
แหลมผักเบี้ย : เปลี่ยนน้ำเสียเป็นแหล่งดูนก
แหลมผักเบี้ย : เปลี่ยนน้ำเสียเป็นแหล่งดูนก : เรื่อง / ภาพ... นพพร วิจิตร์วงษ์
แหลมผักเบี้ย ชื่อนี้คุ้นเคยกันดีในหมู่นักดูนก และเป็นที่รู้จักกันดีของชาวบ้านแหลม จ.เพชรบุรี เพราะเป็นพื้นที่ในโครงการพระราชดำริ ก็คือ “โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ที่มุ่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับขยะมูลฝอย น้ำเสีย และการรักษาสภาพป่าชายเลนด้วยวิธีทางธรรมชาติ พอสิ่งแวดล้อมฟื้นตัวดีขึ้น อะไรต่อมิอะไรก็กลับคืนมา ทั้งแหล่งอนุบาลตามธรรมชาติของสัตว์น้ำ ป่าชายเลน และขาดไม่ได้คือ บรรดานกสารพัดชนิด โดยเฉพาะนกน้ำ ที่หาดูได้แทบทุกซอกหลืบ
เส้นทางสายรอง มุ่งสู่ที่ตั้งแหลมผักเบี้ย จัดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวแบบ ชิลๆ ของคนใจเย็น เพราะจะเย็นใจไปกับบรรยากาศสองข้างทาง และสภาพถนนที่ไม่ได้กว้างขวางอะไร แล้วยังมีสิ่งน่าสนใจรายทางไปตลอด... ตามมาซิ
จากถนนพระราม เลยมหาชัย ข้ามสะพานแม่น้ำท่าจีนกับแม่กลองไป จะเห็นป้ายแยกไปคลองโคน (ประมาณหลัก กม.ที่ 77) ซึ่งเป็นเส้นทางลัดที่เชื่อมต่อ ยาวไปถึงชายหาดชะอำได้ ระยะทางราว 85 กม.
เข้ามาไม่ไกลมาก จะเห็นทางแยกซ้ายไปคลองโคน สำหรับคนที่อยากจะไปพักผ่อน ทำกิจกรรมหรือจะไปนอนกระเตงชายฝั่ง แต่ถ้าตรงไปอีกจะมีป้ายบอกทางไปวัดเขายี่สารและพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเขายี่สาร
เขายี่สาร เขาเตี้ยๆ ลูกเดียว ของจังหวัดสมุทรสงคราม อยู่ในเขต อ.อัมพวา จริงๆ เขาเล่าว่าเป็นเกาะ แต่ตอนหลังเกิดดินตะกอนพอกพูน และมีการเข้ามาตั้งรกรากของชุมชนเมื่อ 800-900 ปีมาแล้ว หรือราวต้นสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดตั้งอยู่บนเขาเตี้ยๆ ประดิษฐาน “รอยพระพุทธบาท” และ “หลวงพ่อปากแดง” ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 300 ปีมาแล้ว
เลยจากวัดเขายี่สาร ยังมีจุดแวะเที่ยวหย่อนใจ ที่ปากน้ำบางตะบูน ชื่อนี้อาจจะคุ้นหูขึ้นมาหน่อย เพราะวาฬบรูด้า เผลอเข้ามากินอาหารให้ได้ชมกันทุกปี ใครจะออกทะเลไปชมก็มักจะมาขึ้นเรือกันที่นี่แหละ หรือจะอยากพักผ่อนแบบสงบๆ แถวนี้ก็มีโฮมสเตย์ ของขายข้างทางย่านนี้ขึ้นชื่อ ก็คือ “ก้ามปูใบ้” เป็นปูชนิดหนึ่งที่เขานิยมกินกล้ามเพราะเนื้อเยอะ ราคาไม่แพง
เลยจากบางตะบูนเข้าบ้านแหลม แหล่งนาเกลือ ที่เห็นได้ในรายทางไป ถ้าได้ผ่านไปช่วงขึ้นเกลือ จะเห็นเกลือเป็นกองขาวๆ เต็มนา เป็นอาหารตาที่หาดูไม่ได้ทั่วไป แต่อย่าดูเพลิน เพราะบางจุดมีไฟแดง มีแยก มีวงเวียน ยึดเส้นทางตามป้ายบอกทาง ยังไงก็ไม่หลง เพราะผ่านนาเกลือ บางขุนไทร ก็ถึงแหลมผักเบี้ย ก่อนจะถึงแหลมผักเบี้ย ก็ตื่นตาตื่นใจไปกับฝูงนกน้ำขนาดใหญ่ 2-3 ฝูง กระจายอยู่ตามนากว้าง จนอดจอดรถลงไปตามดูไม่ได้... ไม่มีอุปกรณ์ถ่ายภาพนก ไม่มีกล้องส่องนก ไม่ได้มีความรู้เรื่องนกใดๆ แต่แค่เห็นฝูงนกน้ำที่หากินเอ้อระเหยในบึงน้ำธรรมชาติก็ชื่นใจ
เลยไปอีกไม่ไกล ก็ถึงที่ตั้งโครงการศึกษาวิจัย และพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งนอกจากจะมีโครงการวิจัยต่างๆ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อยู่ด้านหน้าโครงการแล้ว ยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน และเป็นแหล่งดูนกตามธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเพชรบุรี
การเข้าชมพื้นที่ ไม่เก็บค่าผ่านประตู ไม่มีชาร์จ มีแต่โชว์จากบรรดานก นก และนกทั้งหลาย ที่แสนจะมีอิสระในการใช้ชีวิตให้เราได้เฝ้าดู หลังจากลงชื่อที่ป้อม รปภ. เป็นกิจจะลักษณะ ที่เหลือจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะขับรถเลาะไปตามบึงกว้าง มีป้ายบอกทางตามทางแยก
นักดูนกหน้าใหม่อย่างฉัน ไปครั้งแรกยังไม่รู้จะไปดูนกตรงไหนของพื้นที่ แต่แค่เลี้ยวเข้าไปเจอกับบึงน้ำกว้างๆ ก็เจอกับนกตัวใหญ่ๆ ที่ออกมาเดินโชว์ตัว เฝ้ารอโฉบปลาในบึงซะแล้ว นกตัวใหญ่ๆ ขนาดหมาไทยตัวเขื่องก็เจอได้ที่นี่ นกกินปลาสารพัดยี่ห้อ บินโชว์ เดินโชว์ตามริมบึง และหนองน้ำ
ยิ่งเข้าไปด้านใน เป็นแปลงปลูกพืชและหญ้าหลายพันธุ์ เพื่อใช้กรองน้ำเสียต่างหาก หญ้าที่ปลูกมีทั้งหญ้าอาหารสัตว์และหญ้าทั่วไป เช่น หญ้าสตาร์, กก, ธูปฤาษี และหญ้าแฝกพันธุ์อินโดนีเซีย พอถึงระยะกำหนดก็จะตัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสีย หญ้าที่ตัดก็นำไปเลี้ยงสัตว์ ส่วนพืชบางชนิดก็นำไปทำเครื่องจักสาน เรียกว่าใช้ประโยชน์ได้ทุกเม็ดทีเดียว
ไม่ไกลจากแปลงหญ้า เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม ที่เป็นระบบที่ใช้กลไกบำบัดคล้ายๆ กับระบบพืชและหญ้ากรอง แต่ต่างกันที่วิธีการ และที่บริเวณนี้ยังอาหารตาให้ฉันได้เพลิดเพลินกับการออกเดินย่ำหากินของบรรดานกทั้งหลายอีกด้วย
ถัดไปถึง “กล่องขยะ” ที่ใช้คอนกรีตทำเป็นกล่องๆ เพื่อใส่ขยะไว้ทำเป็นปุ๋ยหมัก เพราะขยะชุมชนแถวนั้นส่วนใหญ่เป็นขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ แต่เพื่อลดการสูญเสียพื้นที่ขนาดใหญ่และลดค่าใช้จ่าย จึงประยุกต์การฝังกลบมาทำเป็นกล่องคอนกรีตแทน ซึ่งนอกจากลดขยะแล้ว ยังได้ปุ๋ยชีวภาพมาแทนอีกด้วย
ลึกเข้าไปด้านใน ยังมีศาลาชมนก อยู่ริมบึงกว้าง อีกด้านเป็นแปลงป่าชายเลน ที่จัดทำเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติถึง 3 เส้นทาง เป็นสะพานไม้ที่ทอดยาวผ่านต้นโกงกางชนิดเล็ก และใหญ่, เพกา, แสม ฯลฯ ซึ่งไม้ชายเลนพวกนี้ก็จัดทำเป็นแปลงบำบัดน้ำเสียเช่นกัน
ตลอดระยะทางที่เดินที่ทอดยาวไปถึงชายทะเล ร่มครึ้มใต้เงาของต้นโกงกาง เพลินๆ ไปกับเสียงดีดก้ามของเจ้าปูก้ามดาบ เห็นปูตัวสีฟ้าๆ แปลกตาดี แล้วยังมีลีลาการเดินด้วยครีบของปลาตีน ที่ขึ้นมาอวดตัวใหญ่ๆ (ใหญ่กว่าที่อื่นจริงๆ นะ) ทำเอาหมดเวลาไปหลายชั่วโมงโดยไม่รู้ตัว จนอยากจะบอกใครต่อใครว่าควรหาโอกาสไปที่นี่ให้ได้สักครั้งในชีวิต
ก่อนจะเป็นแหล่งนกน้ำ นกบก ในทุกวันนี้ แรกเริ่มโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาแหลมผักเบี้ยฯ เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และกรมชลประทาน ร่วมกันศึกษาหาวิธีการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับขยะมูลฝอย น้ำเสีย และการรักษาสภาพป่าชายเลนด้วยวิธีทางธรรมชาติ โดยใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ บริเวณ ต.แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เนื้อที่ประมาณ 1,135 ไร่ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ ทำหน้าที่ศึกษาวิจัยหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียและขยะชุมชนที่ประหยัด สะดวก ทำได้ง่าย อาศัยวิธีการทางธรรมชาติเข้าช่วยบวกกับเทคโนโลยี กระทั่งสามารถประยุกต์ไปใช้ได้กับพื้นที่อื่นทั่วประเทศ
ฉันกลับออกมาด้วยความรู้สึกชุ่มชื่นใจ กับความใส่พระราชหฤทัยในพสกนิกรของในหลวง ทำให้แหลมผักเบี้ย ในวันนี้ ไม่เพียงแต่แก้ปัญหาให้ชุมชน แต่ยังเป็นที่อยู่อาศัยอย่างร่มเย็นของบรรดานก และสัตว์ทั้งหลายอีกด้วย
เย็นศิระ เพราะพระบริบาล !!