ไลฟ์สไตล์

เยี่ยม"ฟาร์มไก่ฟ้า"ลุงแบนสพภ.นำร่องสู่เชิงพาณิชย์

เยี่ยม"ฟาร์มไก่ฟ้า"ลุงแบนสพภ.นำร่องสู่เชิงพาณิชย์

23 ส.ค. 2552

สัตว์ป่ามีอนาคตอย่าง "ไก่ฟ้า" ที่ปัจจุบันกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าจับตา เมื่อสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ หรือ สพภ.(องค์กรมหาชน) เข้ามาส่งเสริมการเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์แก่เกษตรกรและผู้สนใจเพื่อสร้างรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน หลังมีการประก

 "ท่องโลกเกษตร" อาทิตย์นี้มีโอกาสติดตาม ดร.ชวาล ทัฬหิกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรชีวภาพ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ หรือ สพภ.(องค์ กรมหาชน) และคณะเยี่ยมชมฟาร์มเลี้ยงไก่ฟ้าของลุงแบน พานหล้า เกษตรกรเจ้าของฟาร์มไก่ฟ้า วัย 63 ปี ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นฟาร์มไก่ฟ้านำร่องของ สพภ.ในการพัฒนาการเลี้ยงไก่ฟ้าสู่เชิงพาณิชย์อย่างครบวงจร

 ฟาร์มไก่ฟ้าแห่งนี้หรือที่รู้กันในนาม "ฟาร์มไก่ฟ้าลุงแบน" ตั้งอยู่เลขที่ 268/2 หมู่ 4 ต.ท่ากระดาน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี บนเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่เศษ ริมถนนสายตัวเมืองกาญจนบุรี-เขื่อนศรีนครินทร์ ภายในฟาร์มถูกแบ่งออกเป็นสัดส่วน มีกรงน้อยใหญ่กว่า 200 กรงตั้งอยู่เรียงรายอย่างเป็นระเบียบ แต่ละกรงเต็มไปด้วยไก่ฟ้าหลากหลายสายพันธุ์ทั้งไทยและต่างประเทศส่งเสียงร้องอื้ออึงไปหมด

 "สวัสดีค่ะทุกๆ ท่าน "ภพภรณ์ พานหล้า หรือน้องโบ สาวน้อยวัยใส ลูกสาวลุงแบน พานหล้า เจ้าของฟาร์ม (ตัวจริง) กล่าวต้อนรับพวกเราก่อนพาเยี่ยมชมภายในฟาร์ม โดยจุดแรกจะเป็นโรงเรือนสำหรับเพาะฟักและกรงอนุบาลลูกอ่อน พร้อมดูขั้นตอนการตรวจสอบเชื้อของไข่แต่ละใบโดยเครื่องมืออันทันสมัย โดยสังเกตดูว่ามีเส้นเลือดหรือไม่ หากไม่มีก็แสดงว่าไข่ใบนั้นไม่มีเชื้อที่พร้อมจะฟักเป็นลูกเจี๊ยบ และสามารถนำมาทำเป็นอาหารได้

 "ทุกๆ เช้าเราจะต้องมาตรวจดูตามกรงต่างๆ ว่าไก่ตัวใดไข่หรือไม่ จากนั้นก็เก็บรวบรวมไข่ให้ได้ 10-30 ใบแล้วนำมาเข้าตู้อบประมาณ 3 วัน แล้วตรวจดูเชื้อว่ามีหรือไม่ ถ้ามีก็คัดแยกออกมาเพื่อเพาะฟักเป็นลูกอ่อนต่อไป ซึ่งไข่ที่มีเชื้อแต่ละใบจะมีราคาไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับชนิดของไก่ฟ้า อย่างหลังขาว อยู่ที่ 1,000 บาท พญาลอ 3,000 บาท ยูงไทย 3,000 บาท ซึ่งราคาก็ใกล้เคียงกับลูกไก่จะต่างกันประมาณ 200-300 บาท" ภพภรณ์ เผยระหว่างนำชมโรงเพาะฟัก

   ภพภรณ์ เผยต่อว่า ลูกค้าส่วนใหญ่จะนิยมซื้อลูกไก่เนื่องจากสามารถนำไปเลี้ยงต่อได้ทันที  ขณะที่บางคนมีปัญหาในการนำพาไปก็เลือกที่จะซื้อไข่ไก่เพื่อนำไปเพาะฟักเองแทน ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ฟาร์มก็จะมีการรับประกันให้ด้วย ส่วนขั้นตอนการเพาะฟักนั้นหลังจากใช้ระยะเวลาฟักประมาณ 21 วันก็จะออกเป็นลูกเจี๊ยบ จากนั้นก็นำไปกกไฟขนาด 25 วัตต์ ประมาณ 15 วัน จึงจะนำมาเลี้ยงในกรงต่อไป

 หลังจากเดินดูโรงเรือนเพาะฟักพร้อมขั้นตอนการเพาะฟักอยู่พักใหญ่ จากนั้นจึงเดินไปที่กรงขนาดใหญ่สำหรับเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ ปัจจุบันมีอยู่ 180 กรง และกรงอนุบาลลูกเจี๊ยบอีก 40 กรง ซึ่งตั้งอยู่ติดกัน มีทั้งกรงเดี่ยว เลี้ยงตัวเดียว กรงคู่สำหรับการผสมพันธุ์และกรงที่เลี้ยงรวมกันหลายๆ ตัวสำหรับขุนเพื่อการจำหน่ายโดยเฉพาะ

 ภพภรณ์ระบุอีกว่า ปัจจุบันไก่ฟ้าที่เลี้ยงในฟาร์มมีอยู่ประมาณ 700-800 ตัว มีทั้งไก่ฟ้าสายพันธุ์ไทยและสายพันธุ์ต่างประเทศ โดยสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมได้แก่ พญาลอ หน้าเขียว หลังขาว จันทบูร ไก่ฟ้าลิฟมาจากจีน ซึ่งสายพันธุ์เหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีราคาค่อนข้างสูงเฉลี่ยตั้งแต่ 15,000-50,000 บาทต่อตัว โดยราคาซื้อขายจะไม่มีเกณฑ์ที่ตายตัวขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดด้วย

 "อย่างไก่ฟ้าหน้าเขียวในฟาร์มก็มีอยู่หลายตัว แต่มีอยู่ตัวหนึ่งใครมาเจอก็อยากได้ เพราะเด่นกว่าตัวอื่นๆ มีความคุ้นเคยกับคนมาก ไม่ตื่นตระหนกง่าย ชอบให้ถ่ายรูป ตัวนี้มีคนเสนอราคาให้ 8 หมื่น แต่ก็ยังไม่ขาย" ภพภรณ์ ชี้ไปที่ไก่ฟ้าหน้าเขียวตัวนั้น พร้อมย้ำว่า

 แม้ไก่ฟ้าสายพันธุ์ยอดนิยมทั้งหลายแต่ละตัวจะมีราคาแพงเฉลี่ยตั้งแต่หลักหมื่นขึ้นไป แต่ก็ยังมีอีกมากมายที่มีการซื้อขายแค่หลักพัน อาทิ ไก่ฟ้าสีทอง ไก่ฟ้าเยลโล ไก่ฟ้าเลดี้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและอายุของไก่ด้วย ซึ่งที่ฟาร์มส่วนใหญ่จะจำหน่ายไก่รุ่นหรือไก่สาวที่มีอายุตั้งแต่ 10 เดือนขึ้นไป โดยตลาดส่วนใหญ่จะเน้นขายหน้าฟาร์มเป็นหลัก นอกจากนี้ยังนำออกขายตามงานต่างๆ อีกด้วย

 ขณะที่ ดร.ชวาล ทัฬหิกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรชีวภาพ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ หรือ สพภ.(องค์กรมหาชน) กล่าวระหว่างนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมฟาร์มไก่ฟ้าลุงแบน โดยระบุว่าการเพาะเลี้ยงไก่ฟ้าเชิงพาณิชย์ เป็นเพียงโครงการนำร่องเท่านั้น เรายังมีสัตว์ป่าเพื่อพัฒนาเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกหลายชนิด คาดว่าหลังจากเรื่องไก่ฟ้าเรียบร้อยแล้ว เราจะนำเรื่องกวางไทย และชะมดเช็ด มาส่งเสริมเพื่อการค้าอย่างเป็นทางการ พร้อมจำหน่ายสายพันธุ์ด้วย

 "ตอนนี้ขอทำเรื่องไก่ฟ้าให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจอย่างยั่งยืนก่อน เพื่อสร้างงาน สร้างเงิน ให้ชาวบ้าน ในขณะเดียวกันเราก็สามารถอนุรักษ์สายพันธุ์ในธรรมชาติได้ด้วย ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535" ดร.ชวาลกล่าวทิ้งท้าย

   สำหรับผู้สนใจการเลี้ยงไก่ฟ้าเชิงพาณิชย์หรืออยากรู้ขั้นตอนการเลี้ยงอย่างถูกวิธีสามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ หรือ สพภ.(องค์กรมหาชน) โทร.0-2141-7804, 0-2141-7836-7 ได้ทุกวันในเวลาราชการ

สุรัตน์ อัตตะ