
การบูรณาการศาสตร์และศิลป์จากภายในสู่ภายนอก
การบูรณาการศาสตร์และศิลป์จากภายในสู่ภายนอก จากภายนอกสู่ภายใน ร้อยเรียงด้วยลายเส้นอย่างมีเอกภาพ : คอลัมน์ แต่งร้านให้ได้ล้าน : โดย...ผศ.เอกพงษ์ ตรีตรง
ครั้งหนึ่งเมื่อโลกเจริญสู่จุดที่ศาสตร์ต่างๆ พัฒนาตัวเองเป็นแบบฉบับเฉพาะเรื่องนั้นๆ เป็นยุคที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางทำให้เราได้เห็นความถนัดเก่งกาจเฉพาะด้าน เกิดผู้เชี่ยวชาญศาสตร์ต่างๆ แต่เมื่อถึงระยะทางหนึ่ง การพัฒนาองค์ความรู้และศาสตร์ต่างๆ จำเป็นต้องมีการผสมศาสตร์ ผสานศิลป์ จนเกิดเป็นศาสตร์ใหม่เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา
ในภาคธุรกิจ วิชาชีพต่างๆ ก็เกิดการบูรณาการ แม้มีความถนัดด้านใดด้านหนึ่ง รอบรู้ลึกในด้านหนึ่ง ก็จะต้องรอบรู้ไปพร้อมกันอีกหลายๆ ด้านเพื่อเป็นฐานแห่งการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ
เครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับการสร้างสรรค์ที่สามารถเป็นตัวช่วยให้ศาสตร์ต่างๆ ร้อยเรียงไปในแนวทางร่วมกันได้ดี คือ การวางผังวาดภาพ ลายเส้นไปพร้อมกันในคราวเดียว โดยให้ศาสตร์ต่างๆ ปรากฏชัดเป็นภาพร่วมกัน ร่างภาพไปพร้อมกันในกระดาษแผ่นเดียว
ดังตัวอย่างภาพที่แสดงอยู่ในโครงการ @ rice โครงการบูรณาการรีสอร์ทกับศูนย์การเรียนรู้ กิจกรรมนันทนาการ และการเกษตรสาธิต โดยตั้งแต่โครงการเริ่มแรก เมื่อคิดโปรแกรมการออกแบบก็คำนึงถึง กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นโดยผนวกกับการตลาดสมัยใหม่ การศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้ผู้บริโภค ตลอดจนบ่มเพาะนวัตกรรมการออกแบบการให้บริการคิดโปรแกรมผสมศาสตร์เพื่อความสำเร็จขั้นสูงของโครงการ
ในขณะที่การออกแบบ โครงการ ได้ใช้ลายเส้น ในการออกแบบผังที่สามารถวางแผนความคิดไปพร้อมกันในกระดาษแผ่นเดียวกัน อันประกอบด้วยสถาปัตยกรรม การออกแบบภายใน ภูมิสถาปัตยกรรม วิศวกรรม การออกแบบเครื่องเรือน และศิลปประยุกต์ ตลอดจนการตลาด การบริหารจัดการ โดยร้อยเรียงไปพร้อมกับสุนทรียภาพ
การออกแบบผังในลักษณะนี้เป็นความจงใจที่จะให้โครงการมีเอกภาพ โดยทุกเส้นสายจะต้องร้อยเรียงไปในทิศทางเดียวกัน ตั้งแต่การขึ้นโครงร่าง การสร้างแกนอาคารที่ร้อยเรียงกันไปกับส่วนต่างๆ และของแต่ละอาคาร โดยระหว่างที่ร่างภาพจะต้องคำนึงถึงปัจจัยร่วมที่คิดไปพร้อมๆ กัน เช่นนำแนวทางด้านการตลาด การให้บริการแนวใหม่ไปเสริมการบริหารจัดการเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในคราวเดียวกัน การคำนึงถึงกฎหมาย ความเข้าใจด้านกายภาพของพื้นที่ ทิศทาง ตำแหน่ง ความสัมพันธ์ของแต่ละพื้นที่ และลงลึกไปถึงวัสดุศาสตร์ สู่การพัฒนาการใช้งาน การใช้ประโยชน์ในโครงการให้มากที่สุด แล้วรวบรวมไปสู่การกำหนดธีมไปพร้อมกันด้วย
กล่าวคือ การออกแบบด้วยการร่างแบบจะต้องสามารถแสดงให้เห็นถึงการร้อยเรียงศาสตร์ไปในภาพเดียวกัน เช่นการใช่รหัสเส้นที่มีน้ำหนักต่างกัน การกำหนดสีของเส้นที่อธิบายกลุ่มงานต่างๆ โดยปรากฏทับซ้อนกันในแผ่นเดียวกัน มีการจัดวาง เฟอร์นิเจอร์ โดยมีน้ำหนักเส้นเข้มกว่าแพทเทิ้ลพื้น และมีปากกาสีแดงทับบนผังสะท้อนการวางแผนงานระบบไปพร้อมกัน ไปจนถึงความต่อเนื่องที่เชื่อมสู่ภูมิสถาปัตย์ และบริบทรอบโครงการ โดยมีองศาอาคารที่อยู่ในตำแหน่งที่ต่อเนื่องในองค์ประกอบที่งดงามไปด้วยกัน
เสมือนวงโคจรในจักรวาล เสมือนต้นไม้ใบไม้ที่มีกิ่งก้านสาขาในแกนเดียวกัน มนุษย์และสัตว์ที่มีโครงสร้างกระดูกเดียวกัน ธรรมชาติที่พระเจ้าสร้างสรรค์บรรจงอันงดงามก็ล้วนแล้วแต่มีโครงสร้างและแก่นที่ทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ทั้งเล็กใหญ่ สรรพสิ่งต่างๆ ต่างมีโครงสร้างแกนทั้งนั้น การออกแบบที่ดีก็เช่นกันต้องมีแกน มีหลักยึดมีแก่นแห่งเอกภาพมีจุดเริ่มต้นมีความเกี่ยวพันกัน
การออกแบบ โครงการ @rice จ.นครนายก จึงเป็นตัวอย่างของการร้อยเรียง และการวางตำแหน่งทั้งทางการจัดการ บริบทในการบริหารเชื่อมโยงกับการออกแบบที่ตอบสนองโปรแกรม และใช้ศาสตร์ต่างๆ เรียบเรียงขัดเกลาสร้างสรรค์โดยใช้ลายเส้นเป็นเครื่องมือเรียงร้อยในภาพเดียวกัน ติดตามแนวคิดนี้ ในรายการ “อยู่สบาย” วันเสาร์นี้นะครับตั้งแต่เวลา 11.00-12.00 น. สดๆ ทางเนชั่นทีวี