ไลฟ์สไตล์

‘หลักการทรงงาน’ ของ ‘ในหลวง’ (II)

‘หลักการทรงงาน’ ของ ‘ในหลวง’ (II)

26 พ.ย. 2559

คอลัมน์ คลินิกคนรักบ้าน กับ ดร.ภัทรพล

 

         สำหรับสาระน่ารู้ในสัปดาห์นี้ของคลินิกคนรักบ้าน เป็นความเดิมที่ต่อจากตอนที่แล้วที่ว่าด้วย “หลักการทรงงาน” ทั้ง 23 ข้อ ของ “ในหลวง”  ซึ่งรวบรวมโดย “ศาตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย” ( องคมนตรี ) ซึ่งหากใครสามารถปฏิบัติตามครบถ้วนทั้ง 23 ข้อได้แล้ว ถือว่าเป็นมงคลสูงสุดของชีวิต ทั้งยังจะนำพาไปสู่ชัยชนะในการพัฒนาหรือทำกิจการงานน้อยใหญ่ โดยความเดิมตอนที่แล้ว ผมได้นำเสนอไปแล้ว 9 ข้อ เหลืออีก 14 ข้อ ดังมีสาระต่อไปนี้ครับ

         “หลักการทรงงาน” ข้อที่ 10. คือ การมีส่วนร่วม  เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นนักประชาธิปไตย จึงทรงนำเอาหลักประชาพิจารณ์มาใช้ในการบริหาร เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งสาธารณชนและเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชน หรือความต้องการของสาธารณชน ดังกระแสพระราชดำรัสที่ว่า “...การรู้จักรับฟังอย่างฉลาดนั้น แท้จริงคือการระดมสติปัญญาและประสบการณ์อันหลากหลาย มาอำนวยการปฏิบัติบริหารงานให้ประสบความสำเร็จที่สมบูรณ์...”

         “หลักการทรงงาน” ข้อที่ 11. คือ ประโยชน์ส่วนรวม  เมื่อ ปี2514 ทรงมีพระบรมราโชวาทที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดังความตอนหนึ่งว่า “...ใครต่อใครบอกว่าขอให้เสียสละส่วนตัวเพื่อส่วนรวม อันนี้ฟังจนเบื่ออาจรำคาญด้วยซ้ำ ว่าใครต่อใครมาก็บอกว่าขอให้คิดถึงประโยชน์ส่วนรวม อาจมานึกในใจว่า ให้ๆ อยู่เรื่อย แล้วส่วนตัวจะได้อะไร ขอให้คิดว่าคนที่ให้เพื่อส่วนรวมนั้น มิได้ให้ส่วนรวมแต่อย่างเดียว เป็นการให้เพื่อตัวเองสามารถที่จะมีส่วนรวมที่จะอาศัยได้...”

         “หลักการทรงงาน” ข้อที่ 12. คือ การบริการรวมที่จุดเดียว  ทรงให้ “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ของพระองค์เป็น “ต้นแบบ” ใน “การบริการรวมที่จุดเดียว” คือ “บริการแบบเบ็ดเสร็จ” หรือ “One Stop Services” เพื่อให้ประชาชนที่มาขอใช้บริการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย โดยมีหน่วยงานราชการต่างๆ มาร่วมดำเนินการและให้บริการประชาชน ณ ที่แห่งเดียว ดังกระแสพระราชดำรัสว่า “...ประชาชนซึ่งจะต้องใช้วิชาการทั้งหลายก็สามารถที่จะมาดู ส่วนเจ้าหน้าที่ที่จะให้ความอนุเคราะห์แก่ประชาชนก็มาอยู่พร้อมกัน ในที่เดียวกัน เหมือนกัน...”

         “หลักการทรงงาน” ข้อที่ 13. คือ การใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ  ทรงเข้าใจถึงธรรมชาติและต้องการให้ประชาชนของพระองค์ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ทรงมองอย่างละเอียดถึงปัญหาธรรมชาติ หากเราต้องการแก้ไขธรรมชาติ ต้องใช้ธรรมชาติเข้าช่วยเหลือ ได้พระราชทานพระราชดำริ การปลูกป่า โดยไม่ต้องปลูก ปล่อยให้ธรรมชาติช่วยในการฟื้นฟูธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งแนวคิดในการ “ปลูกป่า 3 อย่าง” อันจะนำไปสู่ “ประโยชน์ 4 อย่าง” ได้แก่ ปลูกไม้เศรษฐกิจ ไม้ผล และไม้ฟืนต่าง ๆ เหล่านี้เป็นต้น

         “หลักการทรงงาน” ข้อที่ 14. คือ การใช้อธรรมปราบอธรรม  ทรงนำความจริงในเรื่องความเป็นไปแห่งธรรมชาติและกฎเกณฑ์ของธรรมชาติมาเป็นหลักการ แนวปฏิบัติที่สำคัญในการแก้ปัญหาและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาวะที่ไม่ปกติ ให้เข้าสู่ระบบที่เป็นปกติ เช่น การบำบัดน้ำเสียโดยใช้ผักตบชวา ซึ่งมีตามธรรมชาติ ให้ดูดซึมสิ่งสกปรกปนเปื้อนในน้ำ

         “หลักการทรงงาน” ข้อที่ 15. คือ การปลูกป่าในใจคน  การบริโภคและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง เพื่อประโยชน์ของตนเองและสร้างความเสียหายให้แก่สิ่งแวดล้อม ปัญหาความไม่สมดุลจึงบังเกิดขึ้น ดังนั้น ในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้กลับคืนมา ต้องปลูกจิตสำนึกในการรักผืนป่าให้แก่คนเสียก่อน ดังกระแสพระราชดำรัสว่า “...เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...”

         พอถึง “หลักการทรงงาน”  ข้อที่ 15 พื้นที่หมดครับ สำหรับอีก 8 ข้อ เพื่อให้ครบ 23 ข้อ เอาไว้ต่อกันในครั้งหน้า ซึ่งที่ผมได้กล่าวมานี้เป็น “หลักการทรงงาน” ของ “ธรรมราชาที่ 9 ”  ซึ่งพระองค์ทรง “ครองแผ่นดินโดยธรรม” เพื่อ “ประโยชน์สุข” แก่มหาชนชาว “สยาม” อย่างแท้จริง นับว่าเป็นบุญยิ่งแล้วครับที่ได้เกิดมาเป็นข้ารองพระบาทในรัชสมัยของพระองค์ท่าน เรามาร่วมแรงร่วมใจส่งเสด็จพระองค์ท่านสู่ “สวรรคาลัย” โดยการทำความดีถวายเป็นพระราชกุศล โดยใช้หลักธรรมของพระองค์ท่านโดยพร้อมเพรียงกันเถิดครับ