
เพาะเลี้ยงสาหร่ายผมนาง
ในยุคที่กุ้งมีราคาสูง ก็มีคนหันมาขุดบ่อเลี้ยงกุ้งกันเป็นการใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบที่ดินชายทะเล ซึ่งเลี้ยงกุ้งกุลาดำเป็นหลัก ต่อมาเมื่อกุ้งราคาตกต่ำลง เกษตรกรส่วนใหญ่ก็เลิกเลี้ยง และหันไปทำอาชีพอื่น แต่ว่าบ่อกุ้งที่ขุดไปแล้ว ก็คงไม่สามารถถมที่ดินกลับคื
ทางหนึ่งซึ่งสามารถทำได้ก็คือ การนำบ่อกุ้งดังกล่าวมาเลี้ยงสาหร่ายที่ตลาดรู้จักและมีความต้องการสูง อย่างเช่นสาหร่ายผมนาง หรือสาหร่ายวุ้น ซึ่งตามปกติแล้วต้องไปหาเก็บจากธรรมชาติในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 6-10 บาท แต่ว่านับวันก็ยิ่งหายากมากขึ้นตามธรรมชาติ การหันมาใช้บ่อกุ้งร้างให้เป็นประโยชน์ โดยการเลี้ยงสาหร่ายผมนางในบ่อกุ้งดังกล่าว จึงเป็นทางหนึ่งในการสร้างอาชีพและรายได้เพิ่มเติม แทนที่จะต้องรอเก็บจากธรรมชาติอย่างเดียว ซึ่งมีปัญหาทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพไม่คงที่ และที่สำคัญคือทำให้มีการใช้พื้นที่ที่ถูกทิ้งให้เกิดประโยชน์อีกด้วย
เรื่องการเพาะเลี้ยงสาหร่ายผมนางในบ่อกุ้งร้างนี้ เป็นผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งของ ดร.ระพีพร เรืองช่วย และทีมงานจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่วิทยาเขตปัตตานี โดยได้รับการสนับสนุนจาก สกว. ซึ่งในที่สุดก็ได้ผลการวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงที่เหมาะสม จนถึงขั้นสามารถถ่ายทอดวิธีการไปยังชาวบ้านได้
วิธีการที่แนะนำก็คือการหว่านสาหร่ายผมนางลงในบ่อ โดยฉีกเป็นชิ้นให้กระจายทั่วบ่อ ในอัตราความหนาแน่นประมาณ 50-130 กรัมต่อตารางเมตร หลังจากนั้นก็เลี้ยงไว้นาน 20 สัปดาห์ โดยในแต่ละสัปดาห์ก็จะพยายามฉีกสาหร่ายให้เป็นชิ้นอยู่เป็นระยะเพื่อเร่งให้มีการแตกกิ่งก้านสาขา ซึ่งทำให้มีอัตราการเติบโตต่อวันประมาณ 10% การเพาะเลี้ยงแบบหว่านนี้สามารถเก็บเกี่ยวไปขายได้ครึ่งบ่อในสัปดาห์ที่ 8 และเก็บเกี่ยวทีละครึ่งบ่อทุก 2 สัปดาห์หลังจากนั้น
สำหรับประโยชน์ของสาหร่ายผมนางนั้นมีมากมาย อย่างแรกเลยก็เป็นไปตามชื่อของสาหร่ายชนิดนี้คือสาหร่ายวุ้น หมายความว่าใช้เป็นวัตถุดิบในการสกัดวุ้นและเยลลี่เป็นหลัก สำหรับชาวบ้านชายทะเลก็รู้จักสาหร่ายนี้เป็นอย่างดีและนำมาบริโภคสด ไม่ว่าจะเป็นยำ หรือกินแบบผักลวกจิ้มน้ำพริก แต่ที่สำคัญคือเหมาะที่จะนำมาทำเป็นอาหารเสริมเพื่อสุขภาพเพราะว่ามีไฟเบอร์และแร่ธาตุต่างๆ ในปริมาณสูง จึงเป็นอาหารที่ให้เส้นใยอาหารแต่ให้พลังงานต่ำ จึงช่วยลดน้ำหนักได้ นอกจากนี้ยังใช้เป็นส่วนผสมในการแปรรูปอาหารอื่นๆ รวมทั้งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรือจะใช้ทางการแพทย์เป็นยารักษาโรค หรือในทางการเกษตรก็ยังใช้ทำปุ๋ยได้ เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าประโยชน์ของสาหร่ายผมนางมีค่อนข้างมากและกว้างขวาง
ทีมนักวิจัยพยายามสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากสาหร่ายผมนางและสร้างให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อจะได้เป็นทางเลือกใหม่ในการบริโภคในครัวเรือน หรือใช้เพื่อประกอบอาชีพ และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนโดยใช้หลักคิดคือการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและรูปแบบที่มีความหลากหลายมากขึ้น อย่างเช่นสาหร่ายอบแห้งบดหยาบ ยำสาหร่ายแช่เย็นพร้อมบริโภค ข้าวเกรียบเสริมสาหร่ายกึ่งสำเร็จรูป รวมทั้งขนมที่ทำจากวุ้นต่างๆ
ทั้งหมดนี้คือความพยายามในการใช้ความรู้จากการวิจัย เข้าไปช่วยเหลือชุมชนให้เกิดการสร้างรายได้และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากของที่มีอยู่ในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ