
เรื่องของช่วงล่าง(2)ระบบบังคับเลี้ยว
ระบบพวงมาลัยหรือระบบบังคับเลี้ยวสำหรับรถยนต์ในบ้านเราก็จะมีด้วยกันอยู่สองแบบ คือ แบบลูกปืนหมุนวน หรือเรียกกันว่าแบบกระปุก ก็มีใช้กันทั้งแบบธรรมดาและแบบมีเพาเวอร์ช่วยผ่อนแรงในแบบนี้เป็นแบบที่ใช้ได้ทนทานดูแลบำรุงรักษาง่ายปัจจุบันก็หลงเหลืออยู่แต่ในรถบรรทุก
อีกแบบหนึ่งเป็นแบบที่เรียกว่า แร็คแอนด์พิเนียน (Rack & Pinion) หรือเรียกแบบไทยๆ ได้ว่าแบบเฟืองสะพาน ทั้งสองระบบแทบจะเรียกได้ว่ามีส่วนประกอบที่แตกต่างโดยสิ้นเชิง พวงมาลัยในแบบแร็คฯ นี้มีขนาดกะทัดรัดใช้เนื้อที่ในการติดตั้งในห้องเครื่องน้อยมีชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องน้อยกว่าแบบแรก และมีให้ใช้ทั้งแบบธรรมดาที่ไม่มีให้เห็นกันแล้วและเพาเวอร์ผ่อนแรง
ตัวช่วยในการผ่อนแรงหรือเพาเวอร์นั้น ในปัจจุบันก็มีด้วยกัน 3 แบบคือ แบบใช้น้ำมันอย่างเดียว หรือเรียกว่าแบบไฮดรอลิก (Hydraulic power steering) ต่อมาก็เป็นแบบไฮดรอลิกร่วมกับไฟฟ้า (Electro-hydraulic power steering)และสุดท้ายที่ทันสมัยหรือแบบล่าสุดเป็นแบบมอเตอร์ไฟฟ้า (Electric power steering: EPS)
ในรุ่นที่ติดตั้ง ระบบไฮดรอลิก จะประกอบไปด้วย ปั๊มสร้างแรงดัน (Vane pump) ที่ทำงานร่วมกับเครื่องยนต์โดยมีสายพานเป็นตัวต่อเชื่อมกำลังเครื่องยนต์ มีท่อน้ำมันพาน้ำมันแรงดันสูง (High pressure hose) ที่ได้รับการสั่งการจากการหมุนพวงมาลัย
ในกรณีนี้การหมุนพวงมาลัยก็คือ การเปิดหรือปิดวาล์วน้ำมันให้น้ำมันเข้าไปบังคับให้ชุดแร็คแอนด์พิเนียนซึ่งเป็นเพียงกระบอกยาวแท่งหนึ่งภายในมีแกนเหล็กที่เรียกว่าแกนแร็คเป็นตัวรับและส่งทิศทางการเคลื่อนที่ (หมุน) ของล้อจากการบังคับที่พวงมาลัย
ภายในกระบอกและแกนแร็คนี้ก็จะประกอบไปด้วยชิ้นส่วนที่เป็นยาง (ซีลกันน้ำมัน)แหวน (พลาสติกหรือเทปรอน) ช่วยกักแรงดันน้ำมันเอาไว้ เมื่อใช้งานไประยะหนึ่ง ซีลยางและแหวนกักแรงดันก็จะสึกหรอตามสภาพ
โดยทั่วไปแล้วในรถยนต์บางยี่ห้อก็จะมีชุดซ่อมซึ่งประกอบด้วยซีลยางและเทปรอน และชิ้นส่วนเล็กน้อยบรรจุในถุงพลาสติกขายกันเป็นชุดราคาก็เพียงแค่หลักพันต้นๆ เพียงแต่ช่างที่จะทำงานชิ้นนี้จะต้องผ่านการฝึกอบรมถึงเคล็ดลับในการถอดและประกอบเพียงเล็กน้อยก็สามารถที่จะใช้งานได้เหมือนเดิม
ในแบบต่อมาที่เป็นแบบ น้ำมันและไฟฟ้า (Electro hydraulic power steering) ก็จะใช้ตัวมอเตอร์มาทำหน้าที่แทนปั๊มเพาเวอร์โดยที่มอเตอร์นี้จะสร้างแรงดันให้น้ำมันแทนปั๊มตัวเดิม ส่วนตัวแกนแร็คก็จะยังคงรูปแบบและส่วนประกอบเดิมๆ
ข้อดีของพวงมาลัยในแบบนี้ก็คือ ตัวมอเตอร์จะถูกนำไปติดตั้งตรงส่วนใดของรถยนต์ก็ได้ที่สะดวกในการเดินสายไฟไม่จำกัดที่จะต้องติดตั้งอยู่หน้าเครื่องและเมื่อตัดตัวปั๊มน้ำมันแบบเดิมภาระในการดูแลรักษาในการปรับตั้งสายพานหรือเปลี่ยนสายพานก็หมดไป แต่ก็ยังมีข้อเสียคือ ยังต้องใช้น้ำมัน ใช้ท่อทางเดินน้ำมันเหมือนกับแบบเดิม
การดูแลรักษาจำเป็นที่จะต้องตรวจดูระดับน้ำมัน ดูการรั่วซึมที่แร็คและดูการทำงานของมอเตอร์ ดูเหมือนว่าระบบพวงมาลัยหรือระบบบังคับเลี้ยวแบบนี้จะไม่เป็นที่นิยมมากนัก เพราะยังมีข้อยุ่งยากในการดูแลบำรุงรักษา ทั้งระบบน้ำมัน ระบบไฟฟ้า และระบบกลไก มีรถยนต์หลายรุ่นในบ้านเราที่ใช้ระบบนี้ แต่พอมีการปรับเปลี่ยนโฉมก็จะถูกยกเลิกไปโดยหันไปใช้ในระบบล่าสุดคือ ระบบไฟฟ้าเต็มระบบ พวงมาลัยไฟฟ้าในแบบนี้ EPS (Electric power steering) ได้ถูกนำมาติดตั้งกับรถเก๋งนั่งรุ่นใหม่ๆ ในรถยนต์ขนาดเล็ก กลางและรถไฮบริด และในไม่ช้าก็คงจะติดตั้งกันกับรถยนต์ทุกประเภท
พวงมาลัยแบบ EPS นี้ตัดส่วนประกอบที่รกรุงรังในห้องเครื่องออกไปจนหมด จากวงพวงมาลัยที่ก่อนนี้ใช้ทำหน้าเหมือนวาล์วเปิดปิดน้ำมันเปลี่ยนมาเป็นตัวควบคุมกระแสไฟฟ้า เมื่อพวงมาลัยขยับหรือหมุน กระแสไฟฟ้าก็จะไปสั่งงานให้มอเตอร์นั้นทำงานเกิดแรงบิดไปหมุนกลไกให้ล้อขยับ
EPS จึงเป็นระบบบังคับเลี้ยวที่ไม่ต้องดูแลบำรุงรักษา เพียงแต่ดูแลรักษาระบบไฟฟ้าแบตเตอรี่ และอัลเทอร์เนเตอร์ (ไดชาร์จ) ตามปกติเท่านั้นเอง ครับระบบพวงมาลัยไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ต้องมีมุมของล้อในการควบคุมเสถียรภาพในการขับ ตามเรื่องศูนย์ล้อสัปดาห์หน้าครับ