ไลฟ์สไตล์

ป.ป.ส.สกัด...ยาเสพติดฝึกเด็กด้วยนิทาน..'อ่านอุ่นรัก'

ป.ป.ส.สกัด...ยาเสพติดฝึกเด็กด้วยนิทาน..'อ่านอุ่นรัก'

20 ก.ค. 2559

ป.ป.ส.สกัด...ยาเสพติดฝึกเด็กด้วยนิทาน..'อ่านอุ่นรัก'

          “ปัจจุบัน ยาบ้า หรือยาม้า เฮโรอีน ยังเป็นยาเสพติดที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดยพบผู้เสพและผู้ขายอยู่เป็นระยะๆ แต่ที่น่ากังวลในขณะนี้คือ การนำตัวยาที่ถูกกฎหมายไปดัดแปลงเป็นยาเสพติด เช่น ยาโปรโคดิล ยาแก้แพ้ แก้ไอ ที่ถูกนำไปดัดแปลง ดื่มผสม ทำให้มีอาการเมาคล้ายดื่มสุรา ซึ่งยาเหล่านี้เป็นยาควบคุม แต่ยังแอบซื้อ และขายอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้มีเยาวชนติดสารเสพติดเพิ่มขึ้น และมีอายุเฉลี่ยน้อยลง โดยเยาวชนที่เข้ารับการบำบัดรักษา และอายุน้อยที่สุด คือ 15 ปี" นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าว
          นอกจากนี้ยังพบว่าสาเหตุที่เยาวชนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดในปัจจุบันจะเป็นเรื่องของความอยากรู้ อยากลอง ตามเพื่อน เพื่อความสนุกสนานเป็นหลัก ต่างจากสมัยก่อน ที่เด็กจะติดยาเสพติดเพราะเกิดจากความทุกข์ มีปัญหาครอบครัว ความรักของวัยรุ่น เป็นต้น ปัจจุบันมีเยาวชนเข้ารับการบำบัด ทั้งโดยความสมัครใจ และบังคับบำบัด ปีละไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นคน จากจำนวนประชาชนที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งประเทศกว่า 1.5 ล้านคน ซึ่งตัวเลขนี้ไม่ถือว่าลดลง หรือเพิ่มขึ้นจากเดิมมากนัก
          ล่าสุดสำนักงาน ป.ป.ส.สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เด็กตั้งแต่ระดับปฐมวัย โดยร่วมกับสถาบันแอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) “Thailand EF Partnership” ดันทักษะ “ความสามารถของสมองในการบริหารจัดการชีวิต” หรือ (Executive Functions : EF) พัฒนาเด็กไทยเป็นพลเมืองคุณภาพของประเทศ โดยผ่านการสร้าง และเผยแพร่องค์ความรู้ทุกมิติ จัดอบรมสร้างครูแกนนำเพื่อถ่ายทอดความรู้ EF จัดอบรม EF แก้ครูปฐมวัยทั่วประเทศ จัดทำสื่อ เช่น หนังสือนิทานชุด “อ่านอุ่นรัก” ผลิตจำนวน 1.5 แสนชุด ชุดละ 5 เล่ม รวม 7.5 แสนเล่ม และส่งต่อให้แก่หน่วยงานภาคีเครือข่าย และได้แจกจ่ายหนังสือไปยังโรงเรียนอนุบาล และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศแล้ว รวมทั้งสิ้น 53,553 แห่ง ต่อมาในปี 2558-2559 ได้ผลิตชุดการเล่น “เล่นล้อมรัก” เพื่อเป็นต้นแบบส่งเสริมทักษะ EF แก่เด็กอีกชุดหนึ่ง
          นางศุภิสรา อยู่สวน โรงเรียนสุเหร่าแสนแสบ กรุงเทพมหานคร เล่าถึงผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้นิทาน ชุด "อ่านอุ่นรัก” สอนเด็กว่า นิทานอุ่นรัก มีทั้งหมด 5 เรื่อง คือ ได้แก่ 1.กอด 2.เมี้ยว เมี้ยว มา มา จะพาไปหาแม่ 3.ต้นกล้า ผู้กล้าหาญ 4.ไก่ย่างแสน...อร่อย และ 5.ลูกไม้...ขอโทษ ซึ่งมีเนื้อหาสอดแทรกทักษะด้านความสามารถของสมองในการบริหารจัดการชีวิต และการแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน มาอ่านเสริมทักษะ พัฒนาสมองให้แก่เด็กระดับประถมศึกษา พบว่านิทานชุดนี้เข้าไปช่วยเติมเต็มในส่วนที่เด็กยังขาด อาทิ เรื่องไก่ย่างแสน...อร่อย จะสอนเรื่องความมีน้ำใจ, ต้นกล้า ผู้กล้าหาญ จะสอนเด็กให้เห็นสิ่งไม่ดีของการเป็นคนเกเร, เมี้ยว เมี้ยว มา มา จะพาไปหาแม่ สอนเรื่องทักษะการคิดแก้ปัญหาต่างๆ
          “เท่าที่สังเกตหลังจากใช้นิทานประกอบการสอน พบว่าเด็กมีพฤติกรรมดีขึ้น โดยครูจะเล่านิทานเหล่านี้ให้เด็กฟังทุกวัน ส่วนตัว แรกๆ ก็กังวลว่าเด็กจะเบื่อ เพราะมีอยู่ไม่กี่เรื่อง แต่เด็กกลับไม่เบื่อ และอยากให้เล่าซ้ำ และเริ่มมีการแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงพฤติกรรมต่างๆ ที่ดี และไม่ดี เริ่มจากนิทานมาสู่พฤติกรรมของเด็กเอง ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าเด็กมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น โดยที่ครูไม่ต้องคอยบอกว่าอะไรควรทำ หรือไม่ควรทำ” ครูศุภิสรากล่าว
          ด้าน นายภานุพงษ์ พิทักษ์เขต คุณพ่อน้องปันปัน (ด.ช.ณัฐพัชร์) ชั้น ป.1 โรงเรียนอนุบาลสามเสน บอกว่า นิทานที่ ป.ป.ส.นำมาให้ครูถ่ายทอดให้เด็กฟัง ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นการสอนเรื่องใกล้ตัว อย่างเรื่องต้นกล้า ผู้กล้าหาญ จะสอดแทรกให้เด็กได้รู้ว่าไม่ควรรับของจากคนแปลกหน้า เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นการเรียนรู้ ถูกผิดจากเรื่องใกล้ตัวก่อน เมื่อเด็กรู้จักแยกแยะอะไรได้ด้วยตนเองแล้ว เขาก็จะเลือกทำแต่สิ่งที่ดีๆ ส่วนเรื่องการเชื่อมโยงไปถึงข้อเสียของยาเสพติดนั้น ยังไม่อธิบายลูกไปถึงขั้นนั้น แต่จะบอกและสอนจากเรื่องใกล้ตัวที่เขาต้องพบเจอในสังคมก่อน อาทิ เหล้า บุหรี่ ว่าเป็นสิ่งไม่ดี เป็นต้น 
          อย่างไรก็ตาม การที่ ป.ป.ส.สนับสนุนการเรียนรู้ผ่าน EF ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการปลูกฝังให้เด็กรู้จักแยกแยะ ถูกผิด มีความรับผิดชอบ ตั้งแต่เด็ก ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าผู้ปกครองจับจุดได้ แล้วสอนลูกตามวิธีการที่ถูกต้อง เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อพฤติกรรมเด็กตามมาแน่นอน ถือเป็นอีกแนวทางแก้ปัญหายาเสพติด และสร้างอนาคตที่ดีให้แก่ประเทศชาติอย่างยั่งยืน ในรูปแบบที่เรียกว่าใส่ใจ ใส่สิ่งที่ดีๆ ให้แก่เยาวชน อย่างแท้จริง!!