ไลฟ์สไตล์

วท.จิตรลดา สร้างโรงเรือนต้นแบบปลูกสตอว์เบอร์รี่

วท.จิตรลดา สร้างโรงเรือนต้นแบบปลูกสตอว์เบอร์รี่

16 พ.ค. 2560

คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา (CDTC) แชร์ CSV สร้างโรงเรือนต้นแบบ ศูนย์กลางการเรียนรู้ชาวบ้าน

       จากการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนของวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา ที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาปฏิบัติงานจริง ทำงานได้ ประกอบกับองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญของคณาจารย์ด้านเทคโนโลยีไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการความร่วมมือ “การสร้างโรงเรือนต้นแบบปลูกสตอว์เบอร์รี่” ระหว่างคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา และดอยคำ ณ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ให้ชาวบ้านได้เข้ามาศึกษาถึงกระบวนการการทำเกษตรโรงเรือนด้วยตนเอง ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ต้องการให้โรงงานหลวงเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรกรรม

       ผศ.ดร.สุรพันธ์ ตันศรีวงษ์ คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา กล่าวว่าอุตสาหกรรมอาหารต้องเร่งกระบวนการผลิตให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ อีกทั้งจะต้องมีปริมาณรองรับต่อปริมาณการเพิ่มขึ้นของประชากรในอีก 3-5 ปี ข้างหน้า ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็นประเทศอันดับต้นๆที่มีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่มีการทำเกษตรอย่างกว้างขวาง ประกอบกับทางคณะฯ ได้มีโอกาสศึกษาดูงานพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง) พบว่าผลผลิตบางอย่างไม่สามารถปลูกนอกฤดูกาลได้ อย่างเช่น สตอว์เบอร์รี่ ทำให้เสียโอกาสในช่วงเวลาที่เหลือ

วท.จิตรลดา สร้างโรงเรือนต้นแบบปลูกสตอว์เบอร์รี่

       ทางคณะฯ และบริษัท ดอยคำผลิตอาหาร จำกัด จึงมองว่าหากเรามีการนำเทคโนโลยีมาจัดการสภาพแวดล้อม รวมทั้งการเร่งกระบวนการเจริญเติบโตให้ได้ผลสตอว์เบอร์รี่เร็วขึ้น ก็จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเพิ่มผลผลิต ทางคณะฯเองก็มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว นักศึกษาเองก็จะได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติงานจริง โครงการความร่วมมือครั้งนี้จึงเกิดขึ้น โดยได้รับงบประมาณในการสร้างโรงเรือนต้นแบบจาก บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ภายใต้การกำกับงานของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มี ผศ.โกศิน สวนานนท์ เป็นอาจารย์ผู้ดูแลโครงการ และนักศึกษาชั้นปี ที่ 3 คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม จำนวน 6 คน เป็นทีมสร้างโรงเรือนต้นแบบ”

        ด้าน ผศ.โกศิน สวนานนท์ อาจารย์ผู้ดูแลโครงการฯ กล่าวว่าทางดอยคำได้ให้โจทย์ในการสร้างโรงเรือนมา คือ โรงเรือนต้องขนาด 6x12x2.3 เมตร สามารถควบคุมอุณหภูมิ อยู่ที่ 15 – 27 องศาเซลเซียส ความชื้น 50 – 90% และควบคุมแสงได้ หลังจากที่เราได้รับโจทย์ดังกล่าวทางทีมงานจึงได้ทำการออกแบบโครงสร้าง กำหนดวัสดุอุปกรณ์ ออกแบบระบบ วางระบบ สำหรับขนาดของโรงเรือนต้นแบบด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ทดลองซึ่งอยู่ในบริเวณวิทยาลัยที่มีพื้นที่ไม่ใหญ่มากนัก ทีมงานจึงเสนอปรับขนาดเป็น 3x3x2.3 เมตร มีข้อดีคือกะทัดรัด ถ้าต้องการให้โรงเรือนมีขนาดใหญ่ขึ้นก็สามารถเอามาวางต่อกันได้ วัสดุที่ใช้จะเป็นวัสดุหาง่าย ราคาไม่สูง ซึ่งชาวบ้านสามารถหาซื้อเองได้ อย่างตัวโครงสร้างโรงเรือนทำมาจากท่อน้ำเหล็ก เพื่อให้มีความแข็งแรง มั่นคง และใช้พลาสติกใสมุง

วท.จิตรลดา สร้างโรงเรือนต้นแบบปลูกสตอว์เบอร์รี่

      ต่อมาคือเรื่องอุณหภูมิ ความชื้น เราใช้ระบบการระเหยของน้ำเข้ามาใช้ในการควบคุมอุณหภูมิ ผ่านระบบรังผึ้ง (Cooling pad) และระบบสเปรย์ โดยต่อกับถังน้ำที่ติดตั้งภายนอกโรงเรือน เมื่ออากาศร้อนผ่าน ระบบรังผึ้ง (Cooling pad) น้ำจะดึงความร้อนจากอากาศ ทำให้ภายในโรงเรือนมีอุณหภูมิต่ำลง สำหรับการวัดค่าอุณหภูมิ และความชื้นนั้น ทางทีมงานได้ออกแบบวงจรการวัดค่าแบบอัตโนมัติ ถ้าภายนอกมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น ปั๊มน้ำจะปรับการสูบน้ำผ่านระบบรังผึ้ง (Cooling pad) และระบบสเปรย์ให้สูงขึ้นตาม เพื่อให้ภายในโรงเรือนมีอุณหภูมิตามที่กำหนด เพราะการออกดอกของสตอว์เบอร์รี่อุณหภูมิจะต้องอยู่ที่ประมาณ 15 องศาเซลเซียสเท่านั้น และสำหรับระบบแสงสว่างภายในโรงเรือนใช้การควบคุมแสง 2 แบบ ผ่านการใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ 58 วัตต์ และหลอดอินแคนเดสเซนต์ 7 ไมโครโมน พร้อมการควบคุมปริมาณความเข้มแสงด้วยการปรับระยะห่างระหว่างไฟและต้นสตอว์เบอร์รี่ ช่วงเดือนแรกทำการออกแบบ ซื้อวัสดุอุปกรณ์ และประกอบที่วิทยาลัยฯ จากนั้นจึงยกมาติดตั้งที่โรงงานหลวงอีกประมาณ 1 เดือนครึ่ง นักศึกษาก็จะช่วยกันประกอบชิ้นส่วน เก็บข้อมูล ทำรายงาน”

วท.จิตรลดา สร้างโรงเรือนต้นแบบปลูกสตอว์เบอร์รี่

    “รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโรงเรือนต้นแบบให้กับโรงงานหลวง และรู้สึกดีใจที่ทางวิทยาลัยฯ ได้มอบโอกาสที่ดีในการเรียนรู้ สร้างประสบการณ์การทำงานจริงนอกห้องเรียน ผ่านการทำงานเป็นทีม และยังฝึกให้เป็นคนช่างสังเกต มีความรอบคอบ ระมัดระวังในการทำงาน รู้จักวิธีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและที่สำคัญได้ฝึกความมีวินัย ความอดทน สู้งานหนัก เหมือนดั่งพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ว่า ความเข้มแข็งในจิตใจเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องฝึกฝนแต่เล็ก เพราะว่าต่อไปถ้ามีชีวิตที่ลำบาก ประสบอุปสรรคใดๆ ถ้าไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีความรู้ ไม่มีทางที่จะผ่านอุปสรรคนั้นได้” ทีมงานนักศึกษากล่าว

วท.จิตรลดา สร้างโรงเรือนต้นแบบปลูกสตอว์เบอร์รี่