
นักผจญขัดแย้ง27ประเทศศึกษาสันติวิธีเชิงพุทธ
นักผจญความขัดแย้ง27ประเทศศึกษาสันติวิธีเชิงพุทธ ที่หลักสูตรสันติศึกษา ‘มจร’ เรียนรู้หมู่บ้านสันติสุขตามโมเดล ‘บวร’ พัฒนา 4 ด้านตามหลักมรรคมีองค์ 8 ประการ
11ส.ค.2559 ที่ห้องสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำผู้ทำงานด้านความขัดแย้งและสันติภาพจาก 27 ประเทศทั่วโลกจำนวน 27 คน เข้าเรียนรู้สันติภาพเชิงพุทธ ที่หลักสูตรสันติศึกษา โดยมีพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้ช่าวยอธิการบดี มจร ฝ่ายวิชาการ ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ได้แบ่งปันกระบวนการพุทธสันติวิธี
พระมหาหรรษา กล่าวว่า บุคคลเหล่านี้ล้วนแต่เป็นบุคคลที่ลงพื้นที่ความขัดแย้งจริงๆ ทั่วโลก ต้องการเรียนรู้พุทธวิธีในการจัดการความขัดแย้งแนวทางของพระพุทธเจ้า เพื่อจะได้เกิดความรักเพื่อนมนุษย์ เข้าใจเพื่อนมนุษย์ เห็นใจเพื่อนมนุษย์ รับใช้เพื่อนมนุษย์ เพราะมนุษย์ทุกคนเป็นพี่น้องกันทั้งโลก โดยพระพุทธเจ้าเน้นการสร้างสันติภาพเริ่มจากการพัฒนาตัวเองก่อน ที่เรียกว่า สันติภาพภายใน (Inner Peace) ดังพุทธพจน์ที่ว่า "สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี (There is no greater happiness than peace) โดยเน้นสันติภาพภายในมากกว่าสันติภาพภายนอก(Outer Peace) โดยพัฒนาตนเองก่อนๆที่จะออกไปช่วยเหลือคนอื่น
"ขณะที่ความขัดแย้งก็สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประการด้วยกัน คือความขัดแย้งภายในตนเอง(Inner Conflict) กับความขัดแย้งภายนอก (Outre Conflict) ที่เกี่ยวข้องกับคนอื่น และความขัดแย้งมีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่งความขัดแย้งเชิงบวกทำให้คนหันหน้ามาคุยกัน สานเสวนากัน แก้ปัญหาร่วมกันอย่างสันติ แต่ความขัดแย้งเชิงลบทำให้เกิดความรุนแรง ฆ่ากันทำร้ายกัน นำไปสู่สงครามซึ่งความโลภเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งในมนุษย์ ไม่มีความพอ รวมไปถึงการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ไม่ยุติธรรม ทำให้เกิดความขัดแย้ง เพราะทุกคนต้องการทรัพยากร" ผอ.ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มจร กล่าวและว่า
ขณะที่พุทธสันติวิธี (Buddhist Peaceful Means) โดยการนำคำสอนของพระพุทธเจ้าลงพื้นที่จริงลงสูชุมชน เริ่มต้นจากเยาวชน เป็นกระบวนการพุทธสันติวิธีฝึกการเดินเพื่อฝึกขันติธรรม แต่ต้องเดินทางสายกลาง (มัชฌิมาวิถี : Middle Way) มิใช่แนวทางสุดโต่ง (อันตวิถี : Extreme Way) หนทางสู่สันติในทางพระพุทธศาสนา คือ การเดินทางตามหนทางสู่อริยมรรคมีองค์ 8 ประการ เริ่มจากสัมมาทิฐิ (Right Understanding) สันติจึงต้องเริ่มจากภายใน ทางตะวันตกหันมาสนใจการฝึกสมาธิภาวนาเป็นจำนวนมาก เป็นการสร้างสันติภายใน เป็นความสุขที่แท้จริง นี่คือ แนวทางการสร้างสันติภาพของพระพุทธเจ้า ทุกคนทั้งโลกสามารถนำไปปฏิบัติได้ การแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนของพระสงฆ์
พระมหาหรรษา กล่าวด้วยว่า การทำหมู่บ้านสันติสุขเป็นโมเดลการสร้างสันติสุข เริ่มจากการทำสวอท(SWOT) หาความต้องการที่แท้จริงทั้งจุดเด่น จุดด้อย โอกาส และจุดเสียง ของคนในหมู่บ้าน แนวทางการพัฒนาไปจะในทิศทางใด ร่วมกัน คือ บ้าน วัด โรงเรียน (บวร) โดยมีหลักการพัฒนาหมู่บ้านสันติสุข จำนวน 4 ด้าน คือ พัฒนากาย พัฒนาพฤติกรรม พัฒนาจิตใจ และพัฒนาปัญญา ลงไปสร้างสันติภาพให้เกิดในชุมชนของเรา คำตอบอยู่ที่หมู่บ้านของเรา ซึ่งแต่ละด้านมีการกิจกรรมรองรับในการสร้างสันติสุข ฉะนั้นสันติภาพจะเกิดก็ต่อเมื่อเราลงมือทำเท่านั้น สันติภาพไม่เกิดเมื่อเรามัวแต่พูด
"ความขัดแย้งทางศาสนาที่เกิดขึ้นเพราะเรามีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรม จึงต้องอาศัยการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทำอย่างไรจะอยู่ด้วยกันในท่ามกลางความแตกต่างทางวัฒนธรรมอย่างมีความสุข ผู้ร่วมเรียนรู้ทั้ง 27 ประเทศ ต่างสนใจในวัฒนธรรมพุทธเป็นอย่างมาก จากนั้นเดินทางไปอุโบสถกลางน้ำ วัดมหาจุฬาฯ เพื่อศึกษาพระพุทธศาสนา เพราะบางคนไม่เคยรู้จักพระสงฆ์เลย ได้รับความสนใจเป็นอย่างดียิ่งจากผู้แทน 27 ประเทศร่วมเรียนรู้และร่วมแบ่งปัน" ผอ.ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา มจร กล่าว
...................................
(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลและภาพจากเฟซบุ๊ก Pramote Od พระปราโมทย์ วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร)