Lifestyle

พระนอนโบราณสมัยอยุธยา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

๖๐๐ ปี แห่งการรอคอยพลังศรัทธาบูรณะ ไตรเทพ ไกรงู เรื่อง - มาโนช ธรรมไชย ภาพ

โบราณสถานวัดพระนอน ต.คลองสวนพลู อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จากการสำรวจของสำนักศิลปากรที่ ๓ พบว่าวัดพระนอนแม้ไม่ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดาร หรือหลักฐานอื่นใด

ทั้งนี้ สำนักศิลปากรที่ ๓ ได้กำหนดอายุจากหลักฐานโบราณวัตถุที่ปรากฏ ซึ่งในที่นี้จะดูลักษณะทางศิลปะขององค์พระนอน ที่มีเค้าของวงพระพักตร์แบบพระพุทธรูปสมัยอู่ทองรุ่นที่ ๓ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ระหว่าง พ.ศ.๑๙๐๐-๒๐๐๐ อายุประมาณ ๖๐๐ ปี กล่าวได้ว่า มีการสร้างขึ้นในกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ต่อเนื่องมาหลายสมัยจนถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

พระนอนโบราณสมัยอยุธยา

นอกจากนี้ภายในโบราณสถานดังกล่าวยังพบหลักฐานทางสถาปัตยกรรม แบ่งเป็นส่วนสำคัญ ดังนี้ วิหารพระนอน เจดีย์ราย กลุ่มอาคาร และกลุ่มหลุมฝังศพ ซึ่งวัดดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากอยู่ใกล้กับวัดใหญ่ชัยมงคล อยู่ระหว่างโบราณสถานวัดชุมพล และโบราณสถานวัดประโดก

นายเอนก สีหามาตย์ รองอธิบดีกรมศิลปากร เคยให้ข้อมูลไว้ว่า วัดโคกพระนอนแห่งนี้อายุกว่า ๖๐๐ ปี มีเนื้อที่ ๒ ไร่ สร้างในสมัยอยุธยาตอนกลาง ช่วง พ.ศ.๑๙๐๐-๒๐๐๐ ต่อเนื่องหลายสมัยอยู่ในช่วงสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถ ยังไม่ชัดเจนว่าพระองค์ใดเป็นผู้สร้าง

จากการสำรวจเบื้องต้นที่เคยทำประวัติไว้ โดยภายในวัดจะมีวิหารขนาดใหญ่คลุมองค์พระนอนองค์ใหญ่ ลักษณะปูนปั้น มีความยาวประมาณ ๘ เมตร เป็นพระนอนที่มีความงดงามองค์หนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีลักษณะคล้ายกับพระนอนวัดธรรมิกราช จ.พระนครศรีอยุธยา พระนอนภายในวัดพระนอนจักรสีห์ จ.สิงห์บุรี และพระนอนวัดขุนอินทประมูล จ.อ่างทอง และวัดโคกพระนอนแห่งนี้ จัดอยู่ในกลุ่มโบราณทางทิศตะวันออก หรือ กลุ่มโบราณสถานอโยธยา ซึ่งโบราณที่สำคัญ ได้แก่ วัดใหญ่ชัยมงคล วัดสามปลื้ม และวัดอโยธยา

พระนอนโบราณสมัยอยุธยา

ส่วนความคืบหน้าในการบูรณะนั้น เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๔ กันยายน เวลา ๑๔.๐๐ น. ที่โบราณสถานวัดพระนอนได้จัดพิธีบวงสรวงลงเสาเอกสถานที่ก่อสร้างวิหารคลุมองค์พระนอน โดยมี พล.อ.นพดล ฟักอังกูร ประธานคณะที่ปรึกษากระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธี

พระเทพประสิทธิมนต์ (โกศล มหาวีโร) หรือ หลวงพ่อเณร เจ้าอาวาสวัดศรีสุดาราม เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า การบูรณะองค์พระนอนองค์ที่โบราณสถานวัดพระนอน มีความคืบหน้าไปแล้วประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีขั้นตอนใน ๓ ส่วน คือ ๑.ดำเนินการบูรณะองค์พระ พบว่า องค์พระนอนได้พังทลายลง ส่วนพระอุระ (อก) ชำรุดมาก เนื่องจากในสมัยก่อนมีการลักลอบเข้ามาขุดหาสมบัติ ทำให้องค์พระทลายลง โดยกรมศิลปากรจะรวบรวมชิ้นส่วนที่เหลืออยู่ประมาณ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ นำมาประกอบ เพื่อให้องค์พระกลับมามีสภาพสมบูรณ์

๒.การอนุรักษ์ซากอาคารต่างๆ ภายในวัดโดยเสริมความมั่งคง เช่น เจดีย์ประธาน กำแพงแก้ว วิหารพระนอน เป็นต้น และ ๓.การสร้างอาคารคลุมองค์พระนอน เพื่อป้องกันปัญหาการพังทลาย รวมทั้งยืดอายุโบราณสถานให้ยืนยาวยิ่งขึ้น ซึ่งน่าจะคงอยู่ได้อีกหลายร้อยปี

“วัดดังกล่าวถูกปล่อยร้างมานานมาก มีวัชพืชขึ้นปกคลุมเป็นจำนวนมาก เมื่อได้ไปพบเห็นแล้วเกิดความสะเทือนใจ ซึ่งที่ผ่านมาได้นำคณะศรัทธาญาติโยมสร้างพระพุทธขนาดต่างๆ มากมาย แต่ยังไม่เคยซ่อมพระพุทธรูปขนาดใหญ่สักครั้ง ตามประวัติพระนอนองค์ดังกล่าวสร้างไว้เมื่อ ๖๐๐ ปีก่อน มาวันนี้ถือว่าเป็นบุญที่มีส่วนในการซ่อมพระนอนองค์ใหญ่” หลวงพ่อเณรกล่าว

ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบูรณะพระนอนกับหลวงพ่อเณร สอบถามรายละเอียดได้ที่วัดพระนอน ต.คลองพลู อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา โทร.๐๙-๐๖๗๘-๖๕๐๐ และ ๐๙-๐๖๗๘-๖๕๐๑

 

มหาเศรษฐีใจบุญสร้างพระนอน

 

พระพุทธรูปปางปรินิพพาน เป็นชื่อเรียกของพระพุทธรูปลักษณะ บรรทม (นอน) ตะแคงเบื้องขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย (หมอน) พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาวางหงายอยู่ข้างพระเขนย พระบาทซ้ายทับซ้อนพระบาทขวา (เรียกโดยทั่วไปว่าพระนอน หรือพระไสยาสน์) เช่นเดียวกับปางโปรดอสุรินทราหู และปางทรงพระสุบินหรือเรียกโดยทั่วไปว่าพระปางไสยาสน์

ส่วนที่ไปที่มาของการกำหนดพระพุทธรูปแต่ละปางนั้น ไม่มีปรากฏสมัยที่แน่ชัด กล่าวกันว่า การสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ ให้เป็นพระพุทธรูปประจำวันเกิดแต่ละวันนั้น เป็นความเชื่อของคนสมัยก่อนที่จะหาที่พึ่งทางใจ ทั้งนี้มีคติความเชื่อสิบต่อกันมาว่า พระพุทธไสยาสน์ หรือ พระนอน เป็นพระประจำวันอังคาร แต่จริงๆ แล้วการสร้างพระพุทธปางไสยาสน์ เป็นปางที่พระพุทธเจ้าทรงปรินิพพาน เพราะท่านสำเร็จบรรลุผล สำเร็จทุกอย่าง รู้แจ้งเห็นจริง

พระนอนโบราณสมัยอยุธยา

ดร.ประจักร แสงสว่าง โหราจารย์ (ประธานสภาโหราจารย์ ฝ่ายพิธี) ได้กล่าวว่า หลักจากมีการขุดค้นพบพระนอน พบว่าบริเวณส่วนองค์พระนอนแตกเกือบทั้งหมดคงเหลือไว้เพียงพระพักตร์ครึ่งเดียว โดยสำนักศิลปากรที่ ๓ ได้สำรวจองค์พระ พบอีกว่าเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นกว้าง ๒ เมตร ยาว ๑๒ เมตร เป็นประติมากรรมนูนสูง พระเศียรหันไปทางทิศตะวันตก หันพระพักตร์มาทางทิศใต้

การสร้างพระพุทธรูป กว้าง ๒ เมตร ยาว ๑๒ เมตร ในปัจจุบันอาจจะเป็นเรื่องง่าย แต่อดีตผู้ที่จะสร้างพระพุทธรูปได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่ร่ำรวยถึงขั้นที่ต้องเป็นมหาเศรษฐี หรือตระกูลที่สูงมีบริวารมากถึงจะสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ได้ เพราะสมัยก่อนไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ การก่อสร้างนั้นกว่าจะเผาอิฐแดงได้แต่ละก้อนจึงต้องเป็นคนที่ร่ำรวยถึงจะสร้างพระพระองค์ใหญ่ได้

  “พระพุทธรูปไสยาสน์ โบราณสถานวัดพระนอน เป็นพระพุทธที่หันพระพักตร์ไปทางทิศใต้ เป็นทิศที่ให้ความเจริญรุ่งเรือง กล่าวคือ ผู้ใดสร้าง หรือบูรณะพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ที่หันพระพักตร์ไปทางทิศใต้ ถือว่าเป็นทิศที่สร้างความรุ่งเรือง เป็นทิศที่ทำการค้าขายร่ำรวย เจริญก้าวหน้า ชีวิตมั่นคง ดั่งพระพุทธรูปองค์ใหญ่ วัดพระนอน ที่ยืนยาวมากว่า ๖๐๐ ปี” ดร.ประจักร กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ