Lifestyle

"หมอประทีป"จ่อฟ้องศาลปกครองถอนมติบอร์ดสปสช.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หมอประทีป"เตรียมยื่นฟ้องศาลปกครอง เพิกถอนมติบอร์ด สปสช.หลังไม่รับรองให้เป็น เลขาฯคนใหม่ ซัดไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่ก๊วนแห่ให้กำลังใจ

หลังจาก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เดินทางมาทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่สปสช. เมื่อวันที่ ที่ผ่านมา ต่อกรณีการคัดเลือกเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ และการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหางบบัตรทองที่ยังติดขัดในข้อกฎหมาย และขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันทำงานต่อไปนั้น

วันนี้ (12 ก.ค.) นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรองเลขาธิการ สปสช. ได้เปิดใจสิ่งที่ทำต่อเพื่อสานงานของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการ สปสช.คนแรก และฝากงานเจ้าหน้าที่ สปสช. ว่า สาเหตุที่ตนตัดสินสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นเลขาธิการ สปสช.คนใหม่นั้น เนื่องมาจากสถานการณ์ที่ สปสช.ถูกกระทำและระบบหลักประกันสุขภาพของประชาชนไม่มั่นคง เพื่อสานต่องานสร้างหลักประกันสุขภาพฯ และการทำงานร่วมกับ สธ.ที่กำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี เพราะเชื่อมั่นว่า นพ.ปิยะสกล มีนโยบาย มีความมุ่งมั่น มีภาวะผู้นำ เพียงพอที่จะนำพาบุคลากรสาธารณสุขทุกคน ทุกองค์กรให้ร่วมมือเดินไปข้างหน้า โดยมีผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นศูนย์กลาง แต่ตลอดช่วงการสรรหาเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. - 4 ก.ค. 2559 สังคมรับรู้ถึงความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนทิศทางระบบหลักประกันสุขภาพฯ โดยใช้โอกาสการคัดเลือกเลขาธิาร สปสช.คนใหม่ของกลุ่มคนที่ใกล้ชิดผู้มีอำนาจ และกลุ่มคึนที่แทรกซึมอยู่ในกลไกกำหนดนโยบายหลักประกันสุขภาพฯ

นพ.ประทีป กล่าวว่า จากการดำเนินการคัดเลือกเลขาธิการ สปสช.ที่สังคมขณะนี้รับรู้กันทั่วไปว่ามีลักษณะซ่อนเร้น ลุกลี้ลุกลน และขาดหิริโอตัปปะ ไม่เกรงกลัวต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบหลักประกันสุขภาพฯ และความขัดแย้งครั้งใหญ่ในระบบสาธารณสุขที่จะเกิด ความขัดแย้งระหว่างองค์กรสาธารณสุขเหมือนในอดีตที่ผ่านมา จากความไม่ชอบธรรม และขาดหลักธรรมาภิบาลในกระบวนการคัดเลือกเลขาธิการ สปสช.ครั้งนี้ อีกทั้งกรณีเรื่องบัตรเสียที่มารองรับว่าเป็นบัตรดี จึงได้ตัดสินใจดำเนินการดังนี้ 1.จะมุ่งมั่นดำเนินงานสานต่อปณิธานและงานที่ยังไม่เสร็จของ นพ.สงวน ที่สร้างระบบหลักประกันสุขภาพฯ ให้กับประชาชนต่อไป  2.จะยื่นฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนมติบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ทีผ่านมา ซึ่งเป็นการออกคำสั่งปกครองที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 31 รวมทั้งกระบวนการประชุมลงมตินับคะแนนของบอร์ด สปสช.เป็นกระบวนการที่จงใจทำผิดกฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติ และเมื่อถึงเวลาเหมาะสม จะขอพึ่งบารมีของศาลอาญาต่อไป

3.จะร่วมมือกับประชาชนและภาคีเครือข่ายที่รักความเป็นธรรม ดำเนินการปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และผลักการปฏิรูประบบสาธาณสุข รวมทั้งการปฏิรูปองค์กรวิชาชีพ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนโดยรวม และ 4.ขอให้เจ้าหน้าที่ สปสช.ทุกคนดำเนินการ 3 เรื่อง คือ แน่วแน่รักษาความฝันที่จะสร้างระบบหลักประกันสุขภาพที่ดีที่สุดให้กับประชาชน เพื่อสานต่องาน นพ.สงวน  มุ่งมั่นทำงานและบริหารกองทุนบัตรทองอย่างมืออาชีพ ไม่หวั่นไหวกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง  และให้การสนับสนุนการบริหารงานของรักษาการแทนเลขาธิการ สปสช. และคณะผู้บริหาร สปสช.อย่างเต็มกำลัง

"ผมเชื่อว่าไม่ว่าใครจะเป็นเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่พวกเราและภาคีเครือข่ายได้ช่วยกันพัฒนาภายใต้การสนับสนุนของทุกรัฐบาล จะต้องเดินหน้าต่อไป ไม่มีผู้มีอำนาจหรือกลุ่มผลประโยชน์แอบแฝงใดจะสามารถมาทำลายหลักการที่ถูกต้อง และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศได้" นพ.ประทีป กล่าวและว่า สำหรับการฟ้องศาลปกครองนั้น คาดว่ายื่นฟ้องภายใน ก.ค.นี้ ส่วนการยื่นฟ้องศาลอาญานั้นอยู่ระหว่างการหารือของทีมกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ฟ้องเพราะการรับรองบัตรเสียเป็นบัตรดีด้วย นพ.ประทีป กล่าวว่า ที่ออกมาเรียกร้องเพื่อรักษาความถูกต้องตัวระบบ และเพื่อให้เนื้อหาของตัวระบบเดินไปข้างหน้า ส่วนการรับรองบัตรที่มีปัญหาและเป็นบัตรชี้ขาดน่าจะหมิ่นเหม่ในเรื่องผิดจริยธรรม ผิดประเพณีในการดำเนินการ เพราะการลงคะแนนก็ชัดเจนว่าต้องเป็นไปตามที่กำหนดหรือที่แจ้ง ซึ่งในบัตรลงคะแนนก็เขียนไว้ชัดเจน ที่สำคัญหลังพบว่าบัตรมีปัญหาก็ยังใช้บอร์ดที่ลงคะแนนไปแล้ว ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มารับรองเจตนารมณ์บัตรนั้นอีก ซึ่งถือว่าไม่สมควร เพราะระเบียบการประชุมก็ชัดว่าประธานบอร์ด มีสิทธิลงคะแนนชี้ขาดว่าควรเป็นอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า การฟ้องศาลปกครองจะทำให้การเลือกเลขาฯ สปสช.ยืดเยื้อหรือไม่  นพ.ประทีป กล่าวว่า การฟ้องศาลเป็นเพียงขั้นตอนการรักษาสิทธิ รักษาความถูกต้อง ส่วนระหว่างการฟ้องศาลปกครองจะยุติการสรรหาเลขาธิการ สปสช.คนใหม่หรือไม่นั้น ก็อยู่ที่ศาลปกครองว่าจะมีการคุ้มครองฉุกเฉินหรือไม่

เมื่อถามว่าการออกมาเช่นนี้ทำให้มองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว  นพ.ประทีป กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องของแต่ละมุมมอง ซึ่งก็สามารถมองได้ว่าเป็นเรื่องตัวบุคคล หรือเรื่องของระบบ ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพฯ ก็ออกแบบมาให้เปิดกว้างในการรับฟังความคิดเห็น

เมื่อถามว่าถึงกรณี รมว.สาธารณสุขระบุว่าการที่คะแนนเสียงในบอร์ดออกมาใกล้เคียงกันอาจทำให้การทำงานลำบาก  นพ.ประทีป กล่าวว่า เรื่องนี้ก็มีมาแล้วในสมัยยุค นพ.สงวน รับการสรรหาเป็นเลขาฯ สปสช.สมัย 2 เพราะตอนนั้นการลงคะแนนก็เท่ากัน 12-12 แต่ประธานบอร์ดชี้ขาดให้เป็นเลขาฯ สปสช. ซึ่งก็สามารถทำงานมาได้ โดยไม่มีปัญหาในการออกสิทธิประโยชน์ต่อประชาชน และพัฒนาระบบหลักประกันฯ

ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลเรื่องม็อบชนม็อบหรือไม่  นพ.ประทีป กล่าวว่า คนที่เป็นผู้ใหญ่แล้วจะไม่ทำแบบนั้น เพราะเหมือนกับเอามวลชนมาสู้กัน เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำมากที่สุด แต่หากม็อบออกมาก็ถือเป็นสิทธิที่แต่ละกลุ่มจะทำได้ ผู้มีอำนาจอย่าแทรกแซง ปล่อยให้เป็นการแสดงออกตามกระบวนการประชาธิปไตย

ทั้งนี้ ได้มีกลุ่มเครือข่ายพลเมืองรักษ์คนดี และภาคประชาชนเดินทางมามอบดอกไม้และให้กำลังใจ นพ.ประทีป อาทิ กลุ่มเพื่อนหมอประทีป ธรกิจเจริญ โพ้นทะเล กลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน เครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน เครือข่ายพลเมืองธรรมาภิบล ชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เป็นต้น ขณะที่เครือข่ายเรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อนช่วยเพื่อน และ Thai Cancer Society ได้มีการขึ้นป้ายให้กำลังใจ นพ.ประทีป พร้อมขอร่วมทวงคืนความเป็นธรรมให้ นพ.ประทีปด้วย

นายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันที่ 14 ก.ค.นี้ เวลา 09.30 น. ทางเครือข่ายภาคประชาชน ทั้งกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายผู้ป่วย อาทิ ชมรมเพื่อนโรคไตฯ ชมรมเพื่อนมะเร็ง เครือข่ายมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อนยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมคืนให้แก่ นพ.ประทีป แต่รายละเอียดว่าจะเรียกร้องอะไรอย่างไรนั้นขอหารือกันก่อน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ