
บันทึกความ “เวิ้งว้าง” ที่ “เวิ้งนาครเขษม”
“เวิ้งนาครเขษม” หรืออีกชื่อที่เรียกกันจนติดปากว่า “เวิ้งนครเกษม” ปัจจุบันผู้เช่าเดิมได้ย้ายออกจากพื้นที่ไปหมดแล้ว
“เวิ้งนาครเขษม” หรืออีกชื่อที่เรียกกันจนติดปากว่า “เวิ้งนครเกษม” ปัจจุบันผู้เช่าเดิมได้ย้ายออกจากพื้นที่ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 จนถึงต้นปีนี้ ณ ตอนนี้ไม่มีผู้อยู่อาศัยแล้ว เหลือเพียงแค่ตัวอาคารที่อดีตเคยเป็นร้านค้า ที่อยู่อาศัยของชาวชุมชนเวิ้ง รอวันปรับปรุงไม่ก็ทุบทิ้ง
ช่างภาพศูนย์ภาพเนชั่น มีโอกาสเข้าไปเก็บบันทึกภาพบรรยากาศที่กำลังจะกลายเป็นอดีตของ “เวิ้งนาครเขษม” ก่อนที่ทั้งเวิ้งจะถูกพัฒนาโดยผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ใหม่ของที่ดินผืนนี้
จากข่าวเมื่อปี 2555 กลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้ตัดสินใจซื้อที่ดินของราชสกุลบริพัตร บนเนื้อที่ 14 ไร่ ในราคาหลายพันล้านจนเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
“เวิ้ง ว้าง”..... บันทึกเมื่อ มีนาคม 2560
เมื่อเข้าไปไม่ว่าจะจากฝั่งถนนเยาวราช หรือฝั่งถนนเจริญกรุง ก็ตาม จะเห็นถึงการออกแบบตัวอาคารที่มีความคลาสสิคกับความโมเดิร์น ผสมผสานกันอย่างลงตัว ตั้งแต่ยุคดั้งเดิมไล่มาจนยุคปัจจุบัน ป้ายชื่อร้านตัวอักษรไทยจีนที่ถูกแกะออก ทิ้งร่องรอยฝุ่นที่เกาะตามขอบตัวอักษร
ประตูบานเฟี้ยมเก่าโชว์ความโดดเด่นของตัวมันเอง จากสีและคราบความเก่า ซึ่งมีให้เห็นอยู่ไม่มากนัก
ป้ายแผนที่บอกสถานที่ตั้งใหม่ของร้านที่ย้ายไป ถูกแขวนอยู่หน้าประตูเหล็ก แต่ก็ยังเห็นมีบางคนที่ตั้งใจมาหาซื้อของโดยไม่รู้ว่าร้านที่ตนเองเคยมาซื้อของนั้นได้ย้ายไปแล้ว
ตามหัวมุมจุดแยกถนนภายในเวิ้งมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยนั่งประจำจุด คอยดูแลความเรียบร้อย และถนนภายในก็ถูกใช้เป็นทางลัดเลี่ยงรถติดของผู้ขี่มอเตอร์ไซด์และรถตุ๊กตุ๊ก บางส่วนของริมทางตามตรอกที่เดินลัดเลาะถึงกันได้หมด ถูกใช้เป็นที่จอดรถชั่วคราวของผู้ที่ทำมาธุระละแวกนั้น
อีกทั้งยังคงมีร้านก๋วยเตี๋ยวและร้านน้ำที่ขายมาเนิ่นนาน อาศัยริมทางเดินหน้าร้านที่ปิดตายเป็นที่ขาย ไปจนกว่าพื้นที่ทั้งหมดจะถูกปิดล้อมรั้วห้ามเข้า
ถึงตอนนี้เชื่อว่าหลายคนเฝ้าติดตามการพัฒนาพื้นที่ของ “เวิ้งนาครเขษม” ที่กำลังจะกลายเป็นอดีตในไม่ช้า และยังไม่มีความแน่ชัดว่าจะออกมาในรูปแบบใด
ส่วนใครที่ต้องการไปเดินสัมผัสบรรยากาศและชื่นชมมนต์เสน่ห์ของความเก่า ความดิบที่ยังมีให้เห็นภายในเวิ้งนาครเขษม ไม่ว่าจะถ่ายภาพ หรือวาดรูปนั้น สามารถเดินเข้าไปได้ทุกวันตลอดเวลาจนกว่าพื้นที่จะปิดห้ามเข้า
เรื่อง-ภาพ ฐานิส สุดโต NationPhoto