ไลฟ์สไตล์

พาลกับบัณฑิต

พาลกับบัณฑิต

03 ก.ย. 2552

ผู้ใด หรือ หมู่คณะบุคคลใด มักเหยียดหยามบัณฑิต มักคบคิดกับคนพาล ย่อมไม่เจริญ และมีโอกาสที่จะดำเนินชีวิต หรือนำหมู่คณะไปสู่ความหายนะ หรือล้มเหลวในชีวิตได้

  ส่วนผู้ใด หรือหมู่คณะใด ที่ไม่เหยียดหยามบัณฑิต ไม่คบคิดร่วมกับคนพาล หมายความว่า ผู้ใดหรือหมู่คณะใด  รู้จักความเป็น “บัณฑิต” คือ คุณธรรมของบัณฑิตตามความเป็นจริง และเห็นคุณค่าของการคบบัณฑิต ย่อมคบอยู่แต่กับบัณฑิต ชื่อว่า ไม่เหยียดหยามบัณฑิต ย่อมถึงความเจริญ และสันติสุขไม่เสื่อมเลย 

 และบุคคลใด หรือหมู่คณะใด รู้จักความเป็น “พาล” คือ รู้จักลักษณะของคนพาล ตามความเป็นจริง ย่อมเห็นโทษของการคบคนพาล ย่อมไม่คบคิด และกระทำกิจการงานร่วมกับคนพาล ย่อมปลอดภัยจากความเสื่อมเสีย และความหายนะ ล่มจมในชีวิต

 ลักษณะของคนพาล นั้น ผู้มีปัญญาย่อมพิจารณาเห็นได้จากความประพฤติ หรือการแสดงออกที่เป็นกายทุจริต  วจีทุจริต  และมโนทุจริต

 กล่าวคือ ย่อมคิดแต่ความคิดชั่วๆ ด้วยอำนาจกิเลสหยาบ ได้แก่ ความโลภจัด / ราคะจัด ความผูกพยาบาท จองเวร และความเห็นผิดเป็นชอบ

 หรือมิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม  จึงประพฤติผิดศีล / ผิดธรรม ทางกาย ทางวาจา และทางใจ รวมเรียกว่า “ทุจริต”

 เขาย่อมดำเนินชีวิตไปด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา สักแต่ว่า มีลมหายใจเข้าออก จึงชื่อว่า คนพาล

 ส่วน ลักษณะของบัณฑิต ย่อมเห็นได้จากความประพฤติ หรือการแสดงออก ที่เป็นกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต 

 กล่าวคือ ย่อมคิดแต่ความคิดที่ดี คือ ที่เป็นบุญกุศล  ได้แก่ ทานกุศล ศีลกุศล ภาวนากุศล มีหิริโอตตัปปะ คือ ความละอาย และเกรงกลัวต่อบาปอกุศล มีความกตัญญูกตเวที ต่อผู้มีพระคุณ และมีพรหมวิหารธรรม รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา

 กล่าวคือ รู้จักเห็นอกเห็นใจกัน ไม่คิดแต่จะประหัตประหารกัน รู้จักรัก รู้จักสามัคคี และรู้จักอภัยให้กันและกัน  เขาย่อมดำเนินชีวิตไปด้วยสติสัมปชัญญะ และปัญญาอันชอบ คือ รู้ผิด-ชอบ ชั่ว-ดี รู้บาป-บุญ คุณ-โทษ จึงชื่อว่า “บัณฑิต”

 ผู้ไม่คบคนพาล คบอยู่แต่กับบัณฑิต บูชาบุคคลดีที่ควรบูชา ด้วยอามิสบูชา และปฏิบัติบูชา ชีวิตย่อมถึงความเจริญ และสันติสุขแต่ส่วนเดียว

 และเมื่อปฏิบัติถึงความดียิ่งขึ้นไป ได้แก่ ปฏิบัติและเจริญอริยมรรค มีองค์ ๘ ย่อมถึงความพ้นทุกข์ และถึงบรมสุขอย่างถาวร ตามรอยบาทพระพุทธองค์ ตามระดับภูมิธรรมที่ปฏิบัติได้

 ดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสว่า  “อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจ  เสวนา ปูชา จ ปูชนียานํ  เอตมฺมงฺคล มุตฺตมนฺติฯ”

 การไม่คบคนพาล คบแต่บัณฑิต และบูชาบุคคลที่ควรบูชา ย่อมเป็นมงคลอย่างสูงสุด

"พระราชญาณวิสิฐ (หลวงป๋า)"