ไลฟ์สไตล์

ม.แม่โจ้เดินหน้าวิจัยตลาดเนื้อโคขุนภาคเหนือตอนบน

ม.แม่โจ้เดินหน้าวิจัยตลาดเนื้อโคขุนภาคเหนือตอนบน

02 ก.ย. 2552

ม.แม่โจ้ เผย ก.เกษตรฯ -กรมปศุสัตว์หนุนงานวิจัย"การขยายศักยภาพการผลิตและการตลาดเนื้อโคขุนคุณภาพในเขตภาคเหนือตอนบน" หวังพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงโคเนื้อป้อนตลาด คาดภายในเดือน ก.ย.สรุปผลงานวิจัยเสร็จ ชง รมว.เกษตรฯนำเข้าครม. วางแผนใช้ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจช่วยพัฒน

ดร.ดำรง ลีนานุรักษ์ อาจารย์ประจำคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้  เปิดเผยกับ"กรุงเทพธุรกิจ"ว่า  คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับมอบหมายจากกรมปศุสัตว์ ให้ดำเนินโครงการวิจัย"การขยายศักยภาพการผลิตและการตลาดเนื้อโคขุนคุณภาพดีในเขตภาคเหนือ" ตามนโยบายและยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิตโคเนื้อของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   ที่กรมปศุสัตว์ร่วมกับคณะกรรมการนโยบายโคเนื้อแห่งชาติ จัดทำและนำเสนอกระทรวงเกษตรฯ 

 ทั้งนี้การวางการพัฒนาตลาดเนื้อโคออกเป็น 3 ระดับ คือตลาดเนื้อโคคุณภาพสูง กลางและต่ำ การเร่งขยายศักยภาพการผลิตเนื้อโคขุนคุณภาพดีในเขตภาคเหนือตอนบนเข้าได้หรือตรงกับนโยบายพัฒนาการเกษตรของกระทรวงเกษตรฯ ทั้งส่วนที่เป็นนโยบายเร่งด่วนและนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตร 

 ดร.ดำรง กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้  ได้จัดประชุมระดมความคิดจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในภาคเหนือ เพื่อนำไปสู่การสรุปเป็นผลการวิจัยที่จะชี้แนะแนวทางการปฏิบัติที่ภาครัฐต้องเข้ามาดำเนินการและสนับสนุน โดยมีมหาวิทยาลัยแม่โจ้เข้ามาเป็นตัวกลางเชื่อมประสานงานร่วมกับสหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน และสหกรณ์โคเนื้อโพนยางคำ การสนับสนุนด้านวิชาการและให้บริการด้านต่างๆ เช่น การพัฒนาระบบการให้อาหารโค  สนับสนุนให้ใช้โรงฆ่าและชำแหละโค ฯลฯ

 มหาวิทยาลัยแม่โจ้จะใช้ศักยภาพของหน่วยบ่มเพาะธุรกิจมาช่วยสร้างรูปแบบธุรกิจร้านอาหารหรือภัตตาคารขนาดย่อมที่เน้นขายอาหารในรูปสเต๊กและเมนูเนื้ออื่นๆ เป็นร้านอาหารและภัตตาคารต้นแบบประมาณ 10 - 20 ร้าน เพื่อขยายตลาดให้กว้างขวางขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอในข้อสรุปงานวิจัยที่เน้นพัฒนาระบบการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำคือเกษตรกรจนถึงผู้บริโภค ทำให้การวางแผนงานในอนาคตมีความยั่งยืน

 "คาดว่างานวิจัยชิ้นนี้จะเสร็จในเดือน ก.ย.2552 หากนำผลงานวิจัยเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯแล้วได้รับความเห็นชอบใช้เป็นแผนต้นแบบพัฒนาโคขุนคุณภพของภาคเหนือตอนบน อาจมีการเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อขออนุมัติงบประมาณจากงบชุมชนเข้มแข็งมาใช้พัฒนาตามเป้าหมาย"ดร.ดำรงกล่าว

 ดร.ดำรง กล่าวอีกว่า  ปัจจุบันในจ.เชียงใหม่มีกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงโคเนื้ออยู่ประมาณ 4 - 5 กลุ่มและมีเอกชนที่เลี้ยงโคเนื้ออีก 1 ราย มีการชำแหละโคเนื้อสัปดาห์ละ 2 ตัว หรือเฉลี่ยปีละ 100 ตัวเท่านั้นถือว่าน้อยมาก ขณะที่สหกรณ์เนื้อโพนยางคำชำแหละเนื้อโคสูงกว่าปีละ 2,000 ตัว สหกรณ์โคเนื้อจ.มุกดาหาร ชำแหละเนื้อโคปีละ 2,000 ตัว และสหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสนปีละ 1,000 ตัว

 เมื่อเปรียบเทียบจ.เชียงใหม่ยังมีช่องว่าง หากทำตลาดอย่างจริงจังเพื่อกระตุ้นและมีการเลี้ยงโคเนื้อ  การชำแหละอย่างมีคุณภาพน่าจะขยายตลาดได้อีกมาก เพราะปัจจุบันโรงแรมและภัตตาคารหลายแห่งยังสั่งนำเข้าเนื้อโคขุนจากต่างประเทศ เพราะกำลังผลิตและปริมาณเนื้อโคขุนในพื้นที่ยังมีน้อย คุณภาพไม่แน่นอน ฯลฯ ซึ่งสหกรณ์โคเนื้อโพนยางคำ ที่ส่งเนื้อโคชำแหละมาขายให้ร้านอาหาร ประเภทร้านสเต็กที่เข้ามาเปิดกิจการในจ.เชียงใหม่ ตั้งเป้าจะส่งมาสัปดาห์ละ 7 ตัว

 นายบุญธรรม  บุญเลา เลขากลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า   ในอดีตเกษตรกรเลี้ยงโคในจ.เชียงใหม่ต้องล้มลุกคลุกคลาน ส่วนใหญ่จึงเป็นเกษตรกรรายย่อย  เลี้ยงเป็นอาชีพเสริมคนละ 3 - 4 ตัว  มีการเลี้ยงเป็นอาชีพหลักไม่ถึง 50% เมื่อกระแสโคเนื้อราคาตกต่ำเกษตรกรหลายรายตัดสินใจขายแม่พันธุ์ทิ้งเพราะประสบปัญหาขาดทุน จึงทำให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงโคเนื้อเพื่อป้อนให้กับร้านอาหาร ภัตตาคาร และโรงแรม ยังไม่มีการพัฒนาแม้ตลาดมีความต้องการสูง

 สำหรับข้อมูลตัวเลขจำนวนโคเนื้อและความต้องการเนื้อโคขุนในตลาด เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีการจัดเก็บตัวเลขชัดเจนจึงไม่มีข้อมูล แต่เบื้องต้นหลังสหกรณ์โพนยางคำ เข้ามาทำตลาด รวมทั้งของบริษัท นอร์ทเทิร์นฟาร์ม จำกัด ที่ทำธุรกิจเลี้ยงและชำแหละโคเนื้อป้อนตลาดในจ.เชียงใหม่ พบว่ามีการชำแหละโคเนื้อวันละ 1 ตัว เชื่อว่าภายใน 1 ปีจากนี้หากมีการทำตลาดและพัฒนาระบบการเลี้ยง ปรับปรุงโรงงานชำแหละให้มีมาตรฐาน ปริมาณการชำแหละโคเนื้อจะเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 3 ตัว โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวหลักที่มีโรงแรม ภัตตาคาร ที่สั่งนำเข้าเนื้อโคขุนจากต่างประเทศอยู่แล้ว.