
เปิดประสบการณ์หักดิบเลิกเหล้า จิตแพทย์ยันไม่ทำให้ตาย
เปิดประสบการณ์หักดิบเลิกเหล้าจนสำเร็จ จิตแพทย์ยันหักดิบเลิกเหล้าไม่ทำให้ตาย เว้นมีอาการถอนรุนแรง พบได้ 5% แนะหากหยุดดื่มต้องพบแพทย์
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ในงานเสวนา "ไขความจริง : พักตับ...หักดิบ...ลงแดง" จัดโดยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยนายดำรงค์ เภตรา อายุ 71 ปี ชาวชุมชนสวนอ้อย เขตคลองเตย ผู้ที่เคยหักดิบเลิกสุรา กล่าวว่า ดื่มเหล้ามาตั้งแต่หนุ่ม จนเมื่อแก่ตัวมีปัญหาสุขภาพ เงินไม่เหลือเก็บ มีปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัวเป็นประจำ ที่สำคัญ สำนึกผิดที่เป็นตัวอย่างไม่ดี ทำให้ลูกเกเรดื่มเหล้าติดยา เพราะตัวเองไม่ใส่ใจดูแลครอบครัว เคยพยายามเลิกดื่มสุรามาแล้วหลายครั้ง แต่เลิกไม่ได้ จึงตัดสินใจใช้วิธีหักดิบหยุดดื่มสุรา และตั้งใจเลิกดื่มตลอดชีวิตโดยใช้ช่วงเข้าพรรษาเป็นจุดเริ่มต้น
“ช่วงเลิกดื่มแรกๆ รู้สึกทรมานมาก ปวดหัว หงุดหงิด โมโหง่ายเห็นอะไรขวางหูขวางตาไปหมด นอนไม่หลับ เป็นอาการของคนลงแดง พยายามดื่มน้ำเปล่าแทนเหล้า ไม่คลุกคลีกับคนที่ชวนดื่ม หันมาดื่มน้ำสมุนไพรมากขึ้น จนผ่านมาได้ ปัจจุบันเลิกเหล้าได้ 7 ปีแล้ว มีสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้น หันมาเป็นนักรณรงค์ทำงานเพื่อสังคม” นายดำรงกล่าว
นายดำรง บอกด้วยว่า สิ่งสำคัญในการเลิกเหล้า คือ จิตใจต้องตั้งมั่น ต้องเชื่อว่าเราทำได้ และคนรอบต้องให้กำลังใจเราด้วย ทั้งนี้ จากประสบการณ์ยืนยันได้เลยว่า คนที่หักดิบเลิกดื่มเหล้าแล้วเสียชีวิตไม่ได้มาจากหยุดดื่ม แต่เพราะปัญหาสุขภาพมีโรคประจำตัวอื่นมากกว่า
พ.อ.นพ.พิชัย แสงชาญชัย จิตแพทย์ กองจิตเวชและประสาทวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า บอกว่า การหยุดดื่มเหล้าไม่ได้ทำให้เสียชีวิต แต่เกิดจากโรคแทรกซ้อนที่เป็นอยู่ คนที่ติดสุราดื่มทุกวัน หากไม่ดื่มแล้วจะมีอาการถอน ร่างกายมักจะมีปัญหาโรคแทรกซ้อนมาก อัตราการเสียชีวิตของคนกลุ่มนี้จึงสูงไม่ว่าจะหยุดดื่มหรือไม่ก็ตาม แต่หากลดละเลิกได้ อัตราการตายของคนกลุ่มนี้จะลดลง
จิตแพทย์ รพ.พระมงกฎเกล้า กล่าวอีกว่า ปัญหาคืออาการที่สมองติดสุรานั้นเมื่อหยุดดื่มจะเกิดอาการถอนสุรา ส่วนใหญ่จะเป็นอาการถอนไม่รุนแรง เกิดขึ้นในช่วง 3-5 วันแรก อาการเป็นสูงสุดในวันที่ 2 คือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น เหงื่อแตก เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ เป็นต้น แต่จะมีอยู่ประมาณ 5% ที่เกิดอาการถอนรุนแรง คือ มีอาการคลื่นไส้อาเจียนรุนแรง ชัก สมองสับสน มีอาการทางจิตแทรก เช่น หูแว่ว ประสาทหลอน เพ้อคลั่ง เป็นต้น ถือเป็นอาการฉุกเฉินที่ต้องไปพบแพทย์ทันที เพราะมีโอกาสเสียชีวิตได้ เช่น ชักรุนแรง สมองขาดออกซิเจนจนเสียชีวิต หรือสมองสับสนทำร้ายร่างกายตนเองและคนอื่น เป็นต้น
"กรณีผู้ป่วยเมาสุราแล้วเกิดอาการคลุ้มคลั่งเอาผ้ารัดคอหมอในโรงพยาบาล ก็ถือว่าเข้าข่ายอาการถอนรุนแรง มีอาการทางจิตแทรก หูแว่ว ประสาทหลอน การรักษาแพทย์จะให้ยา กลุ่มเบนโซไดอาซีแปม (benzodiazepine) เพื่อบรรเทาอาการถอนสุรา ป้องกันอาการชักและสมองสับสน เมื่ออาการคงที่ แพทย์จะลดปริมาณยาลงจนหมดไป รวมระยะเวลาในการรักษาประมาณ 7-10 วัน" พ.อ.นพ.พิชัย กล่าว
พ.อ.นพ. พิชัย กล่าวด้วยว่า การสังเกตว่าหยุดดื่มเหล้าแล้วจะมีอาการถอนรุนแรง ทางการแพทย์จะดูจากปัจจัยเสี่ยง คือ 1.ดื่มหนักดื่มนาน เทียบได้กับการดื่มเหล้าเกิน 1 แบนต่อวัน หรือเบียร์ 5 ขวดต่อวัน เป็นเวลา 5 ปีขึ้นไป 2.มีโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ โรคตับ เบาหวาน หลอดเลือดในสมอง ขาดสารอาหาร 3.เคยหยุดดื่มมาก่อนแล้วมีอาการชัก สับสน การหยุดดื่มครั้งต่อมาโอกาสถอนรุนแรงจะเกิดขึ้นได้มากและมากขึ้นเรื่อยๆ 4.ติดสารเสพติดหลายอย่าง และ 5.ผู้สูงอายุ เพราะเป็นผู้ที่ดื่มมานาน และมีโรคแทรกอยู่มาก หากหยุดดื่มก็มีความเสี่ยงมากกว่า ดังนั้น คนทั่วไปสามารถหักดิบเลิกเหล้าได้เลย ไม่เป็นอันตราย เว้นแต่ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงถอนสุรารุนแรงดังกล่าวหากจะเลิกดื่มจึงควรเข้ารับคำปรึกษาในการเลิกสุราจากแพทย์ก่อน
คนติดสุราเป็นเวลานานจะทำให้เกิดอาการสมองฝ่อด้วย เมื่อถูกกระทบกระเทือน แม้จะไม่รุนแรงเส้นเลือดในสมองก็มีโอกาสฉีกขาดง่ายกว่าคนทั่วไป และคนติดสุราเลือดมักจะค่อยๆ ออก และมีเกร็ดเลือดต่ำ ทำให้เลือดแข็งตัวช้า ทำให้เกิดอาการเลือดคั่งในสมองได้ ทั้งนี้ ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา หรือ 1413 สายด่วนเลิกเหล้าเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเพิ่มการเข้าถึงบริการเลิกเหล้า ซึ่งจากสถิติการให้บริการพบว่า 60% ที่โทรเข้ามาเป็นญาติ อีก 40% เป็นผู้ที่ดื่มสุรา ซึ่งแต่ละปีจะมีการโทร.ปรึกษามากกว่าหมื่นสาย ยิ่งช่วงเข้าพรรษาจะเพิ่มมากขึ้นเป็น 2 เท่า
"ขอฝากไปยังผู้ที่ตั้งใจงดดื่มและอยากงดต่อเนื่องหลังออกพรรษาจะส่งผลดีต่อสุขภาพกายใจแน่นอน นอกจากนี้ ภาครัฐควรมีการรณรงค์สร้างความตระหนัก ให้ความรู้เกี่ยวกับโทษพิษภัยของสุรากับประชาชนอย่างต่อเนื่อง มีการคัดกรองผู้ที่ติดสุรา เพื่อจูงใจผู้ดื่มหนักให้ปรับเปลี่ยน และนำผู้ติดสุราเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา รวมถึงพัฒนาขีดความสามารถต่อยอดการรักษาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”พ.อ.นพ.พิชัยกล่าว