
แข่งขันจุดลูกหนู ในงานบุญประเพณีเผาเกจิมอญ
สิทธิการิยะ...ตามคัมภีร์โบราณ กล่าวขานไว้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ตรงกับวันเพ็ญเดือนหก หรือที่ทราบกันว่า คือ วันวิสาขบูชา
หลังจากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ได้มีพิธีบูชาสักการะพระบรมศพอยู่นานถึง ๖ วัน พอถึงวันที่เจ็ด จึงได้มีการจัดขบวนแห่พระสรีระสังขาร ออกเดินไปยังมกุฎพันธเจดีย์ เพื่อถวายพระเพลิง ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖
เมื่อได้เวลา ผู้ที่รับหน้าที่จุดไฟทั้ง ๔ ด้าน ก็เริ่มจุดไฟ แต่จุดไฟเท่าไดก็ไม่สามารถจุดติดได้ ประมุขสงฆ์ ณ ขณะนั้น คือ พระอนุรุธิ ซึ่งเป็นพระสาวกผู้สำเร็จอรหันต์ และมีศักดิ์เป็นพระอนุชาของพระพุทธองค์ ได้วินิจฉัยถึงสาเหตุที่จุดไฟไม่ติด เป็นเพราะเหล่าเทวดาต้องการให้รอ พระมหากัสสะปะ ซึ่งอยู่ในระหว่างเดินทางมา ให้มาร่วมพิธีถวายบังคมพระบรมศพเสียก่อน
ครั้นเมื่อพระมหากัสสะปะเดินทางมาถึง และได้ถวายบังคมพระบรมศพแล้ว จึงเกิดอิทธิปาฏิหาริย์ บันดาลเพลิงสวรรค์ ด้วยเทวาฤทธานุภาพ ลุกโชติช่วง โหมไหม้พระสรีระจนหมดสิ้น
จากพระพุทธประวัติดังกล่าว ชนชาวรามัญ หรือ มอญ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นผู้ที่เคร่งครัดในพระพุทธศาสนา จึงได้น้อมนำเอาพุทธประวัติดังกล่าวมายึดถือปฏิบัติ ในการถวายเพลิงศพต่อพระภิกษุสงฆ์ชาวมอญมาโดยตลอด ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
กล่าวคือ การถวายเพลิงศพพระชั้นผู้ใหญ่ จะไม่ใช้วิธีการจุดไฟด้วยมือโดยตรง แต่จะใช้การจุด ลูกหนู ขนาดเล็ก วิ่งตามเส้นลวด เข้าหาเมรุ-ปราสาท แทนการจุดไฟด้วยมือ
(ความจริงคำว่า "ฮะตะน๊อย" ภาษามอญแปลว่า "หางหนู" ถ้าเป็นลูกหนูจะใช้คำว่า "โก๊นน๊อย")
นอกจากนี้แล้ว การที่ต้องสร้างปราสาทให้พระภิกษุที่มรณภาพ เพราะถือกันว่า พระนั้นเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ไม่ควรเผารวมกับคนธรรมดา
อย่างไรก็ตาม ในภายหลังต่อมา จึงมีการประยุกต์ และพัฒนานำเอา ลูกหนู ที่ใช้ในงานถวายพระเพลิง ไปใช้ในการแข่งขัน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่เมรุ-ปราสาทจำลอง โดยนิยมจัดการแข่งกันในงานถวายเพลิงศพพระชั้นผู้ใหญ่ หรือ ตั้งแต่เจ้าอาวาสขึ้นไป ซึ่งมีให้เห็นไม่บ่อยครั้งนั้น เพราะนานๆ ครั้งจะมีพระผู้ใหญ่ หรือพระเกจิเชื้อสายรามัญมรณภาพ
ทั้งนี้ การแข่งขันจุดลูกหนู นิยมจัดขึ้นในช่วงหน้าแล้ง เริ่มตั้งแต่เดือนสาม-เดือนห้า ของทุกๆ ปี
จากบันทึกสมุดข่อยโบราณของ วัดเชิงท่า เมืองสามโคก จ.ปทุมธานี ซึ่งบันทึกโดย พระอธิการแดง พร้อมด้วยคณะ คือ นายแบน ท้ายเมือง นายชมท้ายเมือง และ นายโต๊ะ ผองธรรม จารึกไว้ว่า
“ได้ไปแข่งขันต่อหน้าพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานหลวง วัดเบญจมบพิตร ซึ่งมีการแข่งขันลูกหนู แห่แหนถวายหน้าพระที่นั่ง มีคณะลูกหนูเข้าร่วมแข่งขันจำนวน ๑๒ สาย สนุกสนานแก่ท่านผู้ชมเป็นอันมาก เนื่องจากสามารถวิ่งไปกลับได้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรางวัลแก่ท่านอธิการแดง เจ้าอาวาสวัดเชิงท่า ในครั้งนั้นด้วย"
ในขบวนการทำลูกหนู เข้าจุดแข่งขันในแต่ละครั้ง ต้องใช้ผู้คนจำนวนมาก และต้องมีค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสูง ดังนั้น คณะผู้จัดสร้างลูกหนูส่วนใหญ่จึงเป็นผู้สร้างที่มาจากวัดที่มีเชื้อสายของ ชาวมอญ และจะจัดทำโดยมีพระภิกษุสงฆ์ของวัดนั้นๆ ให้การสนับสนุน ซึ่งคณะลูกหนูที่จัดทำลูกหนูเข้าแข่งขันกันใน จ.ปทุมธานี ก็มีอยู่ด้วยกันหลายวัด เช่น วัดน้ำวน วัดเขียนเขต วัดโสภาราม วัดสำแล วัดบางโพธิ์ใน วัดป่างิ้ว วัดกลางคลองสี่ วัดบ่อทอง วัดป่ากลางทุ่ง วัดเตย วัดโบสถ์ วัดเจดีย์หอย เป็นต้น
การจุดลูกหนูนี้ เดิมทีเดียวพระสงฆ์เท่านั้นเป็นผู้จุดชนวน ฆราวาสจะยุ่งเกี่ยวไม่ได้ เพราะถือว่าพระสงฆ์เป็นปูชนียบุคคลอันสูงสุด แต่เนื่องจากแรงวิ่งของลูกหนูบางครั้งทำให้ศพกระจัดกระจายเป็นที่อุจาดตา ปัจจุบันจึงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม โดยสร้างเมรุจำลอง สำหรับทำพิธีขึ้นต่างหาก มีปราสาทโลงศพเช่นกัน ส่วนศพจริงๆ นั้นตั้งไว้ที่เมรุสำหรับเผาจริง เวลาจุดลูกหนูก็จะจุดไปที่เมรุจำลอง
ต่อมาการจุดลูกหนูจึงกลายเป็นการเล่นแข่งขันกันในงานศพพระประเภทหนึ่ง โดยส่งตัวแทนของวัดประมาณ ๕-๘ วัด หรือมากกว่านั้น สุดแต่ความใหญ่โตของงาน
การแข่งขันนี้ จะจุดทีละสาย สายละตัว จนครบทุกสาย สายใดลูกหนูวิ่งไปชนยอดปราสาท ถือว่าชนะเลิศ ผู้ชนะจะมีการแห่ยอดปราสาทกันอย่างครึกครื้น และมีรางวัลให้ตามความสามารถ ลดหลั่นกันไป
เมื่อแข่งขันเสร็จแล้ว จึงมีการเผาจริงอีกครั้งหนึ่ง พิธีจุดลูกหนูนี้ จะทำกันในตอนบ่าย ของวันเผาจริง
สำหรับ ประเพณีจุดลูกหนู ในปี ๒๕๕๒ นี้ น่าจะมีแห่งเดียว คือที่ วัดสโมสร ต.ไทรใหญ่ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี ในพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระครูปัญญานนทคุณ หรือ หลวงปู่บาง อดีตเจ้าอาวาสวัดสโมสร และพระเกจิที่ชาวมอญกระทุ่มมืด ให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง
โดยจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๖-๘ มีนาคม ๒๕๕๒ นี้ ทั้งนี้ ในวันที่ ๘ ซึ่งเป็นพระราชทานเพลิงศพ ทางวัดได้จัดให้มี ประเพณีแข่งขันจุดลูกหนู จำนวน ๑๓ สาย
ในงานครั้งนี้ คณะศิษย์ได้จัดตั้งโรงทานตลอด ๓ วัน ชาวมอญและพุทธศาสนิกชนทั่วไป บริจาคปัจจัยร่วมบุญตั้งโรงทานได้ที่ ธนาคารกรุงไทย สาขาบางบัวทอง ชื่อบัญชี "นายวีรพงษ์ ศรีสุวัฒนาสกุล" หมายเลขบัญชี ๑๒๑-๑-๔๓๔๑๔-๑ หรือสอบถามรายละเอียดเส้นทางไปวัดได้ที่ โทร.๐๘-๙๐๑๕-๓๓๕๐ (สอบถามเป็นภาษามอญได้)
เรื่อง... "ไตรเทพ ไกรงู
ภาพ... "ประเสริฐ เทพศรี"