
อ่อนโยน อย่างมี "ศิลปะ" ณัฐปรี พิชัยรณรงค์สงคราม
07 ก.พ. 2552
"ปิ๋มชอบวาดรูป เพราะได้ผ่อนคลาย ถ้าเริ่มเครียดก็จะหยุดวาด แล้วก็ทำให้เรามีสมาธิ พวกสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่น ธรรมชาติ บางทีเราจ้องดอกไม้นานๆ ก็ทำให้เราเรียนรู้รายละเอียดของมันโดยอัตโนมัติ ว่าจริงๆ แล้วคนเราก็มองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป ศิลปะช่วยจรรโลงจิตใจ ทำให้มองอ
นั่นคือคมความคิดที่เราได้ยินจากหญิงสาวผู้ชื่นชอบกิจกรรมยามว่างอย่าง "ศิลปะ" ขณะที่เธอกำลังใช้พู่กันกวาดมือระบายสี แต่งแต้มผลงานอย่างอารมณ์ดีในสวนเบญจสิริกลางกรุง "ปิ๋ม" ณัฐปรี พิชัยรณรงค์สงคราม วัย 22 ปี บอกกับเราอย่างนั้นทุกครั้งที่มีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานที่ตัวเองโปรดปราณ
มองผิวเผินอาจคิดว่า เป็นพรสวรรค์เพียวๆ ที่ทายาทเพียงหนึ่งเดียวของ สุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม เจ้าแม่ธุจกิจเรือด่วนเจ้าพระยาคนนี้ มีติดตัวตั้งแต่เกิด แต่เท่านั้นคงไม่พอ เพราะจริงๆ แล้วสาวปิ๋มเธอลงทุนไปลงทะเบียนเรียนพิเศษวิชาศิลปะกับเพื่อนๆ รุ่นน้องที่คณะศิลปกรรม ม.ศิลปากรหลังกลับจากบินไปคว้าปริญญาตรีด้านบริหารโรงแรม จาก ม.คอแนล เมืองลุงแซมหมาดๆ
หนึ่งเทอมเต็มในรั้วมหาวิทยาลัยศิลปะ ที่เรียนรู้ และซึมซับอามรมณ์ศิลป์จนสามารถถ่ายทอดจินตนาการแล้วใช้เทคนิคสีน้ำและสีน้ำมันอย่างคล่องแคล่ว ซึ่งเจ้าตัวบอก ถนัดวาดภาพสีน้ำที่สุด เพราะให้อารมณ์ความรู้สึกอ่อนโยน บางเบา และผ่อนคลาย
"ถ้าเป็นสีน้ำมัน บางชิ้นใช้เวลา 2-3 อาทิตย์เลย เขาสอนให้มีความคิดสร้างสรรค์ แล้วผลงานของเราก็ต้องมีเรื่องราว เบื้องหลัง และความซับซ้อน ต้องบอกได้ว่าทำไมถึงวาดภาพนี้ แล้วยังสอนความคิดแบบก้าวหน้าเป็นคอร์สที่เรียนจบแล้ววาดเป็นรู้เทคนิค ก็ได้ใบรับรองมาแล้วมีเกรดให้ด้วย ได้เกรด บี ภูมิใจมาก" จิตกรสาว บอกด้วยอารมณ์เปื้อนยิ้ม
ว่าพลางหยิบพู่กันจุ่มน้ำทำความสะอาดแล้วสะบัดอย่างมืออาชีพ ก่อนจะแตะสีเขียวที่ผสมไว้แล้วแต้มลงบนใบไม้ที่ร่างแบบด้วยดินสอ นิ้วมือเรียวๆ กับลีลาการจับ และใช้พู่กันของเธอดูทะมัดทะแมงสมกับมีความรู้ด้านศิลปะมาพอสมควร และนั่นก็ชวนให้สงสัยว่าสาวคนนี้ผสมผสานศาสตร์และศิลป์ในชีวิตอย่างลงตัวได้อย่างไร เพราะอีกบทหนึ่งก็คร่ำเคร่งอยู่กับงานประจำอย่างการเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุนในธุรกิจโรงแรมที่บริษัทรับปรึกษาด้านการลงธุรกิจแห่งหนึ่ง
"ตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็มองอย่างหนึ่ง พอจบมาก็มองอย่าง แล้วพอได้ทำงานก็มองอีกอย่าง ช่วงเรียนอะไรที่เครียดก็จะเก็บมาคิด เป็นห่วง เป็นกังวลไปหมด แต่พอทำงานไประยะหนึ่งก็เรียนรู้ว่าบางอย่างที่เครียดตอนนั้นเทียบไม่ได้กับชีวิตทำงานเลย ก็ต้องเรียนรู้ที่จะปล่อยวาง เอาธรรมะมาใช้แก้ปัญหา อย่างตอนนี้นอกจากศิลปะที่ช่วยให้ใจเย็นขึ้นแล้ว ยังตักบาตรทุกอาทิตย์ รู้สึกว่าชีวิต ชิล ชิล มากขึ้น" ปิ๋ม เผยแนวคิด
ที่น่าสนใจกว่านั้น เธอบอกด้วยว่าถึงจะเป็นลูกสาวคนเดียวที่ดูเหมือนจะแบกรับความหวังของคุณแม่ไว้ในเรื่องการที่จะเข้ามาสานต่อธุรกิจทางบ้านในอนาคต แต่เรื่องนี้กลับไม่รู้สึกกดดันแม้แต่น้อย เพราะคุณแม่จะเลี้ยงลูกโดยให้อิสระทางความคิด ให้โอกาสตัดสินใจว่าจะเลือกทางเดินชีวิตแบบไหน หรือแม้แต่ความชอบด้านศิลปะของลูกก็จะสนับสนุนเต็มที่ และออกจะภาคภูมิใจด้วยซ้ำ เมื่อมีโอกาสเห็นผลงานของลูกสาวติดโชว์ข้างฝาที่บ้าน
"ที่ติดตัวตลอดก็อย่างในการทำงานต้องตรงต่อเวลา ด้วยความที่เราเป็นเด็กเวลานัดกับผู้ใหญ่ต้องไปรอก่อนไม่ใช่ให้ผู้ใหญ่รอ ต้องรู้จักกาละเทศะ ส่วนเรื่องธุรกิจท่านสอนว่าอย่าเอาเปรียบคนอื่น บางทีต้องเรียนรู้ที่จะเสียสละเล็กๆ น้อยๆ เพื่อรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับคู่ค้า ดีกว่าจบกัน เพราะเขารู้สึกว่าเสียเปรียบคนเดียว ต้องวิน วิน ทั้งคู่ ความประนีประนอมจึงสำคัญมาก" ฟังแล้ว เฉียบคมไม่เบา
ระหว่างที่เราชักชวนให้เธอพูดคุยเรื่องโน้นเรื่องนี้ สาวปิ๋มก็ยังคงลงสีบนผลงานไปด้วยอย่างไม่เสียสมาธิ พร้อมบอกว่า วาดภาพสีน้ำต้องไล่สีจากด้านหลังมาด้านหน้า และให้สีพื้นหลังอ่อนกว่าวัตถุที่ต้องการเน้น แต่ต้องระมัดระวัง เพราะถ้าพลาดแล้วแก้ไขยาก ขณะที่เทคนิคสีน้ำมันสามารถลงสีซ้ำแล้วซ้ำอีกได้ หรือทิ้งไว้หลายวันมาเติมใหม่ก็ไม่มีปัญหา
มาถึงตรงนี้เจ้าตัวเล่าแรงบันดาลใจเพิ่มเติมที่ทำให้ชื่นชอบสีน้ำอาจมาจากการหลงใหลได้ปลื้มศิลปินในดวงใจอย่าง "โมเน่" ซึ่งจำความได้ว่าตอนเล็กๆ คุณพ่อคุณแม่เคยพาไปเที่ยว "เฮ้าส์ ออฟ โมเน่" ที่ฝรั่งเศส แต่ครั้งนั้นไม่มีผลงานของศิลปินคนโปรดติดมือกลับบ้านเพราะดูราคาแล้วสู้ไม่ไหว คงได้แต่โปสการ์ดแผ่นเล็กๆ ไว้เป็นที่ระลึกเท่านั้น
คุยไปคุยมาภาพวาดสีน้ำรูปดอกไม้ในสวนบนเฟรมเล็กๆ ก็ใกล้เสร็จเต็มที เหลือเพียงการเก็บรายละเอียดในส่วนของดอกไม้สีเหลือง (ไม่รู้ว่าดอกอะไรคล้ายๆ ทานตะวัน) มีเบื้องหลังเป็นดอกไม้สีแดงๆ บางส่วนเท่านั้น มองภาพนี้แล้วคล้ายๆ กับว่าเจ้าตัวอยากบอกอะไรเป็นนัยเกี่ยวกับสองสีนี้หรือเปล่า
ไม่ว่าจะสื่อถึงความคิดแบบไหน ภาพนี้เธอตั้งชื่อว่า "ดอกไม้วันเสาร์" เพราะวาดในวันเสาร์กลางสวนอันร่มรื่น พร้อมให้คนดูตีความเอง เพราะศิลปะไม่ได้มีความหมายตายตัว ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน
"ลองหาเวลาว่างๆ ชักชวนเพื่อนๆ ไปทำกิจกรรมร่วมกัน จะได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน อาจจะไม่ต้องเป็นเรื่องศิลปะก็ได้ จะดนตรีหรือกีฬาก็ได้ กิจกรรมสร้างสรรค์ดีทั้งหมด"
ว่าแล้วก็ยกภาพสีน้ำโชว์พร้อมรอยยิ้มมุมปากที่ฟ้องว่ามีความสุขม้าก...มาก...
เรื่อง... "ชาญยุทธ ประวะขัง"
ภาพ... "นัทพล ทิพย์วาทีอมร"