Lifestyle

วิจัยชี้เด็กคะแนนสอบดี มีทักษะคิดวิเคราะห์-จิตสาธารณะน้อย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผลการวิจัยชี้ เด็กไทยคะแนนสอบดี จะมีทักษะการคิดวิเคราะห์และจิตสาธารณะน้อย

 

    สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดย ศูนย์ประสานงานการศึกษา “การสร้างความคุ้มครองทางสังคมในกลุ่มเด็กและเยาวชน” (CSPS) จัดการประชุม “CHILD POLICY FORUM I : นโยบายด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะของนักเรียนไทย” ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอและร่วมอภิปรายผลการวิจัยหัวข้อ “การศึกษาความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะเพื่อพัฒนาศักยภาพการเป็นคนดีคนเก่งของนักเรียนไทย”

       รศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ จากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ และ ผศ. ดร. ยศวีร์ สายฟ้า จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ทีมวิจัยได้ทำการออกแบบแบบทดสอบการคิดวิเคราะห์ (คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน) ตามโครงสร้างของข้อสอบโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA และแบบทดสอบโครงการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนไทยเทียบกับนานาชาติ หรือ TIMSS สำหรับแบบทดสอบวัดความมีจิตสาธารณะ มีองค์ประกอบ 4 ข้อ

วิจัยชี้เด็กคะแนนสอบดี มีทักษะคิดวิเคราะห์-จิตสาธารณะน้อย

        รศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ

     คือ 1.การมีความรับผิดชอบต่อตนเอง และหลีกเลี่ยงการใช้หรือการกระทำที่จะทำให้เกิดการชำรุดเสียหายต่อส่วนรวม 2.การถือเป็นหน้าที่ที่จะมีส่วนร่วมในการดูแลส่วนรวม และช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความเต็มใจโดยไม่หวังผลตอบแทน 3.การมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อโรงเรียน ชุมชนและสังคม และ 4.การมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยการเคารพสิทธิของผู้อื่นและปฏิบัติตนโดยสุจริต ทีมวิจัยนำแบบประเมินทั้ง 2 แบบ ไปทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียนระดับชั้น ป.6 ม.4 และ ปวช. 1 จำนวนทั้งสิ้น 6,235 คนใน 5 ภูมิภาค 10 จังหวัด โดยมีการศึกษาปัจจัยด้านผู้เรียน โรงเรียน การใช้เวลา และครอบครัวประกอบด้วย

     ผลการวิจัยพบว่า เด็กไทยได้คะแนนการคิดวิเคราะห์ เกินร้อยละ 60 ในทุกวิชา เพียงร้อยละ 1.09 โดยเด็กที่มีผลการเรียนดี(วัดด้วยคะแนนสะสมในโรงเรียน) จะมีทักษะการคิดวิเคราะห์น้อยกว่า และมีจิตสาธารณะน้อยกว่าเด็กที่มีผลการเรียนต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ผลทางสถิติพบว่า เด็กที่มีทักษะการคิดวิเคราะห์จะมีแนวโน้มที่มีจิตสาธารณะที่ดีด้วย เด็กไทยมีจิตสำนึกรู้ถึงความรับผิดชอบของตนเองและการช่วยเหลือผู้อื่นในระดับหนึ่ง แต่ยังมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อโรงเรียนชุมชนสังคมน้อย

วิจัยชี้เด็กคะแนนสอบดี มีทักษะคิดวิเคราะห์-จิตสาธารณะน้อย

     “จากผลการวิจัยเชิงสถิติ นักเรียนไทยมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์อยู่ในระดับที่ต่ำมาก แม้ว่าจะมีการประเมินผลการเรียนในโรงเรียนอย่างเข้มข้น ผลการศึกษาพบว่า ระดับการคิดวิเคราะห์แปรผกผันกับเกรดเฉลี่ย แสดงถึงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ทางด้านการเรียนการสอนด้านการคิดวิเคราะห์ หรือการวัดผลการคิดวิเคราะห์ในโรงเรียนอาจไม่มีประสิทธิผล ทางด้านการมีจิตสาธารณะพบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ยังมีการแสดงออกถึงการริเริ่มหรือการสร้างสรรค์ต่อส่วนรวม ความรับผิดชอบต่อสังคม ความเคารพสิทธิของผู้อื่น ตลอดจนมีความซื่อสัตย์สุจริตในระดับที่ไม่มากนัก ดังนั้นการส่งเสริมให้นักเรียนทำกิจกรรมจิตสาธารณะในทุกด้านควรได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย เริ่มจากครอบครัว ชุมชน สถานศึกษา และสังคมอย่างต่อเนื่อง

     ทักษะสำคัญสำหรับทรัพยากรมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 ชี้ให้เห็นว่า การเป็นเด็กเก่งเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องมีการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ และควรส่งเสริมและพัฒนาให้มีจิตสาธารณะควบคู่กันไปเพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาทางสังคม จากผลการศึกษาพบว่า เกรดเฉลี่ยของนักเรียนในโรงเรียนแปรผกผันกับการมีจิตสาธารณะเช่นเดียวกับทักษะการคิดวิเคราะห์ โรงเรียนต้องส่งเสริมให้โรงเรียนจัดกิจกรรมบูรณาการประยุกต์ใช้ความรู้ด้านคิดวิเคราะห์กับการมีจิตสาธารณะให้นักเรียนมากขึ้น และมีการวัดผลและประเมินจากกิจกรรมโดยใช้ตัวชี้วัดทั้งด้านการคิดวิเคราะห์และจิตสาธารณะร่วมกันและไม่เน้นการท่องจำ

     นอกจากนี้ผลการศึกษาพบว่านักเรียนที่มีการเรียนพิเศษเสริมทักษะด้านการเรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์มากกว่านักเรียนที่ไม่ได้เรียนพิเศษ ชี้ให้เห็นว่า ระบบการเรียนในโรงเรียนที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เอื้อต่อการพัฒนาการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรพิจารณาการปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการพัฒนาการคิดวิเคราะห์ให้มากขึ้น ทั้งนี้ อาจส่งผลให้อัตราการเรียนพิเศษทางด้านวิชาการลดลงด้วย

     การสำรวจครั้งนี้พบว่าที่ว่า เด็กที่สังคมให้คุณค่าว่าเก่ง มีผลการเรียนดี เป็นเด็กที่มีจิตสาธารณะน้อย ควรมีการปรับปรุงหลักสูตรในโรงเรียนให้ลดการแข่งขันและมุ่งเน้นการทำงานร่วมกันโดยดำเนินการตามหลักการ “เด็กเก่งดีได้” โดยการส่งเสริมการมีจิตสาธารณะอาจส่งเสริมควบคู่ไปกับการเสริมทักษะด้านศิลปะ ดนตรี และกีฬาในโรงเรียน การพัฒนาศักยภาพการคิดวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะของนักเรียนควรคำนึงถึงประเด็นด้านความเหลื่อมล้ำและข้อจำกัดของการเรียนรู้ของท้องถิ่นเพื่อยกระดับคุณลักษณะทั้ง 2 อย่าง อย่างเหมาะสมในแต่ละภูมิภาค ควรศึกษาแบบอย่างการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และการมีจิตสาธารณะจากการเรียนการสอนในภาคใต้ เพราะผลการวิจัยพบว่าเด็กภาคใต้มีผลคะแนนการสอบ คิดวิเคราะห์และจิตสาธารณะสูงกว่านักเรียนในภูมิภาคอื่น” รศ.ดร.ปังปอน์กล่าวขยายความ

วิจัยชี้เด็กคะแนนสอบดี มีทักษะคิดวิเคราะห์-จิตสาธารณะน้อย

ศ.พญ.อลิสา วัชรสินธุ

     ด้าน ศ.พญ.อลิสา วัชรสินธุ หัวหน้าหน่วยจิตเวชเด็ก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า “เด็กควรจะมีทักษะพื้นฐาน อาทิ การอ่านออกเขียนได้ ความสามารถในภาษาที่ 2 ตามวัย อยากเห็นหลักสูตรการศึกษาที่เป็นแบบสั่งตัด หรือ Tailor Made ที่เหมาะสมกับเด็ก เพราะเด็กแต่ละคนล้วนมีความสามารถแตกต่างกัน เด็กอาจไม่มีเวลาสำหรับการพัฒนาทักษะดังกล่าว เพราะตารางการใช้ชีวิตเต็มไปด้วยเรื่องการเรียนที่โรงเรียนและเรียนพิเศษเต็มที่แล้ว”

       ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า “ทางฝั่งของสถาบันผลิตครูอย่างคณะคุรุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์มองเห็นว่า นักศึกษาครูหลายคนมีไฟในความเป็นครูสูง แต่เมื่อเข้าไปอยู่ในสถาบันการศึกษาจริง นโยบายของผู้บริหาร ตลอดจนแนวปฏบัติในหลักสูตรการเรียนการสอน ล้วนบีบรัดทำให้ทฤษฎีหรือหลักการที่เหมาะสมในการสอนเด็กมากกว่าไม่ได้นำไปใช้”

    ด้าน รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการด้านการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ และ รักษาการผู้อำนวย ฝ่ายชุมชุนและสังคม สกว. กล่าวว่า “ภายใต้ข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง ตนไม่เห็นด้วยที่จะผลักหน้าที่ความรับผิดชอบเรื่องการส่งเสริมให้เด็กมีทักษะการคิดวิเคราะห์และจิตสาธารณะให้เป็นภาระของ “ครู” หรือ “โรงเรียน” เพียงฝ่ายเดียว ทั้งครูและผู้ปกครองจะเป็นตัวแทนการเปลี่ยนแปลง หรือ Change Agent ที่สำคัญสำหรับการคลี่คลายปัญหานี้”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ