ค้นพบหม้อข้าวหม้อแกงลิงสายพันธุ์ใหม่
นักพืชศาสตร์มวล. ค้นพบหม้อข้าวหม้อแกงสายพันธุ์ใหม่อุทยานแห่งชาติจ.กระบี่ เผยหม้อข้าวหม้อแกงลิงเสี่ยงจะสูญพันธุ์
ผศ.พจมาลย์ สุรนิลพงศ์ อาจารย์สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) กล่าวว่ามีคนไปเดินป่าพบเจอต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดนี้จึงถ่ายรูปส่งให้ดู จากรูปที่เห็นก็ศึกษาได้ว่าโครงสร้างของใบที่เปลี่ยนมาเป็นหม้อต่างจากสายพันธุ์อื่น จากนั้นจึงขึ้นไปบนภูเขาพรที่กระบี่พร้อมกับนักศึกษา เพื่อจะไปเก็บตัวอย่างลงมา
หลังจากเก็บตัวอย่างลงมา เมื่อมาคีย์ข้อมูลเห็นได้เลยว่าตัวใบของหม้อข้าวหม้อแกงลิงสายพันธุ์นี้ต่างไปจากสายพันธุ์อื่นที่มีอยู่ในเมืองไทย ในเรื่องของขนบริเวณตัวหม้อที่เกิดขึ้นจะต่างไปด้วย หลังจากจำแนกตามหลักของทางพฤษศาสตร์จะเห็นว่าตัวนี้ต่างไปจากสายพันธุ์ที่มีอยู่ในเมืองไทยจึงตั้งชื่อว่าเนเพ็นเดส กราเบียนลิส (Nepenthes Krabiensis) คือใช้นามสกุลตามแหล่งที่มาจากกระบี่
เพราะว่าส่วนใหญ่ใช้ชื่อจังหวัดเป็นนามสกุล พบที่เขานอจู้จี้ จ.กระบี่แห่งเดียว และพื้นที่ที่ค้นพบเนื่องจากพื้นที่ที่พบไม่มากจึงอยู่ในแหล่งที่มีโอกาสใกล้สูญพันธุ์สูง ซึ่งได้ร่วมกับกรมป่าไม้นำเอาตัวอย่างมาใช้ในการศึกษาค้นคว้าต่อไป
นอกจากนี้ทางทีมวิจัยได้เตรียมต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงสายพันธุ์ใหม่ถวายแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เพื่อความเป็นสิริมงคล
ผศ.พจมาลย์ กล่าวถึงลักษณะเฉพาะของต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงสายพันธุ์ใหม่ว่า ลักษณะเฉพาะทางกายภาพของต้นนี้เป็นเรื่องของตัวทรงหม้อจะเป็นในท้ายกระเปาะค่อนข้างจะกว้าง และมีเอวคอดชัดเจน แล้วค่อยๆบานและตัวของปากใบมีจุดต่างที่ต่อมน้ำหวานอยู่ใต้ฝาหม้อมี 2 รูปแบบ จะมีแบบเป็นวงรีกับแบบวงกลม วงรีจะมีเฉพาะบริเวณเส้นกลางของฝาหม้อ
ส่วนวงกลมจะอยู่ทั่วไปใต้ฝาหม้อ อีกจุดหนึ่งที่จะแตกต่างที่สุดคือ ขนปกคลุมที่ใบที่ใบของสายพันธุ์นี้จะไม่เจอขนปกคลุม ถ้ามองด้วยตาเปล่าจะมองไม่เห็น จะเห็นใบมันวาวถ้าส่องกล้องจุลทรรศน์ขนาดอยู่ที่ประมาณ0.02 ไมโครเมตรเล็กมาก ก็เลยต่างจากสายพันธุ์อื่นที่เห็นขนค่อนข้างชัดเจน ขนจะไปอยู่ตามซอกใบ ตามตัวผนังของตัวกระเปาะหม้อหรือว่าจู๋ที่ช่อดอกค่อนข้างชัดเจน
ผศ.พจมาลย์ สุรนิลพงศ์
โดยทั่วไปหม้อข้าวหม้อแกงลิงอยู่ในพื้นที่ 2 รูปแบบ คือพื้นที่พวกLowlandและHighlandพื้นที่Highlandจะต้องมีระดับตั้งแต่1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป อยู่บนภูเขาอากาศค่อนข้างเย็นชอบแดดจัด ถ้าอยู่ข้างล่างคือจะเป็นพวกที่ใกล้แหล่ง
ส่วนLowlandคือต่ำลงมาจาก 1,000 เมตร ซึ่งสายพันธุ์นี้เจอที่ 700 เมตร ค่อนข้างจะเป็นตัวกึ่งกลางบนยอดเขานั้นค่อนข้างจะมีความชื้นค่อนข้างสูง อากาศค่อนข้างเย็น เจอแดดตลอดทั้งวันไม่ได้อยู่ใต้ร่มเงาไม้ พบบริเวณทางสันเขา
ผศ.พจมาลย์ กล่าวต่ออีกว่า ตอนนี้มีการเผยแพร่ข้อมูลของหม้อข้าวหม้อแกงลิงสายพันธุ์ใหม่อยู่ในไทยฟอเรสต์บูลเลติน(Thai Forest Bulletin) โดยนักวิทยาศาสตร์มาจากประเทศอังกฤษเช็คข้อมูลให้และคีย์ข้อมูลต่างๆ การค้นพบครั้งนี้ไม่ได้มีการจดลิขสิทธิ์แต่เป็นการตีพิมพ์
โดยตัวพืชจะติดตัวสัญญาไซเตสที่2 เป็นเรื่องของการซื้อขาย ขณะนี้มีสายพันธุ์ของต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงในเมืองไทย 14 สายพันธุ์ 1 สายพันธุ์ย่อย
ประโยชน์ของต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงนอกจากจะเอาไว้ใส่ข้าวเหนียวแล้ว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาติดต่อเพื่อนำไปทำเครื่องสำอาง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานีได้นำเอาน้ำย่อยไปวิเคราะห์ โดยน้ำย่อยของตัวหม้อข้าวหม้อแกงลิงมีตัวกรดอ่อนๆเมื่อไปแยกสารออกมาเพื่อวิเคราะห์เกี่ยวกับโครงสร้างการทำงานของตัวกระเปาะเวลามดลงไปทำไมขึ้นมาไม่ได้ ในทางฟิสิกส์มีความเกี่ยวข้องอะไรอยู่ ซึ่งจะหลอกพวกแมลงลงไปด้วยต่อมน้ำหวานที่อยู่บริเวณปากใบ มีความลื่นโดยตอนนี้มีการทำเอกสารชิ้นนี้อยู่
และการขยายพันธุ์ของพืชชนิดนี้ จะต้องมีตัวผู้ตัวเมียผสมกันเองในดงซึ่งจะได้สายพันธุ์แท้ สามารถเอาเมล็ดไปเพาะพันธุ์ขยายต่อได้หรือใช้การปักชำแต่ต้องมีฝีมือในการปักชำซึ่งพืชพวกนี้มีความเสี่ยงที่จะหายไปสูง เช่น จ.สุราษฯ คนไถที่ทำสวนยาง สวนปาล์ม หรือพื้นที่อื่นๆที่มีการทำสวนยางและสวนปาล์ม พืชชนิดนี้อยู่โดดเดียวไม่ได้ต้องอยู่เป็นกลุ่มเพราะหากแยกเพศถ้ามีต้นตัวผู้อย่างเดียวก็ขยายพันธุ์ไม่ได้และพืชนี้จะอยู่เป็นกลุ่มอย่างเห็นได้ชัด