ไลฟ์สไตล์

โรคเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์

โรคเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์

14 ก.ย. 2559

ดูแลสุขภาพ : โรคเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์

               เบาหวาน .. เป็นโรคแทรกซ้อนทางอายุรกรรมที่พบบ่อยในขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ต่อต้านการทำงานของอินซูลิน ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เกิดเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ถ้าควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้อาจเป็นอันตรายต่อทั้งมารดาและทารก

               ผลของเบาหวานต่อการตั้งครรภ์
๐ ผลต่อทารก
               - แท้ง
               - ทารกพิการ พบได้ร้อยละ 5-10 ของมารดาเป็นเบาหวาน และพบมากกว่ามารดาที่ไม่เป็นเบาหวาน 2-3 เท่า
               - ทารกตัวใหญ่ ทำให้คลอดยาก เกิดการบาดเจ็บจากการคลอด
               - ทารกตายในครรภ์ (1-3 รายใน 10 ราย) สูงกว่าคนปกติ 3-8 เท่า มักเกิดเมื่ออายุครรภ์ 36 สัปดาห์ขึ้นไป
               - ทารกตายหลังคลอดมากกว่าปกติ 7 เท่า (ร้อยละ 4-10) จากปอดไม่สมบูรณ์, เลือดหนืดข้น, น้ำตาลและแคลเซียมในเลือดต่ำ
               - คลอดก่อนกำหนด เพิ่มขึ้น 2-3 เท่า และเจริญเติบโตช้าในครรภ์

๐ ผลต่อมารดา
               - ครรภ์เป็นพิษ ความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น 4 เท่า พบได้ร้อยละ 15-30 ของหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวาน
               - ติดเชื้อง่าย จากภูมิต้านทานลดลง พบได้มากถึงร้อยละ 75-80 ของหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวาน อวัยวะติดเชื้อที่พบบ่อยคือ ระบบปัสสาวะ
               - คลอดก่อนกำหนด พบร้อยละ 20 ในหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวาน
               - คลอดยาก จากทารกตัวใหญ่ โอกาสช่องคลอดจะฉีกขาดมาก มดลูกหดรัดตัวไม่ดี ทำให้ตกเลือดหลังคลอดได้ อาจต้องผ่าตัด ติดเชื้อง่าย แผลหายช้า

๐ การปฏิบัติตัวสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่มีเป็นเบาหวาน
               1.รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ แบ่งมื้ออาหาร เป็น 6 มื้อ (อาหารหลัก 3 มื้อ อาหารว่าง 3 มื้อ)
               - เน้นโปรตีนจากไข่, ถั่ว, เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เช่น ปลา, เนื้อสัตว์ไม่ติดมันไม่มีหนัง
               - ดื่มนมรสจืด, พร่องมันเนย หรือขาดมันเนย ไม่ปรุงแต่งให้มีรสหวาน
               - จำกัดอาหารพวกแป้ง น้ำตาล ของหวาน
               - รับประทานผลไม้หวานน้อย เช่น ฝรั่ง, ส้ม, แอปเปิ้ล, มะละกอ, พุทรา
               - งดผลไม้หวานจัด เช่น ทุเรียน, ขนุน, ลำไย, น้อยหน่า, ละมุด, ผลไม้กระป๋อง+เชื่อม+กวน
               - ใช้ไขมันจากพืชในการประกอบอาหาร เช่น น้ำมันถั่วเหลือง-รำข้าว-ข้าวโพด หลีกเลี่ยงไขมันจากสัตว์ และน้ำมันมะพร้าวหรือกะทิ
               2.รักษาความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ เนื่องจากน้ำตาลที่ออกมาในปัสสาวะเป็นอาหารอย่างดีของแบคทีเรียและเชื้อรา
               3.ออกกำลังกายเบาๆ ทุกวัน ถ้าไม่มีข้อห้ามเช่น เดินวันละ 20-30 นาที บริหารร่างกาย โดยเน้นร่างกายส่วนบน เนื่องจากไม่กระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก ชีพจรหลังออกกำลังกายไม่ควรเกิน 120 ครั้งต่อนาที
               4.นับลูกดิ้นอย่างสม่ำเสมอ ถ้าลูกดิ้นน้อยให้รีบมาโรงพยาบาลทันที และมาตรวจตามนัดทุกครั้ง

โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์

โทร.0-2675-5000

--------------

โรคเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์                จัดกิจกรรม - โรงพยาบาลไทยนครินทร์ ร่วมกับ นิตยสารบันทึกคุณแม่ จัดกิจกรรม “Brian Mission ปฏิบัติการสร้างอัจฉริยะด้วยตัวคุณ” โดยได้รับเกียรติจาก พญ.นัยนา ณีศะนันท์ กุมารแพทย์สาขาพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก โรงพยาบาลไทยนครินทร์ เป็นวิทยากรในหัวข้อ “6Q สร้างอัจฉริยะตัวจริง” ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาการของลูกน้อยรอบด้านครบ 360 องศา และยังมีกิจกรรม Dance With Mom จากสถาบัน Enjoy Yoga เต้นเข้าจังหวะเพลง เรียกความสนุกสนานให้ผู้ที่มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก เมื่อเร็วๆ นี้