
‘หลักการทรงงาน’ ของ ‘ในหลวง’
คอลัมน์ คลินิกคนรักบ้าน กับ ดร.ภัทรพล
ตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่ทรงเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ “ในหลวง” อันเป็นที่รักยิ่งของเรา ได้ทรงพระราชทาน “หลักการทรงงาน”ของพระองค์ที่ใช้ในการบริหารจัดการ โครงการในพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ ถึงแม้ “ในหลวง” จะทรงงานโดยมีหลักการต่างๆ มากมาย แต่ในทางปฏิบัติไม่ทรงยึดติดกรอบความคิดและหลักการ เพราะในแต่ละโครงการจะมีลักษณะเฉพาะตัวไม่เหมือนกัน จากการที่พระองค์ทรงงานมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนเกิดสัมฤทธิ์ผล ซึ่ง “หลักการทรงงาน” ของพระองค์ท่านได้ถูกสรุปขึ้นโดย “ศาตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย” (องคมนตรี) ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างมากจึงนำมาเผยแพร่ให้รับรู้และรับทราบเป็นแบบอย่างให้ประชาชนทั่วไปสามารถน้อมนำไปปรับประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เนื่องจากพื้นที่มีจำกัดผมขอนำเสนอ “หลักการทรงงาน” เพียง ๙ ข้อจากทั้งหมด ๒๓ ข้อดังมีรายละเอียดที่น่าสนใจยิ่งดังต่อไปนี้ครับ
“หลักการทรงงาน” ข้อที่ 1. คือ การศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ การที่จะทรงพระราชทานโครงการใดโครงการหนึ่งให้กับประชาชน ทรงศึกษารายละเอียดอย่างลึกซึ้งเพื่อที่จะ “เข้าใจ,เข้าถึง,จึงพัฒนา” อย่างเป็นระบบ จากข้อมูล เอกสาร แผนที่ ฯลฯ ทั้งยังทรงสอบถามจาก เจ้าหน้าที่,นักวิชาการ และราษฎรในพื้นที่ ให้ได้รายละเอียดที่ถูกต้อง เพื่อที่จะพระราชทานความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ
“หลักการทรงงาน” ข้อที่ 2. คือ การระเบิดจากข้างใน หมายความว่าต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่เข้าไปพัฒนา ให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก มิใช่การนำเอาความเจริญหรือบุคคลจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชนในหมู่บ้านที่ยังไม่มีโอกาสเตรียมตัวหรือตั้งตัว
“หลักการทรงงาน” ข้อที่ 3. คือ การแก้ปัญหาที่จุดเล็ก ถึงแม้พระองค์จะทรงมองปัญหาใน “ภาพรวม” (Macro) ก่อนเสมอ แต่การแก้ปัญหานั้นทรงเริ่มจาก “จุดเล็ก” (Micro) คือ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่คนมักจะมองข้ามดังกระแสพระราชดำรัสที่ว่า “...ถ้าปวดหัวก็คิดอะไรไม่ออก เป็นอย่างนั้นต้องแก้ไขการปวดหัวนี้ก่อน ไม่ได้เป็นการแก้อาการจริง แต่ต้องแก้ปวดหัวก่อน เพื่อที่จะให้อยู่ในสภาพที่คิดได้...”
“หลักการทรงงาน” ข้อที่ 4. คือ การทำตามลำดับขั้น ทรงเริ่มต้นจาก สิ่งที่จำเป็นที่สุดของประชาชนก่อน ได้แก่ สาธารณสุข ต่อจากนั้นเป็นเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและสิ่งจำเป็นในการประกอบอาชีพ ที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชน โดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการให้ความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีที่เรียบง่าย เน้นการปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ราษฎรสามารถนำไปปฏิบัติได้และเกิดประโยชน์สูงสุด ดังกระแสพระราชดำรัสที่ว่า “...การพัฒนาประเทศ จำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป...”
“หลักการทรงงาน” ข้อที่ 5. คือ ภูมิสังคม การพัฒนาใด ๆ ต้องคำนึงสภาพภูมิประเทศของบริเวณนั้น และสังคมวิทยาเกี่ยวกับลักษณะนิสัยใจคอของคน ตลอดจนวัฒนธรรม ประเพณีในแต่ละท้องถิ่น ดังกระแสพระราชดำรัสที่ว่า “...การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์ และภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ คือ นิสัยใจคอของคนเรา จะไปบังคับให้คนอื่นคิดอย่างอื่นไม่ได้ เข้าไปช่วยโดยที่คิด ให้เขาเข้ากับเราไม่ได้ แต่ถ้าเข้าไปแล้วไปดูว่าเขาต้องการอะไรจริงๆ แล้วก็อธิบายให้เขาเข้าใจหลักการของการพัฒนา ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง...”
“หลักการทรงงาน” ข้อที่ 6. คือ องค์รวม ทรงมีวิธีคิดอย่าง “องค์รวม” (Holistic) หรือมองอย่าง “ครบวงจร” ทรงมองเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นและแนวทางแก้ไขอย่างเชื่อมโยง
“หลักการทรงงาน” ข้อที่ 7. คือ การไม่ติดตำรา การพัฒนาโครงการต่าง ๆ ตามแนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน มีลักษณะของการพัฒนาที่อนุโลมและรอมชอมกับสภาพธรรมชาติสิ่งแวดล้อม สภาพของสังคมจิตวิทยาแห่งชุมชน คือ ไม่ติดตำรา ไม่ผูกมัดติดกับวิชาการและเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนไทย
“หลักการทรงงาน” ข้อที่ 8. คือ การประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด การพัฒนาและช่วยเหลือราษฎร ทรงใช้หลักการแก้ไขปัญหาด้วยความเรียบง่ายและประหยัดที่ราษฎรสามารถทำได้เอง วัสดุหาได้ในท้องถิ่น และประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่ในภูมิภาคนั้น ๆ มาแก้ไขปัญหา โดยไม่ต้องลงทุนสูง ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ยุ่งยากนัก ดังกระแสพระราชดำรัสที่ว่า “...ให้ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ปล่อยให้ขึ้นเองตามธรรมชาติ จะได้ประหยัดงบประมาณ...”
“หลักการทรงงาน” ข้อที่ 9. คือ การทำให้ง่าย ทรงคิดค้น ดัดแปลง ปรับปรุง และแก้ไขงานการพัฒนาประเทศตามแนวพระราชดำริให้ดำเนินไปได้โดยง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่และระบบนิเวศน์โดยส่วนรวม ตลอดจนสภาพทางสังคมของชุมชนนั้น ๆ ทรงทำสิ่งที่ยากให้กลายเป็นง่าย ทำสิ่งที่สลับซับซ้อน ให้เข้ใจง่าย ดังนั้น คำว่า “การทำให้ง่าย” หรือ “Simplicity” ของพระองค์จึงเป็นหลักคิดสำคัญที่สุดประการหนึ่งของการพัฒนาประเทศ ในรูปแบบของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
“หลักการทรงงาน” ใน “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ทั้ง 9 ข้อ ที่ผมได้นำเสนอจาก 23 ข้อเหล่านี้ เป็นเสมือน “ชัยมงคลคาถา” ที่มีค่ายิ่งหากพิจารณาด้วย “สติปัญญา” ให้ถ่องแท้จนถึง “แก่น” แล้ว จะสามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิต อันจะก่อเกิดทั้งประโยชน์และความสุขให้กับตนเองและผู้อื่นสำหรับ “หลักการทรงงาน” ที่เหลืออีก 14 ข้อ ผมจะทยอยนำเสนอในโอกาสต่อไปครับ