
รถตู้ดัดแปลงเสี่ยงอุบัติเหตุสูง!!
นักวิชาการ สวทช. ชี้โครงสร้างเชิงวิศวกรรมของรถตู้ดัดแปลง เสี่ยงต่ออุบัติเหตุสูง พร้อมแนะติดตั้งเครื่องมือจำกัดความเร็วควบคุมคนขับ
เมื่อวันที่ 7 ม.ค.60 ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ หัวหน้าห้องปฏิบัติการการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม หน่วยวิจัยการออกแบบและวิศวกรรม ( DERU ) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ในฐานะเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์รถตู้เสียหลักพุ่งข้ามเลนชนรถกระบะดับ 25 ราย ที่อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมานั้น ปัจจัยที่มีผลต่อความปลอดภัยในการโดยสารรถสาธารณะ หรือรถโดยสารทั่วไป ปัจจัยแรกคือ ผู้ขับขี่เป็นผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุด เพราะเป็นผู้ควบคุมตัวรถ ซึ่งจากพฤติกรรมการขับขี่ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความเร็วสูง หรือความเหนื่อยล้า จนหลับใน ล้วนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุที่มีความรุนแรง
ดร.ศราวุธ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ด้วยรูปแบบลักษณะการจัดวางที่นั่งและถังแก๊สที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น ที่ บริเวณแถวหลังสุดของรถตู้ มีผู้โดยสารจำนวน4คน นั่งในตำแหน่งเหนือถังแก๊สจำนวนอย่างน้อย2ถัง หากวิเคราะห์ตาม พื้นฐานวิศวกรรมยานยนต์แล้ว จะมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า400กิโลกรัม กระทำต่อ เพลาท้ายรถยนต์ที่ล้อหลัง เป็นลักษณะของการขับขี่ที่มีความเสี่ยงสูง มีโอกาสที่รถตู้โดยสารจะเกิดอาการที่เรียกว่า“ล้อล็อก”ทั้ง2ข้างได้ ทำให้ล้อด้านหลังทั้งสองข้างไม่สามารถสร้างแรงด้านข้างเพื่อแก้สถานการณ์ใดๆ ได้ชั่วขณะ และอาจส่งผลให้คนขับรถไม่สามารถควบคุมรถได้ โดยเฉพาะในกรณีที่รถต้องเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง หรือวิ่งในสภาพถนนที่ลื่น และทำให้เกิดรถเสียหลักและไถลออกนอกเลนได้ในที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นการเกิดอุบัติเหตุที่คนขับรถสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ยากมาก
นอกจากนี้ ก่อนที่จะมีการนำรถตู้ที่มีการดัดแปลงในลักษณะนี้มาใช้เป็นรถโดยสารสาธารณะ ยังไม่ได้เคยมีการทดสอบ หรือพิสูจน์ด้านความปลอดภัยของโครงสร้างตัวถังของรถตู้ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรูปแบบต่างๆ ได้แก่ การชนด้านหน้า การชนด้านข้าง หรือกรณีรถพลิกคว่ำอีกด้วย
ดร.ศราวุธ กล่าวอีกว่า ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะเร่งด่วน ควรเริ่มต้นด้วยการควบคุมพฤติกรรมของคนขับรถ แม้ว่าทางกรมการขนส่งทางบกจะมีระบบ จีพีเอส แทร็คเกอร์ (GPS TRACKER) ติดตามพฤติกรรมการขับขี่ของผู้ขับรถแล้ว แต่ตัวอุปกรณ์ที่น่าจะนำมาเสริมและติดตั้งในรถตู้โดยสารสาธารณะโดยเร่งด่วนคือ อุปกรณ์จำกัดความเร็ว หรือสปีดลิมิเตอร์ (Speed limiter) ซึ่งจะสามารถเตือนเสียงดังแจ้งผู้ขับขี่หากขับรถเร็วเกินไป กรณีที่ผู้ขับขี่วูบหรือหลับใน ก็น่าจะมีสติได้อีกครั้ง อีกทั้งยังเป็นการเตือนผู้โดยสารให้ทราบถึงการขับรถของผู้ขับขี่ที่เร็วเกินกว่ามาตรฐานที่ตั้งไว้ ก็จะช่วยทำให้เกิดความตระหนักและระมัดระวังได้มากขึ้น นอกจากนั้น อุปกรณ์ต่างๆ ในตัวรถตู้นอกเหนือจากเข็ดขัดนิรภัยที่ต้องมีทุกที่นั่ง ควรมีถังดับเพลิง แถวละ 1 ชุด มีค้อนทุบกระจกนิรภัย รุ่นที่ปลายค้อนที่มีมีดสำหรับใช้ในการตัดสายเข็มขัดนิรภัย ในกรณีผู้โดยสารปลดเข็มขัดนิรภัยไม่ออก
ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการและผู้ขับขี่เอง ก็ต้องมีการแนะนำแจ้งเตือนให้ผู้โดยสารทุกที่นั่งคาดเข็มขัดนิรภัย และการให้ข้อมูลความปลอดภัย ก่อนออกเดินทางทุกครั้งกับผู้โดยสาร เช่น ให้ความรู้กรณีเกิดอุบัติเหตุว่ามีอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยอะไรบ้างที่มีอยู่ในรถ และมีวิธีการใช้งานได้อย่างไร เช่น ค้อนทุบกระจกนิรภัย ถังดับเพลิง รวมถึงข้อควรปฏิบัติในกรณีที่ เกิดอุบัติเหตุในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้เพื่อลดความรุนแรงและเพื่อบรรเทาความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสาร