ไลฟ์สไตล์

จี้“ลุงตู่”ทบทวน“ตำรายืมเรียน”

จี้“ลุงตู่”ทบทวน“ตำรายืมเรียน”

23 เม.ย. 2560

ภตช.จี้“ลุงตู่”ทบทวน“ตำรายืมเรียน”หวั่นกระทบเด็ก15 ล้านคน ชี้ขัดม.44 เรียนฟรี 15 ปี แนะเอาผิด"หมอธี"ผู้สั่งการ อ้างประหยัดแต่ใช้งบ4พันล้านอบรมครูแบบไร้ทิศทาง

          เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2560  นายมงคลกิตติ์  สุขสินธารานนท์  เลขาธิการคณะกรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ(ภตช.) เผยว่า ในวันจันทร์ ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560 เวลา 11.00 น.ที่ ศูนย์บริการประชาชน ตรงข้าม ทำเนียบรัฐบาล สำนักงาน ก.พ. ซึ่ง ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ(ภตช) นำโดยตนเลขาธิการคณะกรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ , นายวิวัฒน์ เจริญพาณิชย์ศิริ ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และ คณะฯ จะเดินทางมายื่นหนังสือต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

        1.ขอให้ทบทวนนโยบาย ของ นายแพทย์ธีระเกียรติ  เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ( รมว.ศธ.) จาก หนังสือเรียนฟรี เป็น ให้ยืมเรียน ซึ่งอาจจะ ขัดต่อ  คำสั่งคสช.ที่ 28/2559 เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจะสร้างความไม่เท่าเทียมกันในสังคมภาพรวม และ อาจจะทำลายขวัญกำลังของนักเรียน-ผู้ปกครอง กว่า 15 ล้านคน หรือไม่ อย่างไร

         2.ขอให้ดำเนินการตรวจสอบเอาผิด กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ ผุ้เกี่ยวข้อง ที่ออกนโยบายดัง กล่าว ซึ่งอาจะขัดต่อระเบียบ กฏหมาย พรบ. คำสั่ง คสช

        เนื่องด้วย ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ(ภตช) ได้รับเรื่องร้องเรียน จาก ผู้บริหารสถานศึกษา เครือข่ายผู้ปกครองนักเรียน นักเรียน อีกทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ที่เห็นแย้งว่า นโยบาย จาก หนังสือเรียนฟรี เป็น ให้ยืมเรียน ดังกล่าว จะเป็นช่องว่างต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น ผู้บริหารสถานศึกษาปฏิบัติได้ยาก เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคมและโครงการอื่นๆ ไม่คุ้มค่ากับการบริหารจัดการศึกษา รัฐมนตรีควรจะต้องไปคิดให้รอบคอบก่อนออกเป็นนโยบาย ซึ่งมีรายละเอียดประกอบเหตุผล ดังนี้

        1.งบประมาณที่จัดสรร ค่าหนังสือเรียน ไปในปี งบประมาณปี พ.ศ.2560(1 ต.ค.59-30ก.ย.60) เป็น งบประมาณเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ และ ตาม คำสั่งที่ 28/2559 เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2559 ตาม ข้อ 3 (3) หรือ เรียกได้ว่าหนังสือที่ซื้อแจกนักเรียนฟรีเป็นรายหัว ในปี พ.ศ.2560 ไม่สามารถเรียกเก็บคืนหนังสือได้หรือเรียกว่าให้เปล่า ถ้าเปลี่ยนเป็น ให้คืนหนังสือเรียน เก็บคืน ก็จะขัดต่อ ระเบียบ กฎหมาย พรบ คำสั่ง คสช ก็เป็นได้

          "และ ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อาธิ รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง เลขาธิการ สพฐ ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การมัธยมศึกษา กระทำการใดไปแล้ว หรือ สั่งการเป็นนโยบาย แถลงต่อสาธารณะ เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2560 อีกทั้งสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษรในเวลาต่อมา ก็จะถือได้ว่าได้อาจจะกระทำความผิดตาม พรบ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 และ แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 157 อาจจะขัดต่อ พรบ.งบประมาณปี พ.ศ.2560(1 ต.ค.59-30ก.ย.60) อาจจะขัดต่อ คำสั่งที่ 28/2559 เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2559 ข้อ 3 ก็จะอาจจะมีความผิดได้"เลขาธิการ ภคช. กล่าว

          นายมงคลกิตติ์  อธิบายว่า      คำว่า ฟรี ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน ตาม พรบ.ราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. ๒๕๕๘ ฟรี[ฟฺรี] ว. ไม่เสียมูลค่าหรือไม่ได้ค่าตอบแทนใด ๆ(เรียกคืนไม่ได้) เช่น เรียนฟรี ทํางานฟรี ว่างจากงาน เช่น วันนี้ฟรี

           2.ปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการ สทศ สถาบันอุดมศึกษา กศน.ฯลฯ ให้มีการจัดสอบ วัดมาตรฐานการศึกษา ในแต่ละระดับดังนี้ การทดสอบวัดความรู้โดย สทศ สถาบันอุดมศึกษา จัดสอบ อาทิ O-Net ป.6/ม.3/ม.6 GAT PAT ตั้งแต่ ม.5-6 V-NET ปวช.3 I-NET N-NET B-NET วิชาสามัญ 9 วิชา สอบตรง ฯลฯ

           การสอบวัดมาตรฐานความรู้ในแต่ระดับ นักเรียนแต่ละคน จำเป็นต้องใช้ หนังสือแบบเรียน หนังสือแบบฝึกหัด ที่ผ่านการเรียน จด ทด บันทึกช่วยจำไว้ในแต่ละหน้า เอาไว้เพื่อทบทวนในทุกระดับ ถ้ามีการยืมเรียน คืนช่วงเมื่อสิ้นปีการศึกษา จะทำให้นักเรียนไม่กล้าอ่านหนังสือ ไม่กล้าขีดเขียน ทด บันทึก ในแบบเรียน เพราะกลัวหนังสือชำรุด ครูผู้สอน ผู้อำนวยการก็กำชับว่าต้องให้รุ่นถัดไปใช้ กลัวโดนตัดคะแนน ถ้าไม่มีหนังสือคืน

          "เหตุผลสำคัญกว่านั้น นักเรียนจะไม่มีหนังสือแบบเรียน เอาไว้ทบทวนในการเรียนระดับสูงขึ้น ทบทวนช่วงสอบเพราะการสอบแต่ระครั้ง ต้องใช้องค์ความรู้จากทุกระดับชั้นเรียนในการสอบ ถ้านักเรียนไม่มีหนังสือแบบเรียนจะเอาจากไหนไว้ทบทวน ช่วยจำ ถ้านักเรียนผู้นั้นมาจากฐานะครอบครัว ปานกลาง-ยากจน ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศไทยกว่า 8 แสนคน แต่ละช่วงชั้น ถ้ารวมกัน 15 ช่วงชั้น รวมกว่า 12 ล้านคน มีอีก 20% ฐานะผู้ปกครองดีมีเงินซื้อหนังสือเรียนเสริม ติวเสริม ใช้งบประมาณแผ่นดินของรัฐแค่ปีละ 5,000 ล้านบาท"เลขาธิการ ภคช.กล่าว

         เลขาธิการ ภตช. กล่าวอีกว่า ซึ่ง ผู้ปกครองนักเรียน นักเรียน ทุกคนเป็นผู้ เสียภาษี ในรูป ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ภาษีนิติบุคคล ภาษีบุคคลธรรมดา และกับนักเรียนกว่า 15 ล้านบาท คุ้มและถูกมาก นี่คือมันสมองของชาติ จะมาประหยัดอะไรกัน กับสมบัติชิ้นแรกของนักเรียน พวกเขาดีใจ ภูมิใจที่มีหนังสือเรียนเป็นของตนเอง เขารู้สึกรักและหวงแหนหนังสือ เอาไว้ทบทวน เอาไว้หนุนหัวให้เนื้อหาซึมเข้าไปในสมอง ยามฝนตก เอามาเป็นที่กำบังฝนยามฉุกเฉิน เปิดเทอมใหม่มีหนังสือใหม่นักเรียนสุดแสนดีใจ มีกำลังใจเรียน ถ้าเป็นหนังสือเก่าความรู้สึกจะอีกแบบ

          "คิดจะประหยัดงบหนังสือของคนยากคนจน แล้วเอาไปเพิ่มค่าอบรมครูต่อหัว 10,000 บาท/ครู 1 คน/ปี ปีละกว่า 4,000 ล้านบาท กับ ครู 4 แสนคน ในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 มันเทียบกันไม่ได้ กับ นักเรียน 15 ล้านคน"นายมงคลกิตติ์  ระบุ

        3.เป็นการเปิดชองว่างให้ผู้บริหารสถานศึกษาทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งตรวจสอบยาก ควบคุมยาก ยกตัวอย่าง ถ้า ปีการศึกษา 2560 โรงเรียน A มียอดคืนหนังสือจริง 60% ยังขาดหนังสือในปีการศึกษา 2561 ต่อไป 40% แต่แจ้งเท็จยอด สพฐ.ซื้อไปในปีการศึกษา 2561 จำนวน 80% เรียกคืนได้แค่ 20% จะทำให้ โรงเรียน A ซื้อหนังสือใหม่จริง 40% ใช้ของเก่า 60% โดยให้ร้านค้าออกใบเสร็จเปล่า 40% ถ้าโรงเรียน A นั้นมีนักเรียน 500 คน รายหัวค่าหนังสือนักเรียน 700 บาท/คน/ปี ยอดรายหัวซื้อหนังสือ 100 % จำนวน 350,000 บาท ถ้าทุจริต 40% เท่ากับ 140,000 บาท(คือช่องว่างการทุจริต ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้ว นโยบายยืมเรียนจึงยกเลิกไป)

        4.ถ้ากรณีเปรียบเทียบความเป็นธรรมในสังคม ถ้าต้องการประหยัดงบประมาณแผ่นดินจริงๆ ก็ต้องทำให้เท่าเทียมกับ ทุกรายการ ทุกกระทรวง อาทิ 1.ยืมเครืองแบบนักเรียน ใช้ผ่านไป 1 ปี ก็ซ่อมให้รุ่นน้องใช้ต่อ ยืมอุปกรณ์การเรียน ใช้ดินสอ ยางลบ ปากกา ใช้แล้วให้รุ่นน้องใช้ต่อ(ได้เหรอซึ่งไม่เกี่ยวกับมันสมอง) 2.ยืม ยาเวชภัณฑ์ เข็มฉีดยา ถุงยางมือ ปอดเทียม ไตเทียม ขาเทียม วัคซีน เลือดบริจาค ฯลฯ ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ของ กระทรวงสาธารณะสุข ทั้งหมดที่พูดมา ก็ควรนำกลับมาใช้ใหม่กับคนไข้คนถัดไปด้วย 3.ยืม เครื่องแบบทหารเกณฑ์ใหม่ กระสุนซ้อม อุปกรณ์ต่างๆ ปีละกว่า 1 แสนคน ใช้แล้วก็ควรกลับมาใช้ต่อในรุ่นถัดไปด้วย ของ กระทรวงกลาโหม

       "จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการต่อไปเพื่อเป็นขวัญกำลังใจกับนักเรียนกว่า 15 ล้านคน ที่จะมีสมบัติชิ้นแรกของชีวิต ก็คือ ความรู้ที่จดใส่แบบเรียน เอาไว้ทบทวน เป็นพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตและเป็นกำลังของชาติต่อไป รวมทั้ง ผู้ปกครองกว่า 30 ล้านคน เพื่อความเท่าเทียมกันในสังคมทุกฐานะความเป็นอยู่" เลขาธิการ ภตช. กล่าวในที่สุด