ไลฟ์สไตล์

รู้จัก 'ท่อประปา' ใต้ดิน

รู้จัก 'ท่อประปา' ใต้ดิน

29 เม.ย. 2560

ท่อประปาใต้ดิน กับงานซ่อมแซมดูแลเพื่อคุณภาพชีวิตประชาชน

 

 


               การประปานครหลวง (กปน.) มีระบบเครือข่ายท่อจ่ายน้ำและท่อประธาน กว่า 30,000 กิโลเมตร เฉพาะท่อประธานหรือท่อขนาดใหญ่ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 500-2,000 มิลลิเมตร มีความยาวกว่า 1,695 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่บริการทั้ง 3 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่ง กปน. ได้ทำการดูแล บำรุงรักษา ตลอดจนเปลี่ยนทดแทนท่อประปาที่มีการใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน เพื่อพัฒนาศักยภาพในการให้บริการน้ำประปา ทั้งในเรื่องของการรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้นตามการขยายตัวของชุมชนเมือง การขยายตัวของตึกสูงซึ่งเพิ่มการใช้น้ำในแนวดิ่ง และการเพิ่มแรงดันน้ำประปาในเส้นท่อ เพื่อลดการใช้พลังงานในการใช้ปั๊มน้ำ

 

 

รู้จัก \'ท่อประปา\' ใต้ดิน

 


               โดยทั่วไป ท่อประธานมักวางเป็นแนวยาวอยู่ใต้ผิวถนน ซึ่งแรกเริ่ม การก่อสร้างวางท่อประปาใหม่ หรือการเปลี่ยนทดแทนท่อประธาน จำเป็นต้องทำการขุดเปิดแนวผิวจราจรเป็นระยะทางยาว แม้จะดำเนินการเฉพาะช่วงเวลากลางคืน แต่ก็ถือว่ามีผลกระทบต่อการสัญจร แต่ปัจจุบัน กปน. ได้ใช้เทคนิคพิเศษ เพื่อจะไม่ต้องเปิดผิวจราจรทั้งเส้น คือ การดันท่อลอด ไม่ว่าจะเป็นวิธี Relining ซึ่งใช้กับการปรับปรุงท่อเดิม หรือ Pipe Jacking ที่ใช้กับการวางท่อใหม่ สำหรับงานเกี่ยวกับท่อประธานที่ กปน. ดำเนินการเอง ไม่ได้เชื่อมโยงกับสาธารณูปโภคอื่น จะใช้วิธีดันท่อลอดเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์
               เทคนิคการดันท่อลอด เป็นการก่อสร้างที่ไม่มีการขุดเปิดแนว (Trenchless Technology) บางครั้งเรียกเทคนิคนี้ว่าการเจาะอุโมงค์ขนาดเล็ก (Micro Tunneling) โดยเฉพาะอุโมงค์หรือท่อที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตรขึ้นไป โดยใช้ระบบควบคุมระยะไกล (Remote Control) ที่ติดตั้งอยู่บนผิวดิน งานดันท่อโดยทั่วไปจะเป็นการดันท่อลอดใต้ถนน รางรถไฟ และคลอง ส่วนใหญ่ขนาดของท่อจะไม่เกิน 2 เมตร และความยาวของแต่ละช่วงบ่อก่อสร้างจะไม่เกิน 200 เมตร และเนื่องจากงานดันท่อวิธีนี้ ส่งผลกระทบต่อการจราจรและสิ่งแวดล้อมค่อนข้างน้อย หลายหน่วยงานจึงนิยมนำไปประยุกต์ใช้ ทั้งระบบเครือข่ายท่อประปา ระบบเครือข่ายโทรศัพท์ ระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน และระบบท่อระบายน้ำ เป็นต้น

 

 

รู้จัก \'ท่อประปา\' ใต้ดิน

 


               ถึงแม้เทคนิคดังกล่าว จะต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างสูงกว่าแบบปกติถึง 3 เท่า แต่ กปน. ก็เลือกใช้วิธีนี้ เพื่อประโยชน์ในการลดผลกระทบด้านการจราจร ลดการเกิดมลภาวะทางเสียงและฝุ่นจากการขุดเจาะถนน รวมถึงสามารถปิดแผ่นเหล็กหรือแผ่นคอนกรีตเพื่อให้รถสัญจรตามปกติได้ในเวลากลางวัน และเริ่มทำงานอีกครั้งในช่วงเวลากลางคืน ที่ผ่านมา กปน. มีโครงการก่อสร้างวางท่อประปาที่ใช้เทคนิคดังกล่าวอยู่หลายพื้นที่โดยเฉพาะในเขตชุมชนที่มีการจราจรหนาแน่น อาทิ ถนนรัชดาภิเษก ถนนสุขุมวิท 71 ถนนพระราม 5 ถนนกำแพงเพชร ถนนพหลโยธิน ถนนจันทน์ ถนนสายไหม เป็นต้น
               สำหรับท่อประปาที่หมดอายุและยกเลิกการใช้งานแล้ว กปน. จะรื้อย้ายท่อออก เว้นแต่บางพื้นที่
ที่ติดปัญหาการจราจร หรือ ส่งผลกระทบต่อสาธารณูปโภคใต้ดินอื่น จำเป็นต้องคงท่อเดิมที่ไม่ได้ใช้งานไว้ใต้ดิน และเมื่อหน่วยงานอื่นต้องการใช้พื้นที่ ก็สามารถดำเนินการรื้อย้ายท่อออกได้ หรือบางกรณีเป็นการตกลงใช้ทรัพยากรร่วมกัน เช่น การนำท่อประปาที่เลิกใช้แล้วมาใช้ประโยชน์เป็นท่อร้อยสายโทรศัพท์ ดังนั้น บางกรณีที่เคยมีประชาชนพบเห็นภาพท่อประปาเก่าบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค จึงเป็นการเข้าใจผิดว่าเป็นท่อที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งความจริงคือท่อประปาเก่าที่ยกเลิกการใช้งานมานานแล้ว

 

รู้จัก \'ท่อประปา\' ใต้ดิน


               ปัจจุบัน กปน. มีงานขุดวางท่อ-ตัดบรรจบท่อ ซ่อมท่อ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาจก่อให้เกิดความรำคาญใจแก่ประชาชนผู้ใช้รถและผู้ที่เดินสัญจร แต่งานเหล่านี้ คือสิ่งที่ กปน. ไม่เคยหยุดนิ่งที่จะพัฒนายกระดับการให้บริการ โดยเพิ่มการลงทุนทั้งในเรื่องของปริมาณ คุณภาพ และแรงดันน้ำ สอดคล้องกับโครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก ครั้งที่ 9 ของ กปน. ในปี 2560 ซึ่งจะเพิ่มกำลังผลิตที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ สร้างสถานีสูบจ่ายน้ำพื้นที่ฝั่งธนบุรี พร้อมทั้งก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำเชื่อมฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมสร้างความพึงพอใจ พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และก้าวสู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูงที่ให้บริการงานประปา มีธรรมาภิบาล และได้มาตรฐานในระดับสากล