
มหายันต์บารมี๓๐ทัศหน้าบันโบสถ์ มหาอุดวัดสุทธาวาส
มหายันต์บารมี๓๐ทัศหน้าบันโบสถ์ มหาอุดวัดสุทธาวาส : ชั่วโมงเซียน อ.โสภณ
หัวใจพระคาถา คือ บทย่อ ส่วนย่อ โดยนำหลักสำคัญ หลักแห่งความหมายแห่งพระคาถาบทใหญ่นั้นๆ ซึ่งถอดออกมาให้จดจำได้ง่าย หรือเพื่อนำมาบริกรรมให้ได้ใจความมากขึ้น แต่ยังคงได้ความหมายหรือใจความสำคัญแห่งพระคาถาบทเดิมอยู่
หัวใจพระคาถา ที่โบราณจารย์ใช้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันล้วนมาจากบทใหญ่ของบทส่วนมนต์ใด อยู่ส่วนในของบทนั้นๆ ซึ่งโดยส่วนมากหัวใจพระคาถาเหล่านั้นจะถูกถอดมาจากบทพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน เช่น หัวใจนวหรคุณ หัวใจพระรัตนตรัย หัวใจพาหุง เป็นต้น
สำหรับ "ตำรับวิชาบารมี ๓๐ ทัศ” นี้เป็นตำราของพระโบราณจารย์ยุคเก่าตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เป็นสรรพวิชาที่ศักดิ์สิทธิ์สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน โบราณจารย์จารึกไว้ว่า
พระเวทวิชาบารมี ๓๐ ทัศ หรือพระบารมี ๓๐ ทัศ เป็นพระบารมีที่พระโพธิสัตว์ทุกๆ พระองค์ ได้ทรงบำเพ็ญบารมีมาจนกระทั่งได้ตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะต้องประกอบไปด้วย
ทานบารมี ๓ ขั้น ศีลบารมี ๓ ขั้น เนกขัมมะบารมี ๓ ขั้น ปัญญาบารมี ๓ ขั้น วิริยะบารมี ๓ ขั้น ขันติบารมี ๓ ขั้น สัจจะบารมี ๓ ขั้น อธิษฐานบารมี ๓ ขั้น เมตตาบารมี ๓ ขั้น และอุเบกขาบารมี ๓ ขั้น รวมกันเป็นบารมี ๓๐ ทัศ
ด้วยเหตุที่พระคาถาบารมี ๓๐ ทัศอุดมไปด้วยอิทธิคุณวิเศษมากมายเหลือคณานับ มีคติความเชื่อว่า หญิงใดชายใด เด็กหรือผู้ใหญ่ ได้เข้าร่วมพิธีเกี่ยวกับบารมี “๓๐ ทัศ” โดยเฉพาะการเป่ายันต์มหาบารมี ๓๐ ทัศแล้วนับว่าเป็นมหามงคลบารมียิ่งนักสุดจะพรรณนา
นอกจากนี้โบราณจารย์กล่าวไว้ในตำราด้วยว่า วิชานี้เป็นพระคาถาที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์ผู้ทรงกอบกู้เอกราช ทรงศึกษาเล่าเรียนมาจากสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว แล้วอาราธนาก่อนออกทำการ “ยุทธหัตถี” กับมหาอุปราชา จนทำให้ทรงมีชัยชนะ ทรงปกป้องรักษาบ้านเมืองไว้ได้ สมัยโบราณตีราคาพระคาถานี้เท่ากับค่าควรเมืองเลยทีเดียว
อีกนัยหนึ่งพระโบราณาจารย์ กล่าวถึงตำราพระเวทนี้ว่าเป็นพระคาถาที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงศึกษาเล่าเรียนมาจากสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว แล้วทรงท่องอาราธนา ก่อนออกชนช้างกับมหาอุปราชา จนทำให้พระองค์ทรงมีชัยต่อพระมหาอุปราชา ทรงปกป้องรักษาบ้านเมืองไว้ได้ ซึ่งพระคาถานี้คนโบราณท่านตีราคาไว้เท่ากับเมืองเมืองหนึ่ง ซึ่งต่อมาสรรพวิชาคาอาคมเหล่านี้ได้มีการสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน
ยันต์บารมี ๓๐ ทัศ ซึ่งเป็นพระคาถาที่สืบเนื่องมาจากพระพุทธศาสนา พุทธคุณดีทุกทาง ทั้งนี้มีอยู่ ๔ วรรค คือ ๑.อิ ติ ปา ระ มิต ตา ตึง สา (คำบารมี ๓๐ ทัศ บาทแรก) ๒.อิ ติ สัพ พัญ ญู มา คะ ตา (คำบารมี ๓๐ ทัศ บาทที่ ๒) ๓.อิ ติ โพ ทิ มะ นุป ปัตโต (คาถาบารมี ๓๐ ทัศ บาทที่ ๓) ๔.อิ ติ ปิ โส จะ เต นะโม (คาถาบารมี ๓๐ ทัศ บาทที่ ๔)
ด้วยความสำคัญแห่งบารมี ๓๐ ทัศนี้เอง เป็นปฐมเหตุในคติโบราณประเพณีถือว่ายันต์บารมี ๓๐ ทัศ เป็น "สุดยอดมหายันต์” และมีอุปเท่ห์ที่ว่า "พุทธคุณครอบจักวาลใช้ดีทุกด้าน" จึงเป็นผลให้พระเกจิอาจารย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อทำผ้ายันต์มักจะใส่ยันต์บารมี ๓๐ ทัศ ไปด้วยเกือบทุกสำนัก ส่วนการใส่ลงบนเหรียญนั้น ด้วยเหตุที่ยันต์จำนวนมากและการทำเหรียญในอดีตยังไม่มีเทคนิคที่ทำให้ยันต์คมชัดเช่นปัจจุบัน จึงไม่ค่อยพบยันต์บารมี ๓๐ ทัศ
อย่างไรก็ตามพระครูปลัดสุวัฒนมงควรคุณ หรือที่รู้จักกันในนาม “หลวงพ่อรักษ์ อนาลโย” พะภาวนาจารย์วิทยาคมขลัง เจ้าอาวาสวัดสุทธาวาสวิปัสสนา ผู้สร้างพุทธมณฑล จ.พระนครศรีอยุธยา เกจิดังแห่งยุคศึกษาสรรพวิชาอาคมจากพระเกจิดังทั่วสารทิศ ได้ศึกษาและนำยันต์บารมี ๓๐ ทัศ มาลงในวัตถุมงคลทุกๆ รุ่น จนมีการขนานนามว่า "เจ้าตำรับตะกรุดมหาบารมี ๓๐ ทัศ พระเกจิดังแห่งเมืองกรุงเก่า”
สำหรับโบสถ์มหาอุตม์ เริ่มก่อสร้าง เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๗ เสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๘ ภายในมี “พระพุทธมุนี” พระประธานโบสถ์ หน้า ๙๙ นิ้ว หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ความพิเศษของโบสถ์มหาอุตม์แห่งนี้ คือ มีการนำยันต์ที่สำคัญๆ ทำเป็นลายปูนปั้นไว้ที่หน้าบันและทุกช่องหน้าต่าง ที่สำคัญคือ ในการปลุกเสกวัตถุมงคลของหลวงพ่อรักษ์ทุกรุ่นจะประกอบพิธีในโบสถ์มหาอุตม์
ทั้งนี้ หลวงพ่อรักษ์ มักจะปลุกเสกด้วยพุทธาคมที่ท่านร่ำเรียนมาอย่างเต็มพลัง และกล่าวย้ำเสมอว่า “การทำวัตถุมงคลต้องตั้งใจทำ ให้ผู้นำไปใช้ได้รับพุทธคุณครอบจักรวาล วัตถุมงคลทำไว้มอบให้ญาติโยมที่บริจาคสมทบทุนสร้างวัด ไม่ได้ทำเพื่อซื้อขาย เป็นที่ระลึกว่าใครได้ไปสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างถาวรวัตถุ ถวายไว้ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น”
โดยล่าสุดหลวงพ่อรักษ์ได้เขียน “พระยันต์มหาบารมี ๓๐ ทัศ ทรงเครื่อง” แล้วมอบประสิทธิ์แก่พระครูปลัดสุรินทร์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส องค์เจ้าพิธีผู้ดำเนินการสร้างวัตถุมงคลของวัด ให้นำมาสร้างเหรียญเสมา ๓๐ ทัศ ให้เป็นตำนานสืบไป
มหาอุด มหาอุตม์
“มหาอุด” กับมหาอุตม์ ซึ่งใช้กันผิดๆ และความหมายต่างกันโดยสิ้นเชิง ยังเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
คำว่า อุตม์ กับ อุด มีความหมายต่างกัน
อุตมะ มีความหมายว่าสูงยิ่ง เลิศ มากมาย บริบูรณ์
อุตมัตถ์ มีความหมายว่าผลอันยอดเยี่ยม
มหา มีความหมายว่ายิ่งใหญ่
อุด มีความหมายว่า จุกกันจุดช่อง จุดให้แน่น
คำว่า “อุตมะ” เป็นคำที่มาจากภาษาสันสกฤต ตรงกับคำในภาษาไทยว่า “อุดม”
มหาอุด หรือมหาอุตม์ ชื่อวิชาไสยศาสตร์ไทยโบราณ ที่เชื่อว่าสามารถป้องกันอันตรายจากปืนโดยเฉพาะ กล่าวคือทำให้อาวุธปืนที่ยิงมานั้นมีอันผิดพลาด ลูกขัดลำกล้อง กระสุนด้าน ยิงไม่ออก อย่างแรงเชื่อว่าสามารถทำให้ถึงกับกระบอกปืนแตกหรือปืนเสียไปเลยก็มี
วิชามหาอุดมีหลายลักษณะ เช่น เป็นคาถาสำหรับบริกรรมภาวนา เรียกว่าคาถามหาอุด เช่น อะนิทัสสะนะอัปปะฏิฆา หรือทำเป็นเครื่องรางพกติดตัวในรูปแบบต่างๆ เช่น ตะกรุด ผ้าประเจียด หรือพระเครื่อง
การทำตะกรุดมหาอุดบางกรณี ผู้ทำต้องดำลงไปจารอักขระใต้น้ำ และมีผู้รู้กล่าวอีกว่าวิชานี้ต้องปลุกเสกด้วยธาตุน้ำ เพราะน้ำเป็นคู่ปรับกับไฟ ผู้ชำนาญทางกสิณน้ำ หรืออาโปธาตุ เชื่อว่าจะสามารถทำวิชามหาอุดได้สำเร็จ พระเถระที่นับถือกันว่าสำเร็จวิชามหาอุดมีหลายรูป ที่รู้จักกันดีเช่น หลวงปู่ศุข เกสโร วัดปากคลองมะขามเฒ่า, หลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้, หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก เป็นต้น
๑๒ ส.ค. พิธีเป่ายันต์มหาบารมี ๓๐ ทัศ
ปัจจุบันมีลูกศิษย์จำนวนมาก พุทธศาสนิกชนต่างให้ความเคารพเลื่อมใสทั่วสารทิศ ด้วยความเคารพศรัทธาแห่งวัตถุมงคลและ ปฏิปทาคำสอนอันน่าเลื่อมใส จากวัตรปฏิบัติและความตั้งใจของ หลวงพ่อรักษ์ กล่าวคือท่านเป็นประธานจัดสร้างพุทธมณฑลประจำ จ.พระนครศรีอยุธยา และเป็นครูบาอาจารย์สอนกรรมฐาน แห่งสำนักปฏิบัติธรรมประจำ จ.พระนครศรีอยุธยา แห่งที่ ๑๓
สำหรับ “พิธีเป่ายันต์มหาบารมี ๓๐ ทัศ” เป็นงานบุญและพิธีกรรมประจำปีที่หลวงพ่อรักษ์ จัดติดต่อกันมาเป็นปีที่ ๙ โดยในปี ๒๕๕๙ กำหนดการวันที่ ๑๒ สิงหาคม เริ่มเวลา ๑๔.๐๙ น. โดยมีหลวงพ่อรักษ์ เป็นประธานจุดเทียนชัยและนั่งปรกปลุกเสกพิเศษ ผู้เข้าร่วมพิธีรับแจกเหรียญเสมา ๓๐ ทัศ
ผู้มีจิตศรัทธาร่วมพิธีและบุญได้ที่วัดสุทธาวาส โทร.๐๙-๙๗๙๖-๒๔๖๔, ๐๙-๖๘๙๖-๔๕๔๙ และ ๐๙-๖๔๕๓-๙๔๑๕ หรือเข้าชมได้ที่ www.watsuthawasvi.com และ www.luangporrak.com