
ไหลายก้นหอย “บ้านเชียง” มรดกโลกสู่รายได้ชุมชน
ไหลายก้นหอย บ้านเชียง จ.อุดรธานี มรดกโลกคุณค่าแก่การอนุรักษ์ และสามารถนำมาพัฒนาต่อยอด สร้างรายได้แก่ชุมชน ส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน
บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เลื่องลือไปด้วยโบราณวัตถุ ประเพณีและความเชื่อ แหล่งรวมแห่งศรัทธา โดยเฉพาะไหที่มีลายเป็นอัตลักษณ์พิเศษ ลวดลายคล้ายก้นหอย เผยความสวยงามที่แตกต่าง สร้างจุดเด่นให้คนบ้านเชียง นำมาสู่เส้นทางการสร้างรายได้
“เราเป็นลูกหลานไทยบ้านเชียง ไม่ต้องไปขายไกลบ้าน ตื่นเช้ามาก็เปิดร้านได้เลย เพราะ ไปรับผ้ามาจากชาวบ้าน มาขายก็จะไปรับกับคนมัดลายส่วนหนึ่ง คนย้อมผ้าอีกส่วนหนึ่ง เป็นเหมือนการกระจายรายได้ ไม่ใช่รับมาจากคนๆเดียว ผ้าลายบ้านเชียงก็จะมีเอกลักษณ์กว่าที่อื่น ให้ดูที่ลายไหก้นหอย จะมีที่บ้านเชียงที่เดียว ” เสาวนัน เหมือนสีเลา หรือ ตุ๋ม อายุ 45 ปี เจ้าของร้านขายเสื้อผ้าย้อมคราม สีกรม ของบ้านเชียง เล่าอย่างยิ้มแย้มหลังร่วมรับชมขบวนแห่ฉลองมรดกโลกบ้านเชียง
เสาวนัน เหมือนสีเลา
ตุ๋ม ยังเล่าด้วยความภูมิใจว่า เคยไปทำงานขายเสื้อผ้าที่จัตุจักร กรุงเทพฯ ระยะหนึ่ง แต่รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงกลับมาเปิดร้านขายผ้าย้อมครามที่บ้านเชียง ร้านจะเปิดเวลา 8.00 น. – 17.00น. ซึ่งรายได้ประมาณเดือนละ 10,000 – 20,000บาท รูปแบบของเสื้อหรือผ้าถุงสำเร็จรูปที่จำหน่ายต้องพัฒนาตามยุคสมัย
เช่นเดียวกับ ชาตรี ตะโจประรัง อายุ 52 ปี ช่างเขียนลายสีไหบ้านเชียง ที่ยึดอาชีพเป็นรายได้หลักของครอบครัว สามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวประมาณ 8,000-9,000 บาท/เดือน ต้นทุนที่รับมาขึ้นอยู่กับขนาดของไห มีตั้งแต่ 4,5,20 และ 25 บาทขึ้นไป โดยที่ไม่ต้องไปทำงานไกลบ้านหรือรับจ้างแรงงาน ได้ทำงานที่รักและยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของบ้านเชียง
อีกทั้งยังเป็นการกระจายรายได้ให้กับชาวบ้าน เพราะแต่ละครอบครัวจะแยกหน้าที่กันทำไหลายก้นหอย แบ่งเป็นช่างปั้น ช่างเขียนสี และคนรับไปจำหน่าย ไหลายก้นหอยที่บ้านเชียงมีความพิเศษที่มีความหมายบ่งบอกถึงความโชคดี จึงเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยว
ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าของมรดกโลกในประเทศไทย แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงปรากฎหลักฐานของอารยธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีความโดดเด่นในภูมิภาคตะวันออกเฉัยงใต้
เศวตฉัตร บรรเทาทุกข์
บรรยากาศที่เต็มไปด้วยความเบิกบาน ชาวบ้านในระแวกใกล้เคียง แห่มาชมขบวนแห่ด้านศิลปวัฒนธรรม ทั้งหมด 6 ขบวน ได้แก่ ขบวนฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ ขบวนไหหลายบุปชาติ ขบวนย้อนรอยอดีตวิถีชีวิตไทพวกบ้านเชียง ขบวนผ้ามัดหมี่ย้อม คราม พานบายศรี ขบวนอารยธรรม 5,000 ปี ขบวนเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 10 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริรัชกาลที่ 9 ในพื้นที่เทศบาลตำบลบ้านเชียง ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียงและลานวัฒนธรรมเทศบาล ทุกขบวนแห่ที่ย่างผ่าน ต่างสร้างรอยยิ้มบนใบหน้า ให้กับชาวบ้านไม่น้อย
เศวตฉัตร บรรเทาทุกข์ นายกเทศมนตรีบ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี กล่าวว่า ประชากร ในต.บ้านเชียง ประมาณ 7,200 คน 1,650 ครัวเรือน ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตร แต่หากเป็นครัวเรือนใกล้กับพิพิธภัณฑ์จะทำการค้า ในบริเวณถนนสุทธิพงศ์ สายหลักที่ค้าขาย ในระยะประมาณ 900 เมตร
อีกทั้งโบราณวัตถุที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์เป็นเพียงวัตถุ การนำวิถีชีวิตของชาวบ้านมาประกอบด้วยจะทำให้ดูมีชีวิตมากขึ้น ทั้งยังพิพิธภัณฑ์บ้านเชียงยังเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ในส่วนของราคาผ้าทอบุคคลทั่วไปก็สามารถจับจ่ายได้ ตั้งแต่ 200-1,000บาท และของที่ระลึกไหลายก้นหอย ในราคา 20-30 บาทเท่านั้น ดังนั้นจึงสามารถกระรายได้ทั้ง ในส่วนของผ้าทอ และ ปั้นดินเผา ซึ่งสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน
“มีนโยบายส่งเสริมอาชีพ อย่างถ้าเขาไม่รู้ในเรื่องของการปั้น ก็จะไปหาครูมาสอน แต่ตอนกำลังส่งเสริมให้เผาแล้วเป็นเซรามิก อีกทั้งยังกำลังส่งเสริม กำลังหาเต่าที่จะมาเผาในความร้อน 1,200 องศา การทอผ้าก็เช่นเดียวกันเมื่อก่อนทอแล้วสีมันตก แต่อาศัยเจ้าหน้าที่ มาให้ความรู้ ในผสมสารต่างๆเผื่อให้สีไม่ตก การออกแบบก็เช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้รู้มาสอนในเรื่องการออกแบบ ตอนนี้คือมี นักท่องเที่ยว เข้ามาแล้วถามหาสปา นวด กำลังรับสมัครคนตามเป้าคือ 20 คน ฝึกนวดแผนไทย พร้อมตอนรับ นักท่องเที่ยว และมีกลุ่มโฮมสเตย์ที่ได้รับมาตรฐาน มีอยู่ประมาณสูงสุด 60ห้อง” เศวตฉัตร กล่าว
บ้านเชียงของดีที่เมืองไทย ชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า บ้านเชียงเป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์แห่งแรกที่มีความสำคัญในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกซึ่งยืนยันได้ถึงวัฒนธรรม หรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันว่ามีความสำคัญ เพื่อรักษาและสืบทอดขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านของชาวไทพวนบ้านเชียง และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยววัฒนธรรมเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่