
จุฬาฯรณรงค์นิสิตแต่งกายถูกระเบียบ
จุฬาฯ รณรงค์แต่งกายถูกระเบียบ หลังประเมินพบ 3 เรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก่ในตัวนิสิต แจงการแต่งกาย ความซื่อสัตย์ และการตรงต่อเวลา หวังรณรงค์ครั้งนี้เรียกร้องเกียรติภูมิของจุฬาฯ กลับคืนมา ด้านประธานฯรองกิจการนิสิตนศ. แนะรัฐบาลตั้งครม.สังคม ย้ำทุกกระทรวงต้องร่
เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2552 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธานกล่าวเปิดงานโครงการอีกนิด รณรงค์การแต่งกายถูกระเบียบ โดยมีนิสิต คณาจารย์ และบุคลากรเข้าร่วมกว่า 50 คน ว่าจุฬาฯเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศ และได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ซึ่งจากการสำรวจนิสิตจุฬาฯ สิ่งที่ต้องแก้ไขของนิสิตอย่างเร่งด่วน พบว่ามี 3 เรื่อง ได้แก่ การแต่งกายให้ถูกระเบียบ ความซื่อสัตย์ และการตรงต่อเวลา ซึ่งในเรื่องที่ต้องแก้ไขใช่ว่าจะมีปัญหารุนแรง แต่เพียงอีกนิดเท่านั้น ที่นิสิต จุฬาฯ สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทางจุฬาฯ คงไม่สามารถไปแสดงความคิดเห็นอะไรได้ แต่คงไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ถึงตัวอย่างที่ดี และไม่ดี ถึงการแต่งกายของนิสิตนักศึกษาในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.)
“ชุดนักศึกษาจุฬาฯ ถือเป็นชุดที่นิสิตควรมีความภาคภูมิใจ เพราะใครๆ ก็อยากใส่ อีกทั้งยังเป็นชุดนิสิตแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ ดังนั้น อยากให้นิสิตกระทำตัวให้เหมาะสม มีเอกลักษณ์ของตนเองไม่เหมือนใคร ซึ่งการรณรงค์การแต่งกายในครั้งนี้ ถือเป็นการเรียกร้องเกียรติภูมิของจุฬาฯ ให้กลับมา เพราะจุฬาฯ มีเอกลักษณ์ 2 เรื่องที่เด่น คือ 1ความรู้ ความสามารถ และ2 รูปลักษณ์การแต่งกาย บุคลิกภาพ ส่วนกิจกรรมที่จะทำต่อไปในโครงการนี้ คือเรื่องของความ ซื่อสัตย์ ไม่เป็นคนทุจริต คดโกง และการตรงต่อเวลา” ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าว
รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตร รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ในฐานะประธานเครือข่ายรองกิจการนิสิตนักศึกษา กล่าวว่า ตอนนี้ในกลุ่มเครือข่ายรองกิจการนิสิตนักศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยได้มีการดูแลเรื่องการแต่งกายของนิสิตนักศึกษาอยู่แล้ว ซึ่งในส่วนของมธ.ไม่ได้มีการบังคับให้นักศึกษาแต่งกายชุดนักศึกษาอย่างเดียว แต่เปิดโอกาสให้นักศึกษาใส่ชุดที่เหมาะสมถูกกาลเทศะด้วย ซึ่งขณะนี้เรื่องนี้ไม่เป็นปัญหาที่รุนแรง เพราะนักศึกษาส่วนใหญ่เข้าใจว่ากาลเทศะคืออะไร
รศ.ดร.ปริญญา กล่าวอีกว่า การแต่งกายชุดนักศึกษาที่ผิดระเบียบ ส่วนหนึ่งเกิดจากกระแสแฟชั่นที่มีดาราเป็นตัวต้นแบบ ซึ่งการแก้ปัญหาที่ดี และก่อให้เกิดเป็นรูปธรรม นอกจากมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต้องร่วมรับผิดชอบ และควบคุมการแต่งกายของนักศึกษาแล้ว รัฐบาลต้องจัดคณะรัฐมนตรี(ครม.) สังคมด้วย โดยในแต่ละกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)ต้องร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะวธ. ที่ต้องขอความร่วมมือไปยังต้นสังกัดของดารา ในการแต่งกายให้เหมาะสม ถูกกาลเทศะ และสร้างค่านิยมใหม่ๆ ให้แก่นักศึกษา เพราะแฟชั่นกับนักศึกษาเป็นของคู่กัน
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วเห็นด้วยที่ทำอย่างไรให้นักศึกษาเป็นเด็กที่เก่ง ดี แต่อยู่ในกรอบกฎระเบียบวินัย มีความสุภาพ เรียบร้อย และรู้จักกาลเทศะ ที่สำคัญต้องมีคุณธรรมจริยธรรม อย่างไรก็ตาม เท่าที่ทราบแต่ละมหาวิทยาลัยพยายามระมัดระวังดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
"ปัจจุบันนักศึกษาแต่งตัวดูดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ยกเว้นกลุ่มที่ต้องการแสดงออกที่เป็นจุดเด่น เช่น แต่งกายโฉบเฉี่ยว นุ่งสั้น ลากรองเท้าเตะเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งกลุ่มนี้มหาวิทยาลัยต้องดูแลเป็นพิเศษ ในส่วนของมหาวิทยาลัยเอกชน ที่มีนักศึกษาแต่งตัวล่อแหลมเยอะ หรือบางแห่งมีการแฝงค้าประเวณี หากยังมีกรณีดังกล่าว และมีผู้พบเห็นสามารถแจ้งมาได้ที่สำนักงาน๕ระกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) และมหาวิทยาลัยเองก็ต้องเคร่งครัดตรวจสอบเรื่องนี้เช่นกัน