ไลฟ์สไตล์

จิตแพทย์ชี้ครอบครัวไทยผูกพันใกล้ชิดลดลง ทำญาติฆ่ากันมากขึ้น

จิตแพทย์ชี้ครอบครัวไทยผูกพันใกล้ชิดลดลง ทำญาติฆ่ากันมากขึ้น

16 มิ.ย. 2559

จิตแพทย์ชี้ครอบครัวไทยผูกพันใกล้ชิดลดลง ทำญาติฆ่ากันมากขึ้น ใช้เวลาร่วมกัน-พ่อแม่เลี้ยงลูกเองน้อยลง เกิดภาวะตึงเครียดกลายเป็นคู่ขัดแย้งไม่ยืดหยุ่น เร่งวางทางแก้

       พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้พบการทำร้ายร่ายกายและฆ่ากันของคนในครอบครัวและกลุ่มเครือญาติเพิ่มขึ้น โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดการฆ่ากันส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของความสัมพันธ์และความผูกพันในครอบครัวที่ลดลง ส่งผลให้เวลาเกิดภาวะตึงเครียดจะกลายเป็นคู่ขัดแย้งไม่ยอมยืดหยุ่นให้กัน โดยมี 2 ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิด คือ1.การใช้เวลาร่วมกันของคนในครอบครัวมีน้อยลง และ2.การที่พ่อแม่เลี้ยงดูลูกเองน้อยลง จึงทำให้ความผูกพันและใกล้ชิดกันของคนในครอบครัวน้อยลง ส่วนแนวทางการแก้ไข คือ พ่อแม่ต้องรู้จักหาวิธีและวางแผนการเลี้ยงดูลูก โดยพยายามเลี้ยงดูลูกด้วยตัวเองดีที่สุด แต่หากต้องให้ลูกไปอยู่กับตายายก็จะต้องหาวิธีสร้างความผูกพันร่วมกันเพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกขาดความอบอุ่น นอกจากนี้ ในการดูแลลูกก็ไม่ควรลืมเรื่องการสร้างระเบียบวินัยตั้งแต่เด็กเพื่อลูกลูกเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีวินัย

         รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า จากการเก็บสถิติการฆ่ากันของคนในครอบครัว ซึ่งได้ข้อมูลมาจากโรงพยาบาลต่างๆ จะพบว่ามี 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการฆ่ากัน ได้แก่ 1.มีความขัดแย้งกัน และไม่ได้รับการแก้ไข จนเกิดการใช้ความรุนแรงขึ้น  2.มีปัจจัยภายนอก เช่น สมาชิกคนใดคนหนึ่งในครอบครัวมีความผูกพันกับคนนอก เมื่อเกิดปัญหากับคนในครอบครัวขึ้น ก็จะถูกโน้มน้าวให้ก่อเหตุโดยบางครั้งก็ไม่ได้ตั้งใจทำไปเพราะอารมณ์ชั่ววูบ และ3.มีสมาชิกในครอบครัวมีอาการเจ็บป่วยทางจิตและเมื่อถูกกระตุ้นก็ทำให้ก่อความรุนแรงขึ้นกับครอบครัว โดยที่พบการก่อเหตุมากที่สุดจะมาจากปัจจัยภายนอกคือถูกคนอื่นโน้มน้าวให้ก่อเหตุ

       พญ.พรรณพิมล กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กรมสุขภาพจิตเตรียมที่จะประสานขอข้อมูลจากตำรวจ เกี่ยวกับการก่อเหตุรุนแรงต่างๆ รวมถึงคดีการฆ่ากัน โดยเฉพาะที่เป็นการก่อเหตุของคนในครอบครัวว่ามีสาเหตุมาจากอะไร เพื่อจะได้นำฐานข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ร่วมกับฐานข้อมูลของโรงพยาบาล เพื่อใช้วางเป็นแนวทางและการแก้ไขปัญหาต่อไป ว่าสาเหตุการใช้ความรุนแรงเกิดจากปัจจัยใดบ้าง เพราะบางครั้งก่อนที่จะมีการก่อเหตุที่รุนแรงก็มักจะมีการทำร้ายร่างกายเพียงเล็กน้อยก่อน ดังนั้น หากรู้สาเหตุและปัจจัย ก็จะได้นำไปสู่แนวทางการป้องกันและแก้ไขได้ อย่างทันท่วงที โดยหากมีการประสานขอฐานมูลกับทางตำรวจเรียบร้อยแล้วก็จะมอบข้อมูลดังกล่าวให้กับสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ก่อนวางแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป