ไลฟ์สไตล์

พัฒนาคุณภาพนศ.-ครู-สถาบันเลขาฯกอศ.ชูธงปฏิรูปอาชีวศึกษา

พัฒนาคุณภาพนศ.-ครู-สถาบันเลขาฯกอศ.ชูธงปฏิรูปอาชีวศึกษา

19 ส.ค. 2552

"หลายคนบอกว่าอาชีวศึกษาจัดการเรียนการสอนแล้วไม่ค่อยมีคุณภาพ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ค้านกับความคิดของผมซึ่งมีนโยบายปฏิรูปอาชีวศึกษาโดยเพิ่มคุณภาพอาชีวศึกษาใน 3 เรื่องหลัก ทั้งนักศึกษา ครู และผู้บริหารและสถานศึกษา" นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการก

 เลขาธิการกอศ. แจกแจงอีกว่า ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) มีนักศึกษาระดับปวช. 5.2 แสนคน และระดับปวส. 2.3 แสนคน รวมประมาณ 7.5 แสนคน สอศ.จะพัฒนา "นักศึกษา" ให้มีคุณภาพทั้งด้านความรู้ ทักษะและความชำนาญการในวิชาชีพและคุณธรรมวิชาชีพ เพื่อให้เด็กที่จบไปแล้วมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามของเป้าหมายของการจัดการอาชีวศึกษา ทำให้เข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีคุณภาพ ผู้ประกอบการทำงานร่วมกับนักศึกษาได้อย่างมั่นใจ หรือหากนักศึกษาไปเรียนต่อก็สามารถนำความรู้และทักษะไปพัฒนาตัวเองให้มีคุณวุฒิสูงขึ้นได้

 "จะเพิ่มปริมาณผู้เรียนสายอาชีวศึกษาให้มากขึ้น เดิมเด็กเรียนสายสามัญร้อยละ 60 และเรียนสายอาชีวศึกษาร้อยละ 40 แต่ปีนี้มีเด็กเข้าเรียนปวช.เพิ่มขึ้น 2 หมื่นคน หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ปีนี้เริ่มรับนักศึกษาโดยทดสอบความถนัดทางช่างและเจตคติทางวิชาชีพควบคู่กับการสอบวัดความรู้วิชาการ เพื่อให้ได้เด็กที่อยากเรียนอาชีวศึกษาจริงๆ โดยภาพรวมคาดว่าเด็กเรียนอาชีวะน่าจะเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40 การที่มีนักศึกษาปวช.เพิ่มขึ้นเพราะการประชาสัมพันธ์แนะนำประชาชนว่าเรียนอาชีวศึกษามีทางเดิน 3 ทางคือ จบแล้วไปทำงานเรียนต่อหรือเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งมีทางเลือกมากกว่าสายสามัญ" 

 นอกจากนั้น สอศ.จะร่วมกับสถานประกอบการ สมาคมวิชาชีพเร่งกำหนดมาตรฐานวิชาชีพอาชีวศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ ตอนนี้กำลังกำหนดมาตรฐานวิชาชีพใน 7 กลุ่มสาขาวิชาชีพ เช่น คหกรรม ช่างอุตสาหกรรม ช่างเสริมสวย ปิโตรเคมี ฯลฯ เด็กที่จบออกมาต้องได้มาตรฐานวิชาชีพตามที่สอศ.กำหนดไว้ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐมนตรีศึกษาธิการด้วย ซึ่งมาตรฐานวิชาชีพนี้จะกำหนดไว้เป็นขั้นและเป็นเครื่องมือกำหนดค่าตอบแทนในอนาคต ขณะนี้ช่างเสริมสวยได้กำหนดมาตรฐานวิชาชีพเสร็จแล้วและนำไปใช้ให้ค่าตอบแทนแก่ช่างเสริมสวย

 นายเฉลียวยังมีนโยบายพัฒนา "ครูและผู้บริหาร" ที่มีประมาณ 4 หมื่นคน จะจัดอบรมความรู้เพิ่มศักยภาพด้านวิชาชีพและการบริหารเป็นระยะ เพื่อให้บุคลากรเหล่านี้ก้าวทันกับความรู้ในโลกวิชาชีพซึ่งมีเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ที่น่ายินดีสอศ.ได้รับความช่วยเหลือจากสถานประกอบการต่างๆ มากมายมาช่วยอบรมและให้การสนับสนุนอุปกรณ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ

 ”ผมเชื่อมั่นว่าความสำเร็จของคุณภาพอาชีวศึกษาอยู่ที่คุณภาพของครู แม้จะมีอุปกรณ์การสอนและเทคโนโลยีทันสมัยแค่ไหน ถ้าครูไม่พัฒนาก็ไม่มีประโยชน์ จะต้องพัฒนาครูและสื่อการสอนควบคู่กันไป   จะพัฒนาครูทั้งด้านความรู้และความก้าวหน้าในอาชีพ เมื่อครูรู้ว่าจะก้าวหน้าแบบไหน ก็จะหันมาสอนเด็กอย่างเต็มที่"  

 เช่นเดียวกับการพัฒนา "สถานศึกษา" จะผลักดันให้รวมกันเป็นสถาบันการอาชีวศึกษาโดยเร็วที่สุดตามที่พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ.2551 กำหนดไว้ ซึ่ง กอศ.ได้มีมติให้รวมวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่มีอยู่ทั้งหมด 415 แห่งให้เป็น 19 สถาบันอาชีวศึกษา โดยจะมีการออกกฎกระทรวงรองรับ ซึ่งการรวมตัวของวิทยาลัยอาชีวศึกษาแล้วจัดตั้งเป็น "สถาบันการอาชีวศึกษา" จะทำให้วิทยาลัยต่างๆ ใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งด้านบุคลากร อุปกรณ์การเรียนการสอน ช่วยลดค่าใช้จ่ายของแต่ละวิทยาลัยและไม่เปิดสาขาซ้ำซ้อน ไม่ต้องมาแย่งนักศึกษากัน ทำให้การเรียนการสอนมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อก้าวไปสู่การเปิดสอนระดับปริญญาสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ

 "การเปิดสอนปริญญาตรี จะเปิดเฉพาะสาขาที่มีความพร้อม ซึ่งจะดูใน 3 เรื่อง ได้แก่ ครู อุปกรณ์การสอน และสถานประกอบการที่จะเป็นแหล่งฝึกงานและมีงานทำ ถ้ากฎกระทรวงจัดตั้งสถาบันออกก่อนเดือนเมษายนปีหน้า ก็คาดว่าจะเปิดสอนปริญญาตรีได้เดือนพฤษภาคมปีหน้า แต่ละสถาบันมีคณะกรรมการสถาบันพิจารณาว่าสาขาใดบ้างที่มีความพร้อมจะเปิดปริญญาตรีได้ เบื้องต้นสอศ.ได้สำรวจในภาพรวมพบว่า สาขาที่มีความพร้อมคือ ช่างอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม เกษตรกรรม คหกรรม และศิลปกรรม ส่วนสถาบันอาชีวศึกษาแห่งไหน จะเปิดปริญญาตรีสาขาใดบ้างนั้น จะต้องสำรวจก่อน"   เลขาธิการกอศ. กล่าวทิ้งท้าย 

 0ธรรมรัช   กิจฉลอง/เรื่อง
 ประเสริฐ เทพศรี-ประชาสัมพันธ์อาชีวศึกษา/ภาพ