
หมอแนะคู่รักตรวจ"ธาลัสซีเมีย"ก่อนแต่ง
ที่ผ่านมาคู่รักหนุ่มสาวมักจะเลือกวันแต่งงานหรือจดทะเบียนสมรสในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปี ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงรณรงค์ให้ผู้ที่ทำกำลังคิดสร้างครอบครัวในช่วงนี้ ได้วางแผนป้องกันเรื่องการตรวจเลือดก่อนวางแผนแต่งงาน เพื่อ
ผศ.พญ.ปราณี สุจริตจันทร์ สาขาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โดยเฉลี่ยชาวไทยเป็นพาหะของธาลัสซีเมียชนิดใดชนิดหนึ่งถึงร้อยละ 30-45 หรือประมาณ 24 ล้านคนที่มียีนผิดปกติ ทำให้ในประเทศไทยมีคนเป็นโรคธาลัสซีเมียมากถึงร้อยละ 1 หรือประมาณ 6 แสนคน
"ที่ผ่านมามีการรณรงค์ในเรื่องการตรวจเลือดก่อนแต่งงาน เพื่อลดความเสี่ยงโรคโลหิตจางพันธุกรรมธาลัสซีเมีย โดยมีการเผยแพร่ข้อมูลแก่ประชาชนทั่วไป เพื่อให้เกิดความตระหนักและการกระตุ้นให้สังคมได้รับทราบความจริง โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องใช้เงินจ่ายค่าเลือดและค่ายาขับเหล็ก เดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 10,000 - 20,000 บาท และยังไม่รวมค่ารักษาพยาบาลอื่นๆ อีก" ผศ.พญ.ปราณีกล่าว
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโลหิตวิทยากล่าวว่า ไม่ได้มีการห้ามไม่ให้คู่สมรสที่เป็นพาหะทั้งคู่แต่งงานกัน ซึ่งคู่สมรสสามารถที่จะมีครอบครัวได้ตามปกติ แต่ก่อนที่คิดจะตั้งครรภ์ ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ด้วยการเจาะน้ำคร่ำ หรือการตัดชิ้นเนื้อจากรกมาตรวจ โดยสูตินรีแพทย์ที่ชำนาญ ซึ่งหากตรวจพบทารกในครรภ์เป็นโรคดังกล่าว คู่สมรสต้องรับคำปรึกษาจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง
"ถ้ามีความเข้าใจในเรื่องโรคธาลัสซีเมียเป็นอย่างดี การเป็นพาหะไม่ใช่สิ่งน่ากลัวหรืออันตราย ถ้ามีข้อสงสัยกับเรื่องเหล่านี้สามารถขอรับคำปรึกษาจากแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ แต่ควรตระหนักถึงการวางแผนครอบครัว ที่สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคธาลัสซีเมียรายใหม่ๆ ในประชากรไทย เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง เป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของประเทศชาติต่อไป"