาธร กรรมการบริหาร กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง กล่าวว่า "ในฐานะผู้ผลิตน้ำตาลคุณภาพ พรีเมียมจากวัตถุดิบอ้อย บริษัทมุ่งสร้างความมั่นคงแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย ผ่านแนวคิดการส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน โดยเราได้คัดเลือกพนักงานจากเพชรบูรณ์ 19 คน และอุทัยธานี 10 คน เข้ารับการฝึกอบรมเป็นวิทยากรจากสถาบันคีนันแห่งเอเชีย โดยมุ่งใช้ความสัมพันธ์ที่ดีของพนักงานกลุ่มนี้ ซึ่งต้องทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกรอยู่แล้วในการค่อยๆ สร้างความเข้าใจ ถ่ายทอดความรู้ ให้คำปรึกษา ตลอดจนช่วยปรับพฤติกรรมด้านการบริหารการเงินในครัวเรือนและการทำธุรกิจไร่อ้อยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เรายังนำโครงการช่วยเกษตรกรลดรายจ่าย เพิ่มผลผลิตและรายได้ที่บริษัทดำเนินการอยู่แล้วและตอบโจทย์เข้ามาเสริม คือ การทำน้ำหมักชีวภาพ และการจัดการน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง ซึ่งเมื่อนำสิ่งต่างๆ เหล่านี้มาผนวกกับความรู้ด้านการบริหารการเงินที่เกษตรกรได้รับก็น่าจะทำให้คุณภาพชีวิตของสตรีชาวไร่อ้อยมั่นคงและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น” 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ